WEF ถกปม“ความไม่มั่นคงอาหารโลก” ธุรกิจมุ่งฟิวเจอร์ฟู้ดคู่“เน็ต ซีโร่”
ข้อเท็จจริงที่น่าตกใจที่ว่าผู้คนเกือบ 830 ล้านคนกำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงด้านอาหาร และอีกกว่า 3 พันล้านคนไม่สามารถซื้ออาหารเพื่อสุขภาพได้ข้อเท็จจริงดังกล่าวกำลังท้าทายที่ว่า “สุขภาพของมนุษย์กำลังอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง”
ข้อกังวลต่างๆเหล่านี้ เป็นหนึ่งในหัวข้อการสัมมนาประจำปี ของสภาเศรษฐกิจโลก (World EconomicForum : WEF) โดยเวที
เสวนา Open Forum: Sustainably Served ซึ่งมีทั้งภาคธุรกิจ เกษตรกร และผู้แทนเยาวชนร่วมแสดงความเห็นและหาทางออกต่อปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารประชาคมโลกในปัจจุบัน จากปัญหาหนึ่งคือเรื่องของอาหารกำลังเชื่อมโยงไปสู่อีกปัญหาอื่นๆซึ่งเวทีเสวนาได้เล่าเรียงไว้อย่างน่าสนใจ
อาร์โนลด์ พุช ประธานองค์การเกษตรกรโลก กล่าวว่า การทำฟาร์มเกษตรกรรมเพื่อสนับสนุนการผลิตอาหารและสร้างความยั่งยืนด้านอาหารให้โลกนั้นหน้าที่หนึ่งของเกษตรกร แต่อีกด้านการพัฒนาองค์ความรู้ด้านภาคเกษตรก็เป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะพื้นฐานของปัญหาด้านการเกษตรมีปัจจัยเฉพาะตัวของท้องถิ่นที่ต่างกันไป ซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักของการสร้างโซลูชั่นเพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาใหญ่ในการทำฟาร์มอย่างมาก เริ่มจากการจัดการน้ำ การจัดหาน้ำให้มีความเพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม เพื่อแก้ปัญหาโดยตรงต่อประเด็นขาดแคลนน้ำในภาคเกษตรที่คาดว่าจะมีมากขึ้น”
ในเวทีเดียวกันนี้ ฮันเน็ก เฟเบอร์ ประธานฝ่ายโภชนาการ บริษัท ยูนิลีเวอร์ กล่าวว่า ในอนาคตจะมีคนมากถึง 1 พันล้านคนที่จะเผชิญความหิวโหย ขณะที่เป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงกว่า 30% ก็จะต้องดำเนินต่อไป สองเรื่องที่ต้องทำพร้อมกันกำลังสร้างความขัดแย้งด้านการทำงานโดยเฉพาะธุรกิจอาหารที่ต้องซัพพลายอาหารที่เพียงพอกับความต้องการขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศด้วย
“แนวทางหนึ่งคือการพัฒนาอาหารวีแกน หรือ กลุ่มผู้บริโภคที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพขณะเดียวกันการผลิตอาหารจากพืชจะทำได้ง่ายกว่าการเลี้ยงปศุสัตว์แต่ต้องคำนึงถึงว่าอาหารวีแกนที่ว่านี้ต้องมีคุณค่าทางอาหารครบตามที่ร่างกายต้องการในแต่ละช่วงวัย”
ทั้งนี้ พบว่ามีเด็กจำนวนมากประสบภาวะขาดสารอาหาร ทั้งการขาดธาตุเหล็กและไอโอดีน ทำให้เด็กๆไม่เติบโตได้ตามเกณฑ์ จึงมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยให้การบริโภคอาหารง่าย ได้คุณค่า และเน้นไปที่ความสดใหม่ เช่น คนอร์ ที่ใช้ทำน้ำซุปซึ่งจะมีการเติมคุณค่าทางอาหารเพื่อนำไปต่อยอดเป็นเมนูอาหารท้องถิ่นที่มีคุณค่า
ส่วนประเด็นการเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ได้คำนึงถึงการซัพพลายอาหารโดยไม่สร้างคาร์บอนที่เกิดจากการขนส่ง เช่น ผลไม้จากอเมริกาใต้จะมีการปล่อยคาร์บอนมากกว่าผลไม้ที่ผลิตในยุโรป ทำให้การเลือกแหล่งซัพพลายสินค้าต้องคำนึงถึงระยะทางและวิธีการขนส่งด้วย
ด้านการบรรจุภัณฑ์ ได้คำนึงถึงการไม่สร้างภาระให้กับสิ่งแวดล้อมโลก โดยตั้งเป้าว่า ปี 2568 สำหรับบรรจุภัณฑ์ 100% ของยูนิลีเวอร์
จะต้องรีไซเคิลได้ และ 25% ของบรรจุภัณฑ์ต้องมาจากพลาสติกรีไซเคิล ส่วนอีก 50% ต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
“เราต้องทำงานร่วมกับภาครัฐและประชาชน ผู้บริโภค เพื่อให้เป้าหมายประสบความสำเร็จทั้งด้านการเสริฟอาหารที่เพียงพอและมีคุณค่าให้ประชากรโลก ขณะเดียวกันต้องดูแลไม่ให้กระทบต่อสภาพอากาศโลกด้วย”
นอกจากนี้ จะเร่งดำเนินการด้านการจัดการกับขยะจากอาหารก็มีความจำเป็นโดยต้องทำให้ขยะจากอาหารเกิดขึ้นน้อยที่สุด เบื้องต้นที่ดำเนินการคือการรณรงค์ไม่เหลือทิ้งอาหาร ต้องทำให้เหลือขยะจากอาหารให้น้อยที่สุด การออกแคมเปญต่างๆ ผู้บริโภคจะลดขยะลงได้ 30%
วาวิระ นจิรุ ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหารอาหารเพื่อการศึกษา กล่าวว่า ในอิหร่าน เด็ก 1 ใน 4 คนแคระแกรนเพราะภาวขาดโภชนาการจึงเริ่มต้นโดยการทำอาหารแล้วแจกจ่ายให้กับโรงเรียน พร้อมการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยจัดการระบบโลจิสติกส์ให้แจกจ่ายอาหารได้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพคือคุณค่าทางอาหารยังคงอยู่
“เรายังนำเทคโนโลยีมาช่วยผลิตอาหารในระดับท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีงานทำ ลดต้นทุนการผลิตซึ่งจะช่วยลดราคาอาหารได้ด้วย ทำให้เกิดการสร้างรายได้และลดสาเหตุการเกิดเงินเฟ้อด้วย"
ประชากรโลกที่กำลังเผชิญความไม่มั่นคงด้านอาหาร กำลังเป็นเหมือนระเบิดเวลาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่หากไม่แก้ปัญหาเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนก็เป็นแค่ความตั้งใจที่ไม่มีใครสนใจและไม่ประสบความสำเร็จ