Passive Income ในบริบท การลงทุนด้านพลังงานชุมชน
Passive Income เกิดจากการที่เราลงทุนลงแรงไปในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นจะเกิดดอกผลให้ได้เก็บกินไปตลอดโดยไม่ต้องใช้เวลาหรือลงแรงอีก ซึ่งดอกผลที่ได้มานั้น จะมีได้หลายรูปแบบ เช่น เงินปันผล กำไร หรือค่าเช่า ดังนั้นการสร้าง Passive Income
เป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลาพอสมควรในการเพิ่มพูนรายได้ [ข้อมูล :ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)]
Passive Income ในความหมายของความยั่งยืน ว่าด้วยการลงทุนด้านพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด พบว่า ไม่เพียงการดูแลสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นผลทางตรงเท่านั้น แต่อีกด้านที่ได้รับคือรายได้ หรือ การลดค่าใช้จ่ายในอนาคตที่ตามมา
กระทรวงพลังงานได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มน้ำดื่มบ้านศรีโพธาราม ต.ยางเนิ้ง อ.สารภี ซึ่งใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในการผลิตน้ำดื่มตามโครงการเพิ่มสมรรถนะด้านการบริหารและจัดการพลังงานครบวงจรในชุมชนระดับตำบล และเครือข่ายพลังงานชุมชน ปี 2564 และโครงการระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบมูลฝอยเพื่อขยายการใช้พลังงานทดแทนในภาคครัวเรือน ต.บงตัน อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่
โดยกระทรวงพลังงาน ได้เข้ามีส่วนสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงาน ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) แบบ On Grid ที่เชื่อมต่อระบบสายส่งจากการไฟฟ้า 5 กิโลวัตต์ ให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มน้ำดื่มบ้านศรีโพธาราม ต.ยางเนิ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ภายใต้โครงการเพิ่มสมรรถนะด้านการบริหารและจัดการพลังงานครบวงจรในชุมชนระดับตำบล และเครือข่ายพลังงานชุมชน ปี 2564 ซึ่งสำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่เพื่อช่วยประเมินศักยภาพ ข้อมูลเชิงเทคนิค และวิชาการ สำหรับเทคโนโลยีพลังงานที่จะส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนฯ
ผลลัพธ์จากการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานช่วยลดรายจ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 90% มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10,000 บาท/เดือน จากการผลิตน้ำขายได้มากขึ้น และมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเพราะเชื่อมั่นในเทคโนโลยีพลังงานที่นำมาช่วยลดรายจ่าย โดยโครงการนี้นอกจากจะช่วยประหยัดค่าพลังงานแล้วยังเป็นแนวทางช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง พึ่งตนเอง ลดผลกระทบจากราคาพลังงานหรือค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงช่วยลดการพึ่งการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าในประเทศได้อีกด้วย
สำหรับโครงการระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบมูลฝอย เพื่อขยายการใช้พลังงานทดแทนในภาคครัวเรือน ต.บงตัน อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ เป็นอีกโครงการที่กระทรวงพลังงานสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานระบบก๊าซชีวภาพแบบเครือข่าย ที่มีระยะทางรวมแล้วไม่น้อยกว่า 27 กิโลเมตร ให้กับกลุ่มผู้ใช้ก๊าซชีวภาพ ต.บงตัน อ.ดอยเต่า จำนวน 300 ครัวเรือน
โดยก๊าซจากหลุมฝังกลบขยะมีประมาณ 70,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ใช้ผลิตไฟฟ้า 30,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน และส่งไปให้ชุมชนบ้านป่าขาม และแม่ยุย เขตเทศบาลตำบลบ้านตาล อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ จำนวน 200 ครัวเรือน (เดิม) ยังเหลือก๊าซที่ต้องเผาทิ้งอีกเป็นจำนวนมาก ประมาณ 39,500 ลูกบาศก์เมตร/วัน การส่งให้ชุมชนใช้ประโยชน์ในโครงการนี้ 500-600 ลูกบาศก์เมตร/วัน จึงเกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งหลุมฝังกลบ และครัวเรือน โดยจ่ายก๊าซชีวภาพให้ 300 ครัวเรือน ตลอด 24 ชั่วโมง ปริมาณกำหนดไว้ไม่เกิน 1,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน
โครงการดังกล่าวสามารถทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG)ในครัวเรือนได้ ประมาณ 0.25 กิโลกรัม/ครัวเรือน/วัน เป็นระยะเวลา 365 วัน/ปี หรือประมาณ 91.25 กิโลกรัม/ปี/ครัวเรือน มีครัวเรือนเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 300 ครัวเรือน ช่วยลดการใช้ก๊าซหุงต้มได้ไม่น้อยกว่า 27,375 กิโลกรัม/ปี หรือคิดเป็นมูลค่า 574,875 บาท/ปี (ที่ราคาLPG21 บาท/กิโลกรัม) เทียบเท่า 31.95 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ/ปี
จากตัวอย่างชุมชนที่ลงทุนด้านพลังงานเพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ หรือ สิ่งเหลือทิ้ง เหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์และลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ขณะเดียวกันการบริหารจัดการที่ดีได้สร้างโอกาสด้านรายได้ ซึ่งเป็นอีกช่องทางการสร้าง Passive Incomeในบริบทการลงทุนด้านพลังงานในระดับชุมชน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์