“กติกาการค้า”แก้ขยะพลาสติก แต่ “พลาสติกชีวภาพ” ยังไม่ใช่ทางออก

“กติกาการค้า”แก้ขยะพลาสติก แต่ “พลาสติกชีวภาพ” ยังไม่ใช่ทางออก

พลาสติกเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทุกคนใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสร้างความสะดวกสบายเป็นอย่างมาก แต่อีกด้านหนึ่งพลาสติกเหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายได้เอง และยังส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ข้อมูลจาก Greenery ระบุว่า พลาสติกย่อยสลายได้ในธรรมชาติ นั้นเป็นคุณสมบัติหนึ่งของพลาสติก และสิ่งของทุกชนิดอยู่แล้ว แต่การย่อยสลายของพลาสติกนั้นไม่สามารถย่อยได้ด้วยจุลินทรีย์เหมือนซากพืชซากสัตว์ ปัญหาคือ พลาสติกใช้เวลาย่อยนานหลายร้อยถึงหลายพันปี และการสลายนั้นกลายเป็นไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในน้ำ ในดิน และวนกลับเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ อีกทั้งระหว่างที่พลาสติกยังไม่ย่อยสลายนั้นสร้างปัญหาขยะมากมาย และเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล และสัตว์ป่า ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป

ความพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable Plastic) คือพลาสติกผสมระหว่างพลาสติกกับวัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เช่น อ้อย แป้งมันสำปะหลัง ฟางข้าวโพด ทำให้พลาสติกมีโครงสร้างเอื้อต่อการทำงานของเอนไซม์ในจุลินทรีย์ในธรรมชาติ จึงสามารถย่อยสลายเป็นน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และชีวมวลได้ โดยส่วนใหญ่จะย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์ภายใน 6 เดือน หรือ 180 วัน ในสภาวะที่เหมาะสมเท่านั้น อย่างการจัดการด้วยจุลินทรีย์แบบเฉพาะ อุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณออกซิเจนที่เหมาะสมเท่านั้น 

"หากพลาสติกชนิดนี้ถูกทิ้งที่หลุมฝังกลบก็สามารถย่อยสลายได้ แต่การปล่อยให้ย่อยสลายในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้รับการจัดการเฉพาะ การแตกตัวนี้จะปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นอันตรายต่อชั้นบรรยากาศโลก ไม่ต่างจากขยะประเภทอื่นๆ ที่หลุมฝังกลบ"

ทั้งนี้ ประเทศไทย เป็นประเทศผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) รายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ต่อจากสหรัฐเนื่องจากมีวัตถุดิบ อาทิ อ้อย และมันสำปะหลัง ภายในประเทศจำนวนมากเพื่อการผลิต และด้วยศักยภาพกำลังการผลิตของประเทศอยู่ที่ 95,000 ตันต่อปี และมีแผนที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตอีก 75,000 ตันต่อปี โดยกว่า 90% ของผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเป็นไปเพื่อการส่งออก ส่วนที่เหลือจำหน่ายภายในประเทศ

ภราดร จุลชาต ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า พลาสติกที่ย่อยสลายได้ ยังไม่สามารถแทนพลาสติกที่ใช้งานในปัจจุบันในประเทศไทย ได้ด้วยข้อจำกัดในเรื่องต่างๆ เช่น อายุการใช้งานที่สั้นกว่าพลาสติก ซึ่งยังไม่สามารถทนความร้อนที่สูงกว่าพลาสติกทั่วไป และไม่สามารถห่อหุ้มบรรจุภัณฑ์ตามระยะเวลาที่ต้องการได้ และการผลิตพลาสติกที่ย่อยสลายได้มีต้นทุนที่สูงกว่าการผลิตพลาสติกธรรมดา 2-3 เท่า 

"ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ดีในปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่สามารถหันมาใช้ได้ด้วยเรื่องของต้นทุนที่สูง แต่ภาครัฐได้พยายามที่จะส่งเสริมการใช้พลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ในบรรจุภัณฑ์ประเภทภาชนะใส่อาหาร เพราะภาชนะที่ปนเปื้อนอาหารยากต่อการรีไซเคิลจึงเหมาะต่อการใช้ เวลาใช้เสร็จสามารถนำไปฝังในการรีไซเคิลเพื่อนำเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนอีกด้วย"

ในการหารือเพื่อเตรียมประเด็นการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) หรือ MC ครั้งที่ 13 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในปี 2567 นั้นได้ยกประเด็น “ขยะพลาสติกกับการค้า” มาถกเถียงกันในเบื้องต้นและมีความเป็นไปได้ที่จะนำประเด็นปัญหาพลาสติกเข้าสู่ที่ประชุม MC 13 ด้วย 

โดยสาระสำคัญที่ประชุมมองว่า ปัญหาขยะพลาสติกเป็นเรื่องเร่งด่วน และการค้าสามารถเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ มีการตั้งคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลสมาชิกสหประชาชาติ เพื่อร่วมกันบรรลุข้อตกลงทางกฎหมายให้ได้ในปี 2567 “กติกาการค้า”แก้ขยะพลาสติก แต่ “พลาสติกชีวภาพ” ยังไม่ใช่ทางออก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

"ขยะพลาสติกมากกว่า 8 ล้านเมตริกตันไหลลงสู่มหาสมุทรทุกปีส่งผลเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลถึง 90% และคุกคามสุขภาพโดยรวมของระบบนิเวศของโลก เนื่องจากการขาดกฎระเบียบระดับโลกเกี่ยวกับมลภาวะจากพลาสติกได้นำไปสู่มาตรฐานที่แตกต่างกันในสินค้าหลากหลายประเภท การขาดแนวทางการป้องกันการติดตามการรีไซเคิลและการนำวัสดุพลาสติกกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ"

ข้อมูลจาก Greenery ยังระบุอีกว่า ตลาดพลาสติกแบบย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegrable) นั้นกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในยุโรป สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น จากรายงาน ปี 2562 มูลค่าการตลาดของพลาสติกชนิดนี้อยู่ที่ 1.9 พันล้านดอลลาร์  และคาดการณ์ว่า จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2570 การเติบโตนี้แง่หนึ่งนั้นเป็นข่าวดีที่ปัญหาขยะพลาสติกได้รับการแก้ปัญหา แต่อีกแง่หนึ่งนั้น สะท้อนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เพียงเปลี่ยนวัสดุแต่ไม่ได้ใช้น้อยลง หรืออาจใช้มากขึ้นกว่าเดิม

แม้พลาสติกชีวภาพจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการแก้ปัญหาขยะพลาสติก แต่ในความเป็นจริงปัญหาขยะพลาสติกต้องแก้ไขตั้งแต่ต้นทางนั่นคือ ผู้บริโภคที่ต้องตระหนักถึงผลที่จะตามมาทุกครั้งที่ตัดสินใจใช้พลาสติกในแต่ละกิจกรรม ขณะเดียวกันภาคการค้าก็ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผลพวงจากกระบวนการทางการค้าไม่ว่าจะเป็นการผลิต กระบวนการขนส่ง และกระบวนการจำหน่ายที่ต้องใส่ความตระหนักรู้ไว้ และปรับตัวก่อนที่ปัญหาจะสุกงอมจากต้องพึ่งพากฎหมาย และกฎระเบียบทางการค้าต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของอุปสรรคการค้าอีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในวงจรธุรกิจ

 

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์