CCS เทคโนโลยีกู้โลก ใช้ประโยชน์จากคาร์บอน

CCS เทคโนโลยีกู้โลก ใช้ประโยชน์จากคาร์บอน

เทคโนโลยี CCS (Carbon Capture and Storage) คือ เทคโนโลยีดักจับ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากโรงไฟฟ้าประเภทถ่านหิน กระบวนการกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยจะถูกแยกออกจากก๊าซชนิดอื่น ผ่านกระบวนการทางเคมีด้วยสารละลายเอมีน (Amine)

ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้ทั่วไปในอุตสาหกรรมโรงกลั่น และการผลิตก๊าซธรรมชาติ จากนั้น จะถูกกักเก็บในรูปของ CO2 ที่มีความบริสุทธิ์สูง (มากกว่า 99%) และฉีดอัดก๊าซฯ ลงสู่ใต้ดินที่ความลึกหลายกิโลเมตร ซึ่งจะถูกเก็บไว้ไม่รั่วไหลออกมาเป็นเวลาหลายล้านปี

การใช้เทคโนโลยี CCS มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้มีการปล่อย CO2 ในปริมาณมากเข้าสู่ชั้นบรรยากาศคือหนึ่งในมาตรการที่จะลดการปล่อยก๊าซจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

นอกจากการกักเก็บคาร์บอนไว้แล้ว  เทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าคือ การนำคาร์บอนมาใช้ประโยชน์ โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้น ประเทศต่างๆ ทั่วโลกตระหนัก และให้ความสำคัญในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานด้านพลังงานของประเทศมีความมุ่งมั่นพัฒนาการผลิต และส่งไฟฟ้าด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมสนับสนุนกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงได้ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยและพัฒนานวัตกรรมภายใต้โครงการนี้ และใช้ประโยชน์จากคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization:CCU) ที่มีเป้าหมายสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้า ผลที่ได้จากงานวิจัยครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ สู่อุปกรณ์ต้นแบบสำหรับทดลองกับโรงไฟฟ้า กฟผ. เพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ลดผลกระทบจากวิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน

นำไปสู่การทำ"สัญญารับทุนวิจัยพัฒนา และนวัตกรรมเรื่อง “การศึกษาการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเมทานอลด้วยปฏิกิริยาไฮโดรจีเนชันโดยตรงของคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับการลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศจากอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า”(Study of Direct Hydrogenation of CO2to Methanol for decarbonization from flue gas of power plant) ระหว่าง กฟผ.  และ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Unisearch)

“จุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาต่อยอดสู่ระดับที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์จากก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น เพื่อมุ่งสู่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ก่อให้เกิดประโยชน์ และผลดีต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศ และโลกต่อไป”

สำหรับ กฟผ. กำหนดนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี พ.ศ.2593 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย ภายในปี 2608 ภายใต้กลยุทธ์ “Triple S” ประกอบด้วย1)S-Sources Transformation นำเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเพิ่มสัดส่วนพลังงานทางเลือกที่สะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า

2)S-Sink Co-creation เดินหน้าโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage:CCUS) เพื่อดูดซับ และกักเก็บคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม และ3)S-Support Measures Mechanism ส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสนับสนุนโครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ที่ช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์