‘ก่อสร้าง’เร่งลบภาพผู้ร้าย ปรับตัวสู่ความยั่งยืน
อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ จากรายงานการวิจัยระบุว่าอยู่ในกระบวนการก่อสร้างถึง 30% ส่งผลให้มีความพยายามในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้ามาแก้ปัญหาให้อุตสาหกรรมก่อสร้างก้าวสู่ความยั่งยืน
เริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบการก่อสร้างอาคารคาร์บอนต่ำที่ช่วยประหยัดพลังงาน การพัฒนาวัสดุ อุปกรณ์ เทคโนโลยี นวัตกรรมในกระบวนก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ล่าสุดเกิดการรวมกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง หรือ Circular Economy In Construction Industry (CECI) เพื่อลงนามความร่วมมือขับเคลื่อนอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม
ประกอบไปด้วย 5 ภาคส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ได้แก่ สถาปนิกและที่ปรึกษาโครงการ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของโครงการ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ผลิตจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และผู้ให้บริการจัดการของเหลือจากการก่อสร้าง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการก่อสร้าง ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)
กิตติพงษ์ ศิริลักษณ์ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการ สายงานก่อสร้างอาคารสูง บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หนึ่งในพันธมิตร ของกลุ่ม CECI กล่าวว่า การขับเคลื่อนของกลุ่ม CECI จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ อย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ในส่วนของศุภาลัยมีเป้าหมายสร้างสมดุลของการพัฒนาธุรกิจ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านนโยบายที่มีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการจัดการสภาพภูมิอากาศ การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ทรัพยากร โดยมุ่งเน้นรูปแบบ Waste Management ในกระบวนการก่อสร้างเพื่อลดความสูญเสียของวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งสามารถจัดการกับเศษวัสดุก่อสร้างให้เกิดมูลค่า และประโยชน์สูงสุด ด้วยความมุ่งหวังให้ภารกิจนี้เป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก
ขณะที่ พฤกษา ได้ จัดตั้ง “บริษัท อินโน พรีคาสท์ จำกัด” เพื่อประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายพรีคาสท์ มีโรงงานพรีคาสท์สีเขียว แห่งแรกของไทย ที่ใช้แนวคิด “ขยะเหลือศูนย์” และนำเข้าเทคโนโลยีสีเขียว “คาร์บอนเคียว” เข้ามาใช้เป็นรายแรกในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อผลิตแผ่นพรีคาสท์คาร์บอนต่ำ เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าที่สนใจเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้โครงการมีจุดขายให้กับลูกค้าผู้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยที่ก่อสร้างด้วย Low Carbon Precast
ปุยฝ้าย คุณาวัฒน์ หนึ่งในประธานจัดงานสถาปนิก 66 ตัวแทนจาก สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่าเทรนด์การออกการก่อสร้างหรือสร้างเมืองต่อจากนี้ไปจะให้ความสำคัญกับความยั่นยืน ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมก่อสร้างตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับปรุงกระบวนการก่อสร้างที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบก่อสร้างอาคารคาร์บอนต่ำที่ช่วยประหยัดพลังงาน เพื่อร่วมกันสร้างเมือง สร้างสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น การพัฒนาต่อไปต้องดีต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลมากขึ้น
สะท้อนผ่านกระบวนการออกแบบ การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับอาคารเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นแนวคิดการออกแบบที่ยั่งยืนและยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ การผลิตวัสดุก่อสร้าง และการออกแบบสถาปัตยกรรม จะไม่ใช่การมุ่งนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาผลิตใหม่ทุกครั้งที่มีการใช้หมดเหมือนเช่นในอดีต
สอดคล้องกับ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC by MQDC) ได้มีการประยุกต์งานวิจัยที่เกี่ยวกับ Circular Economy มาปรับใช้จริงในโครงการอสังหาริมทรัพย์ ยกตัวอย่างการรีไซเคิลหัวเสาเข็ม แล้วนำมาเป็นส่วนผสมในพื้นคอนกรีต โดยเป็นการนำเศษขยะหัวเสาเข็มจากการก่อสร้างมาบดและคัดแยกเศษโลหะออก เพื่อนำเศษคอนกรีตมาใช้เป็นส่วนผสมในพื้นคอนกรีต ซึ่งเป็นการลดปริมาณขยะหัวเสาเข็ม หรือการนำขยะพลาสติกเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับถนนยางมะตอย โดยนำขยะพลาสติกมาบดและผสมลงในยางมะตอย เป็นการลดปริมาณขยะพลาสติก และเพิ่มมูลค่าของขยะผ่านกระบวนการ Upcycling
“แม้การนำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาใช้ในวงการก่อสร้างอาจจะยังไม่กว้างขวางมาก เนื่องจากนวัตกรรมบางอย่างมีต้นทุนสูง แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำทุกธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับ Sustainable Business แต่จุดเริ่มต้นที่ดีในการที่จะยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างของประเทศไทยให้ไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างสมบูรณ์ในที่สุด”
จึงไม่น่าแปลกใจที่โครงการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จะให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอนในการพัฒนาโครงการที่มีคุณภาพและส่งผลต่อเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น อาทิ โครงการวัน แบงค็อก ที่มุ่งสู่การเป็นต้นแบบของการกำหนดมาตรฐานใหม่ในด้านการออกแบบคุณภาพความยั่งยืนในไทย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์
โดยร่วมกับเอสซีจี ในการบริหารการก่อสร้างโครงการแบบยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การนำเศษคอนกรีตจากการตัดเสาหัวเข็มที่เหลือใช้มารีไซเคิลเพื่อผลิตผนังหล่อสำเร็จรูป การจัดการขยะที่เกิดจากการก่อสร้างโครงการแบบองค์รวม การนำอิฐมวลเบาที่เหลือใช้จากการก่อสร้างมารีไซเคิลและผลิตเป็นแผ่นผนังกันเสียงคิวคอน เพื่อใช้ในบริเวณผนังอุโมงค์ทางลอดเข้าโครงการฯ การจัดการเศษอาหารด้วยเครื่องย่อยเศษอาหารประสิทธิภาพสูงในโครงการเปลี่ยนเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ย
นอกจากนั้นยังมีความพยายามในการรณรงค์ใช้ปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดอรลิก)พร้อมวางโรดแมปดำเนินงานตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่ เหมืองปูนซีเมนต์ตามแนวทางเหมืองแร่สีเขียวเพื่อทดแทนปูนชนิดเดิม การใช้ประโยชน์จากเตาเผาปูนซีเมนต์มาจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอย่างถูกต้องตามหลัก Circular Economy ฯลฯ ทั้งหมดเพื่อเป็นแนวทางนำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยสู่ Thailand Cement & Concrete Net Zero 2050 ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อช่วยกันชะลอวิกฤติการณ์ภาวะโลกรวน ยืดอายุของโลกใบนี้ไว้ให้ได้นานที่สุด