คต. อัปเกรดกฎระเบียบรองรับการค้ายุคใหม่ เพื่อความยั่งยืนในอนาคต

คต.  อัปเกรดกฎระเบียบรองรับการค้ายุคใหม่ เพื่อความยั่งยืนในอนาคต

กรมการค้าต่างประเทศ ได้มีการทบทวน และปรับปรุงกฎ ระเบียบทางการค้า เพื่อให้มีความทันสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้าในปัจจุบัน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และขับเคลื่อนการค้าไทยสู่ความเป็นเลิศในเวทีโลก

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าต่างประเทศของไทย โดยมีพันธกิจหลักในการส่งเสริม และกำกับดูแลมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ จัดระเบียบการบริหารส่งออก-นำเข้าสินค้า ปกป้องและรักษาผลประโยชน์ทางการค้า และอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่ผู้ประกอบการ โดยที่ผ่านมากรมฯ ได้พัฒนาบทบาทภารกิจมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้มีการทบทวน แก้ไข ปรับปรุง กฎ ระเบียบ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดขั้นตอนการดำเนินการ และการอนุญาตที่ไม่จำเป็น ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจของประชาชน และรองรับการยกระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทย ดังนี้

ปรับปรุง และยกเลิกกฎ ระเบียบที่ไม่จำเป็นของสินค้าที่กรมฯ กำกับดูแล รวม 18 รายการสินค้า โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอก และการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ให้อำนาจในการกำหนดมาตรการควบคุมการนำเข้า ส่งออก และนำผ่านสินค้า ซึ่งการปรับปรุง และยกเลิกกฎ ระเบียบที่ไม่จำเป็นนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้า ข้อตกลง และพันธกรณีระหว่างประเทศในปัจจุบัน ลดความซ้ำซ้อน และเพื่ออำนวยความสะดวก และส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ  

กลุ่มสินค้าที่ดำเนินการยกเลิก/ปรับปรุงกฎ ระเบียบแล้ว ในปี 2564 - 2565 มี 10 รายการสินค้า ดังนี้ 1. พัดลม หม้อหุงข้าว และหลอดไฟ 2. เครื่องพิมพ์สามมิติ 3. เครื่องจักรที่ใช้ในการละเมิดลิขสิทธิ์เทปเพลง วิดีโอเทป และแผ่นซีดี 4. เทวรูป ชิ้นส่วนของเทวรูป พระพุทธรูป และชิ้นส่วนของพระพุทธรูป 5. ปลาทะเลสวยงามที่มีชีวิต 6. หอยมุกและผลิตภัณฑ์ 7. รถจักรยานยนต์ใช้แล้ว 8.เหรียญตัวเปล่าโลหะ 9. เครื่องพิมพ์อินทาลโย และ 10. สินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า และสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ 

- กลุ่มสินค้าที่อยู่ระหว่างการดำเนินการยกเลิก/ปรับปรุงกฎ ระเบียบ มี 8 รายการสินค้า ดังนี้ 

  •  เศษพลาสติก : ปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมความเห็นจากการประชาพิจารณ์
  •  ขยะอิเล็กทรอนิกส์ : ปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอยู่ระหว่างรอความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซล
  •  ทราย : ปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอ รมว. พิจารณาลงนาม
  •  ไม้และผลิตภัณฑ์ : ปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอ รมว. พิจารณาลงนาม
  •  ยางรถยนต์ใช้แล้ว : ปรับปรุงเพื่อยกเลิกขอบเขตสินค้าบางรายการที่ สมอ. กำหนดมาตรฐานแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาร่างประกาศ พณ.
  • เครื่องยนต์ดีเซลใช้แล้วขนาดเล็ก : ยกเลิกเนื่องจาก สมอ. อยู่ระหว่างกำหนดให้เป็นสินค้าที่มี มอก.และคาดว่า สมอ. จะบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าวปลายปี 2566
  • เครื่องทำน้ำอุ่นและน้ำร้อน : ยกเลิกเนื่องจาก สมอ. อยู่ระหว่างกำหนดให้เป็นสินค้าที่มี มอก. และคาดว่า สมอ. จะบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าวปลายปี 2566
  • ถ่านหิน : ยกเลิกเนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมมีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลแล้ว ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการจัดทำประชาพิจารณ์

 ทบทวนประกาศเกี่ยวกับการส่งออกกาแฟ  กรมฯ ได้เสนอ (ร่าง) ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้กาแฟเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และมีหนังสือรับรองในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. ... ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้สามารถส่งออกเมล็ดกาแฟคั่วที่ผลิตจากเมล็ดกาแฟดิบนำเข้าจากต่างประเทศ หรือที่ผสมกับเมล็ดกาแฟดิบในประเทศได้ จากเดิมสามารถส่งออกได้เฉพาะกาแฟที่ผลิตในประเทศ และผลิตภัณฑ์กาแฟที่ผลิตจากเมล็ดกาแฟดิบนำเข้าจากต่างประเทศ โดยการปรับปรุงกฎระเบียบนี้ จะเป็นการสร้างโอกาสในการขยายตลาดการส่งออกเมล็ดกาแฟคั่วของไทย และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโรงคั่วของไทยพัฒนาคุณภาพการผลิตเมล็ดกาแฟคั่วให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในการส่งออกกาแฟของไทยได้ประมาณ 50 - 100 ล้านบาท/ปี

ทบทวน พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาด และการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 ซึ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับ 1. มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) 2. มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing : CVD) และ 3. มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-Circumvention : AC) 


กรมฯ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดระหว่างวันที่ 1 – 31 มกราคม 2566 ซึ่งผลจากการรับฟังความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ และได้เสนอให้มีการปรับปรุงในบางประเด็น อาทิ การกำหนดนิยามสินค้าชนิดเดียวกันให้ครอบคลุมถึงสินค้าที่ทดแทนกันได้ หรือหลักเกณฑ์และกระบวนการดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ. ดังกล่าว ควรพิจารณาบนพื้นฐานที่ไม่ก่อให้เกิดภาระจนเกินจำเป็น และไม่ให้นำมาตรา 28 (เกณฑ์ขั้นต่ำที่นำไปสู่การยกเว้นการใช้มาตรการ) มาบังคับใช้โดยอนุโลมในกรณีการทบทวนการบังคับใช้มาตรการตามมาตรา 56 (การทบทวนอัตราอากร) และ 57 (การทบทวนความจำเป็นที่จะบังคับใช้มาตรการต่อไป) เป็นต้น ทั้งนี้ กรมฯ ได้จัดส่งรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ของ พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาด และการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปด้วยแล้ว

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์