"กฎหมายโลกร้อน"กติกาใหม่ หนุนเศรษฐกิจรับเงื่อนไขสิ่งแวดล้อม

"กฎหมายโลกร้อน"กติกาใหม่ หนุนเศรษฐกิจรับเงื่อนไขสิ่งแวดล้อม

เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจัดทำ “(ร่าง)พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ...หรือ กฎหมายโลกร้อน” โดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ตั้งเป้าไว้แล้วเสร็จปี 2566 โดยคาดหวังว่าจะนำเสนอรัฐบาลใหม่ประกาศใช้ ในเดือน ก.ย. 2566

เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050)  และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ.2065)

            กฎหมายโลกร้อน กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การค้าและการลงทุน รวมถึงการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตให้เกิดขึ้นภายในประเทศได้อย่างชัดเจน เพื่อเพิ่มช่องทางการซื้อขายคาร์บอนเครดิต การเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และการสร้างการตระหนักรู้ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

            รวมทั้งการค้าและการลงทุน ซึ่งทส.ได้หารือร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุน และการกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเกี่ยวกับการสนับสนุนกิจการการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสาขาต่าง ๆ จัดทำแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและไฟฟ้าของประเทศไทย (FTIX)  รวมทั้่งสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน และผู้ประกอบการ

            ร่างกฎหมายประกอบด้วย  8 หมวด 56 มาตรา เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฎิรูปประเทศไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการแก้ปัญหาโลกร้อน และการเข้าถึงข้อมูลของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม

วราวุธ ศิลปอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบายว่า “(ร่าง)พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ....  เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการเก็บข้อมูล และช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานของประเทศไทย ทั้งในด้านการดูแลฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะในอนาคตการค้าขายกับต่างประเทศจะถูกบังคับด้วยกรอบด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

            หากประกาศใช้ “กฎหมายโลกร้อน”ในประเทศไทย จะทำให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม ต่างๆต้องรวมพลังขับเคลื่อนแก้ปัญหา Climate Change อย่างจริงจัง  ขณะเดียวกัน จะเพิ่มโอกาสให้ผู้บริโภคเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำได้ และสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการจะต้องแข่งขันกันทำขั้นตอนการผลิตของตัวเองให้เป็นมิตรกับชั้นบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด อันนำไปสู่การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมควบคู่กับเศรษฐกิจของไทยได้ในอนาคต

โครงสร้างร่างกฎหมายโลกร้อน

            (ล้อมแยกส่วนจากเนื้อหาหลัก) เอกสารวิพากษ์ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ....โดยศุภวิชญ์ พ่วงสุวรรรณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สรุปสารุสำคัญร่างกฎหมายไว้ดังนี้ มาตรา4 กำหนดวัตถุประสงค์ มาตรา 5 คำนิยามต่าง มาตรา 7-11 บททั่วไปเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ประชาชนและรัฐ มาตรา 12-20 การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ คุณสมบัติของคณะกรรมการฯ สิทธิและหน้าที่่ของกรรมการฯ

            มาตรา 21-24 เป็นประเด็นเรื่องการจัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ โดยมีคณะกรรมการนโยบายฯมาตรา 25-30 เป็นเรื่องของการจัดให้มีฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และยังกำหนดให้คณะกรรมการฯได้จัดทำแผนปฎิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพือ่กำหนดแนวทางการดำเนนงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน กำหนดในมาตรา 31-34 และยังให้อำนาจคณะกรรมการชุดเดิมจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในมาตรา 40-50 ส่วนมาตราที่เกี่ยวกับการส่งเสริมให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กำหนดไว้ในมาตรา 46-47 และที่เหลือเป็นเรื่องของบทกำหนดโทษและบทเฉพาะกาล