ปัญหาสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนผู้บริโภค ปรับพฤติกรรมซื้อสินค้า บริการยั่งยืน

ปัญหาสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนผู้บริโภค ปรับพฤติกรรมซื้อสินค้า บริการยั่งยืน

 'การรักษาสิ่งแวดล้อม หรือ ศาสตร์แห่งความยั่งยืน' นับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยจากเชิงลบสู่เชิงบวก

Keypoint:

  • CMMU เปิดเผย3 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยจากเชิงลบสู่เชิงบวก ทั้งการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การดูแลสุขภาพใจ และการรักษาสิ่งแวดล้อมหรือศาสตร์แห่งความยั่งยืน
  • ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต การซื้อสินค้า บริการ โดยมุ่งเน้นซื้อและใช้บริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับความยั่งยืน
  • ทำความรู้จัก 'LIFE' (ไลฟ์) กลยุทธ์แห่งชีวิตที่จะสร้างชีวิต สังคม และแบรนด์ให้ดีขึ้น ทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นในระยะยาว

ข้อมูลวิจัยจาก ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU)พบว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลให้เกิดปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการใช้สินค้า และบริการที่เกี่ยวกับความยั่งยืน โดยกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากที่สุด คือ Baby Boomer , Gen Z , Gen X และ Gen Y ตามลำดับ

รายงานเทรนด์การตลาดชุดใหม่ 'What If Marketing การตลาดสามมิติสู่การเปลี่ยนแปลง' โดย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) ที่มีการศึกษาครอบคลุมพฤติกรรม ทัศนคติและความเชื่อในการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การดูแลสุขภาพจิต และการบริโภคสินค้าเพื่อความยั่งยืน ในแต่ละกลุ่มช่วงอายุ เพศ สู่การคิดค้นกลยุทธ์การตลาดใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพ-ชีวิต-อนาคตที่ดีกว่า

โดยสำรวจผ่านกลุ่มตัวอย่าง 1,130 ตัวอย่าง แบ่งเป็น 1. วิจัยเชิงสำรวจ 1,000 คน เพศหญิง 65.5% เพศชาย 27.2% และกลุ่มหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQIA+ 7.3% ในเจนเนอเรชั่นต่างๆ และ 2. สัมภาษณ์เชิงลึก 130 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

“อัพสกิล”หนุน“งานชนคน” คุณภาพแรงงานกับความยั่งยืน

“ไฮโดรเจน”ทางเลือกพลังาน ทางรอดสู่ความยั่งยืน

‘โลกสวย’ ด้วยมือเรา ร่วมเปลี่ยนผ่านสู่ 'สังคมคาร์บอนต่ำ'

เกษตรสีขาวดูแลโลกสีเขียว ด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน

 

เปลี่ยนพฤติกรรมจากเชิงลบ สู่เชิงบวก

จันทร์กานต์ เบ็ญจพร นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) หัวหน้าทีมวิจัย เผยว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยจากเชิงลบสู่เชิงบวก 3 ประเด็น ได้แก่ 

1.การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (Better Food for Better Health) ผู้บริโภคต้องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินอาหารให้ดีต่อสุขภาพ เนื่องจากต้องการดูแลสุขภาพระยะยาว เสริมภาพลักษณ์ และป้องกันโรค

 2.​การดูแลสุขภาพใจ โดยเรื่อง(ไม่)ลับกับสุขภาพใจ (Better Mind for Better Life) โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเครียด 3 อันดับแรก ได้แก่ หน้าที่ความรับผิดชอบ การเงิน และสุขภาพ อีกทั้งยังพบว่า กลุ่มคน Gen Y มีความเครียดมากที่สุด จากหน้าที่การงานและความต้องการบาลานซ์ความสุข

ปัญหาสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนผู้บริโภค ปรับพฤติกรรมซื้อสินค้า บริการยั่งยืน

 3.การรักษาสิ่งแวดล้อม หรือ ศาสตร์แห่งความยั่งยืน (Better World for Better Future) จากข้อมูลวิจัยพบว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลให้เกิดปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการใช้สินค้า และบริการที่เกี่ยวกับความยั่งยืน โดยกลุ่มตัวอย่างมีการตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมกว่า 69.9% ตามด้วยต้องการช่วยแก้ปัญหาระยะยาว 62.6% และต้องการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต 61.2%

 

กลยุทธ์ไลฟ์ 'LIFE' ได้ใจผู้บริโภค

สำหรับช่องทางการเปิดรับข้อมูลด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม พบว่า ทุกเจนเนอเรชั่นนิยมรับข้อมูลผ่านช่องทางเฟซบุ๊กเป็นหลัก ทีมวิจัยได้คิดค้น กลยุทธ์แห่งชีวิตที่จะสร้างชีวิต สังคม และแบรนด์ให้ดีขึ้น เรียกว่า 'LIFE' (ไลฟ์) ที่จะทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นในระยะยาวและสร้างโอกาสต่อธุรกิจอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่เน้นขายของ ดังนี้

L: Less is more – แบรนด์สามารถลดส่วนประกอบบางอย่าง เพื่อให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดีขึ้น รวมถึงลดการใช้สิ่งที่ไม่จำเป็นบางอย่างในการผลิต เพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

I: Image – ต้องสร้างความเชื่อต่อผู้บริโภค ในแง่การผลิตสินค้าหรือบริการที่มีความใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภคอย่างแท้จริง และใส่ใจถึงผลดีต่อโลกอย่างแท้จริง

F: Fear – แบรนด์ต้องเล่นกับความกลัว สื่อให้เห็นผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นถ้าเราไม่เปลี่ยนพฤติกรรม

E: Experience – ให้ผู้บริโภคได้เห็นและสัมผัสถึงความเปลี่ยนแปลงจริง

แบรนด์โตได้ บนความยั่งยืน

การทำเรื่องของความยั่งยืนแม้จะเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับแบรนด์ และหลายคนอาจมองว่ายังไม่ตอบโจทย์การเติบโตทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ‘รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต’ หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC by MQDC) ได้ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจ โดยมองว่าการทำ Sustainability สามารถทำให้บริษัทโตได้ เช่น Patagonia แบรนด์ขายอุปกรณ์ที่ใช้ในการปีนเขา ที่มีความมุ่งมั่นในด้านสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมาได้ออกแคมเปญ Don’t buy this Jacket เพราะเขามองว่าคนที่มีอยู่แล้วใช้ให้คุ้มก่อน สุดท้ายยอดขายสูงขึ้น 100% เพราะคนชอบไอเดีย และได้ช่วย Patagonia รักษ์โลก เป็นบริษัทที่โตขึ้น ในขณะที่อุตสาหกรรมทิ้งตัว

'H&M' อีกหนึ่งแบรนด์เครื่องแต่งกายที่ตั้งเป้าหมายในการใช้ Sustainable Materials 100% ในปี 2573 โดยที่ผ่านมา H&M เปิดตัวคอลเลคชั่นใส่ใจสิ่งแวดล้อมครั้งแรกในปี 2555 ชิ้นส่วนทั้งหมดทำจากวัสดุออร์แกนิค เช่น ผ้าฝ้าย ป่าน และโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล อีกทั้ง มีการเลือกใช้วัสดุแทนหนังอย่าง Piñatex ทำจากเส้นใยของใบสับปะรด นอกจากเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอีกด้วย

ในปี 2562 ที่ผ่านมา มีการวางจำหน่าย Conscious Exclusive คอลเลคชั่นที่ใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคุณภาพสูง สวมใส่ได้ทั้งในโอกาสพิเศษและวันสบายๆ ในโอกาสพิเศษหรือในเวลาสบายๆ ของทุกวัน นับเป็นการพัฒนาและขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน

ด้าน บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด เป็นบริษัทโฮลดิ้งด้านการค้าปลีกมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 1 ใน 8 แบรนด์ที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ UNIQLO (ยูนิโคล่) และแบรนด์อื่นๆ ได้แก่ GU , Theory , PLST (Plus T) , Comptoir des Cotonniers , Princesse tam.tam , J Brand และ Helmut Lang จึงได้พัฒนา Life Wear ไปสู่อุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ ตั้งเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2573 ตาม ความตกลงปารีส

ที่ผ่านมา ยูนิโคล่ ได้ประกาศขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด LifeWear พยายามสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน ในความคิดริเริ่ม 2 ด้าน คือ ดูแลตั้งแต่ซัพพลายเชนไปถึงการจำหน่าย ขณะเดียวกัน ต้องผลิตเสื้อผ้าที่เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า และจัดเก็บเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน

อาทิ เปลี่ยนกระบวนการแต่งผิวยีนส์ด้วยเลเซอร์แทนกระดาษทราย ช่วยลดการใช้น้ำได้กว่า 99% รวมถึงพัฒนาเสื้อโปโลดรายเอ็กซ์ ผลิตจากขวดพลาสติก โดยอัตราส่วนของโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลอยู่ที่ 38-75% ต่อตัว และ กระเป๋าผลิตจากเส้นใยไนลอนรีไซเคิล 30% ต่อใบ มาจากเส้นใยที่ถูกทิ้งในกระบวนการผลิต นำมาขึ้นรูปเป็นเส้นใยและผลิตเป็นกระเป๋า เป็นต้น เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593