สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว : หายนะภัยจากมนุษย์สู่มนุษย์ | มนนภา เทพสุด
ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้นในทุกๆ ปีของประเทศไทย หลายประเทศทั่วโลกต่างก็เผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่เสี่ยงต่อความเสียหายมากขึ้นเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็น สภาพอากาศที่ร้อนจัดจากคลื่นความร้อนอุณหภูมิสูงมาก ภัยแล้งรุนแรง-ยาวนาน ไฟป่าขนาดใหญ่ น้ำท่วมฉับพลัน และลมพายุกำลังแรงที่โถมเข้ามา จนเกินกว่าที่จะใช้คำว่า “ภัยพิบัติทางธรรมชาติ” ได้ต่อไป โลกของเรากำลังเกิดอะไรขึ้น แล้วเรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร
สภาพการณ์เลวร้ายต่างๆ ดังกล่าว ที่เข้ามาสร้างปัญหาก่อภัยคุกคามร้ายแรงให้กับทุกชีวิตนี้ ล้วนเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน
วิกฤตการณ์อันตรายที่ได้รับการยืนยันหนักแน่นจากรายงานการประเมินครั้งที่ 6 (The Sixth Assessment Report: AR6) ที่เผยแพร่โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ในปี พ.ศ. 2564 ว่า
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ คือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างแน่นอน
จุดเริ่มที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดธรรมชาติ จนก่อตัวเป็นภาวะโลกร้อนที่ขยายขนาดความรุนแรง กระทั่งสภาพภูมิอากาศโลกผิดเพี้ยนไปอย่างไม่คาดคิดนั้น เกิดขึ้นเมื่อสังคมโลกก้าวเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม
ความเจริญและความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นในยุคแห่งการผลิตบนฐานเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้ประเทศต่างๆ ระดมเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติกันอย่างมหาศาล
เพื่อผลิตพลังงานมาใช้ทั้งในภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง การผลิตไฟฟ้า และการเกษตรสมัยใหม่ ผสานร่วมกับการเผาไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่เมืองและการเกษตร ได้ส่งผลร้ายให้คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวการหลักแห่งปัญหาภาวะโลกร้อน ถูกผลิตแล้วปล่อยออกมาสะสมตัวอยู่ในชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จนมีปริมาณเกินระดับสมดุลของธรรมชาติ
โดยมีค่าความเข้มข้นอยู่ที่ 350.93 ส่วนในล้านส่วน (parts per million: ppm) ในปี พ.ศ. 2531 ซึ่งเกินขีดสภาพภูมิอากาศที่ปลอดภัยที่นักวิทยาศาสตร์ระบุไว้ว่าไม่ควรเกิน 350 ppm เป็นครั้งแรก อีกทั้งยังเพิ่มสูงเรื่อยๆ จนถึง 418.56 ppm แล้วในปีที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 2 ล้านปีเลยทีเดียว
ทั้งที่เมื่อราว 10,000 ปีก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สภาพภูมิอากาศโลกมีความมั่นคงปลอดภัยนั้น ภายในชั้นบรรยากาศโลกมีปริมาณการสะสมตัวของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ค่อนข้างคงที่ที่ประมาณ 280 ppm เท่านั้น
และเมื่อย้อนหลังไปช่วงหนึ่งล้านปีที่ผ่านมา ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศก็ไม่เคยมีค่าความเข้มข้นสูงเกิน 300 ppm มาก่อนเลย
แน่นอนว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนเพิ่มมากเกินในชั้นบรรยากาศนี้ ได้ส่งผลอันตรายเร่งให้อุณหภูมิบนพื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง
รายงาน State of the Global Climate report 2022 ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) ได้เปิดเผยว่า โลกร้อนมากสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ. 2558-2565)
อีกทั้งในรายงานการประเมินครั้งที่ 6 ของ IPCC ยังให้ข้อมูลด้วยว่าโลกร้อนขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสแล้วเมื่อเทียบจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยพบมาก่อนนับตั้งแต่หลังยุคน้ำแข็งซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ125,000 ปีก่อน
การเพิ่มอุณหภูมิบนพื้นผิวโลกดังกล่าว แม้ดูเหมือนเล็กน้อยแต่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลกอย่างใหญ่หลวง ปีที่ผ่านมาซึ่งถือเป็น “ปีแห่งสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว” นั้น หลายประเทศต่างเผชิญกับสภาพอากาศที่เข้าขั้นระดับวิกฤตกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีนที่ต้องประสบกับคลื่นความร้อนยาวนานที่สุดในรอบ 60 ปี จากอุณหภูมิที่สูงเกิน 40 องศาเซลเซียส
ในขณะที่ประเทศสเปนและโปรตุเกสต้องเจอกับสภาพอากาศแห้งแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 1,200 ปี อีกทั้งหลายประเทศในทวีปยุโรปก็ผจญกับวิกฤตไฟป่าครั้งใหญ่อย่างแทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตรงข้ามกับประเทศปากีสถานที่ต้องเจอฝนตกหนักที่สุดในรอบทศวรรษ จนน้ำท่วมพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศ
ต้องกลับมาย้ำว่า เวลานี้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศใกล้แตะระดับ 420 ppm เข้าไปทุกทีแล้ว และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อไปถึง 450 ppm ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิบนพื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นตามมาได้ถึง 2 องศาเซลเซียส (เมื่อเทียบจากก่อนยุคอุตสาหกรรม) ซึ่งถือเป็นจุดหักเหสำคัญที่จะทำให้โลกเข้าสู่จุดเปลี่ยน
ด้วยภัยพิบัติต่างๆจะเกิดถี่ขึ้น หนักขึ้น และรุนแรงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 6 เมตร อีกทั้งระบบนิเวศก็จะได้รับความเสียหายอย่างหนัก และอาจนำไปสู่การล่มสลายของอารยธรรมมนุษย์ได้
เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ การพยายามทำทุกวิถีทางที่จะต้องควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามเป้าหมายของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ให้ได้โดยเร็ว เพื่อผ่อนบรรเทาความรุนแรงจากภัยอันตรายต่างๆ ที่จะตามมาอย่างเป็นลูกโซ่
(รายงานการประเมินครั้งที่ 6 ของ IPCC คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี พ.ศ. 2583) ด้วยการเดินหน้ามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)
ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608
สำหรับการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศนั้น สามารถดำเนินการได้บน 3 แนวทางหลัก ซึ่งได้แก่
(1) ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ด้วยการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ปรับปรุงกระบวนการผลิต พัฒนาอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ
(2) กำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ โดยเพิ่มพื้นที่ป่า เพื่อเพิ่มศักยภาพการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ และ
(3) กำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกจากแหล่งผลิต เช่น การใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน ( Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ซึ่งเป็นการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งผลิต และนำมากักเก็บไว้ใต้พื้นดิน หรือใช้ในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมอื่นๆ
อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ควรปฏิบัติอย่างควบคู่กันไป ร่วมกับการป้องกันและปรับตัวให้อยู่ได้กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง อาทิ การสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม การวางแผนใช้ทรัพยากรน้ำ การปรับเปลี่ยนพื้นที่และเวลาปลูกพืช การปรับปรุงและคัดเลือกสายพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และการสร้างอาคารที่ทนต่อสภาพภูมิอากาศโลก
ชัดเจนว่า สภาพภูมิอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์นี้ จะทวีความรุนแรงถึงคนรุ่นต่อๆ ไปหรือไม่นั้น ก็ขึ้นกับคนรุ่นปัจจุบันว่าให้ความสำคัญลงมือแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้มากน้อยเพียงใดนั่นเอง.