กรมวิชาการเกษตร คัดสุดยอดกาแฟไทย โชว์เทศกาล ที่รัสเซียและเยอรมัน
กรมวิชาการเกษตร จับมือ หน่วยงานรัฐและภาคีภาคเอกชน ร่วมจัดงานประกวดสุดยอดกาแฟไทยปี 2566 คัดสรรสุดยอดเมล็ดกาแฟอะราบิกาและโรบัสตาคุณภาพดี เพิ่มมูลค่าขยายโอกาสช่องทางการตลาด โชว์ เทศกาลสินค้าเกษตร ณ ประเทศรัสเซียและเยอรมัน
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินงานตามพระราชดำริด้วยงานวิจัยและพัฒนากาแฟไทย โดยส่งเสริมประชาสัมพันธ์เอกลักษณ์กาแฟไทยสู่กาแฟคุณภาพดีระดับโลก ซึ่งผลรวมมูลค่ากาแฟที่เกิดขึ้นจากการประกวดสุดยอดกาแฟไทย ปี 2565 มีมูลค่า 1.3 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าจากการประมูลรวม 892,749.50 บาท แบ่งเป็นยอดการประมูลกาแฟอะราบิกากระบวนการแปรรูปวิธีแห้ง รวม 176,340.50 บาท กาแฟอะราบิกากระบวนการแปรรูปวิธีเปียก รวม 156,271.00 บาท กาแฟอะราบิกากระบวนการแปรรูปวิธีกึ่งแห้ง รวม 355,157.50 บาท และโรบัสตา รวม 204,980.50 บาท รวมถึงมูลค่าจากการจำหน่ายกาแฟของเกษตรกรที่ได้คะแนนตั้งแต่ลำดับที่ 11 เป็นต้นไป รวม 550,622.35 บาท
แบ่งเป็นการจำหน่ายกาแฟอะราบิกา 193,126.60 บาท และการจำหน่ายกาแฟโรบัสตา 357,468.75 บาท ซึ่งเกษตรกรได้รับจำนวนเงินที่ได้จากการประมูลกาแฟที่ได้ลำดับ 1-10 โดยไม่หักค่าใช้จ่าย และเกษตรกรที่ไม่ได้ลำดับ 1-10 ก็ได้รับจำนวนเงินตามที่จัดจำหน่ายได้ตามลำดับชั้นคะแนนและปริมาณกาแฟที่เหลือจากการชักสุ่มตัวอย่างมาใช้ในกระบวนการประกวด (ราคาจำหน่ายขึ้นกับคะแนนที่ได้รับ)
ในปี 2566 นี้ กรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรด้านกาแฟ อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สมาคม และภาคีภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในธุรกิจกาแฟ จัดการประกวดสุดยอดกาแฟไทย ปี 2566 ภายใต้แนวคิด การผลิตอย่างยั่งยืน เพื่อรณรงค์และส่งเสริมสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรผลิตกาแฟอะราบิกาและโรบัสตาของไทย ให้มีคุณภาพดีตลอดห่วงโซ่การผลิตกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
รวมถึงรสชาติกาแฟจนได้เป็นเมล็ดกาแฟไทยเกรดพิเศษ อีกทั้งเป็นการรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟตระหนักถึงความสําคัญของการปลูกกาแฟที่ทำให้ได้ผลผลิตกาแฟมีคุณภาพ และแสดงถึงอัตลักษณ์ของกาแฟไทย พร้อมทั้งยังช่วยส่งเสริมและพัฒนากาแฟไทยให้มีคุณภาพดีสู่ระดับโลก เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ และความยั่งยืนแก่เกษตรกรไทย
การจัดงานในปี 2566 นี้ กรมวิชาการเกษตรได้เปิดขยายเวลาการรับสมัครและสิ่งประกวดกาแฟอะราบิกาและกาแฟโรบัสตาไปจนถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2566 โดยมีรายละเอียดลักษณะสิ่งประกวดจำแนกกระบวนการแปรรูป 4 กระบวนการ 5 ประเภท คือ
1.กาแฟอะราบิกา กระบวนการแปรรูปวิธีแห้ง (Arabica dried process; AD)
2.กาแฟอะราบิกา กระบวนการแปรรูปวิธีเปียก (Arabica washed process; AW)
3.กาแฟอะราบิกา กระบวนการแปรรูปวิธีกึ่งแห้ง (Arabica honey process; AH)
4.กาแฟอะราบิกา กระบวนการแปรรูปโดยใช้นวัตกรรม
และ 5.กาแฟโรบัสตา (ไม่แยกกระบวนการแปรรูป) ซึ่งเปิดรับตัวอย่างสิ่งประกวดจัดส่งในลักษณะกาแฟผลแห้ง ปริมาณ 30-80 กิโลกรัม และกาแฟกะลา ปริมาณ 25-60 กิโลกรัม
สำหรับรางวัลในปีนี้ แบ่งเป็น 3 รางวัล คือ รางวัลที่ 1 มี 5 รางวัล ได้แก่ สิ่งประกวดที่มีคะแนนสูงที่สุดในแต่ละประเภท จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท รางวัลที่ 2 มี 5 รางวัล จะได้รับถ้วยรางวัลจากปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมเงินรางวัล จำนวน 30,000 บาท รางวัลที่ 3 มี 5 รางวัล จะได้รับถ้วยรางวัลจากอธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมเงินรางวัล จำนวน 10,000 บาท รวมถึงสิ่งประกวดทุกประเภทที่ผ่านเข้าสู่การทดสอบคุณภาพด้านประสาทสัมผัสจะได้รับประกาศนียบัตรตามเกณฑ์มาตรฐานการตัดสินของสมาพันธ์กาแฟโลกและประกาศนียบัตรจากกรมวิชาการเกษตร
การประกวดสุดยอดกาแฟไทย เป็นเวทีที่ให้เกษตรกรชาวสวนกาแฟได้มีโอกาสนำเสนอกาแฟของตนเองเข้าสู่เวทีประกวด ซึ่งเขาจะได้เรียนรู้ในเรื่องคุณภาพที่ตลาดต้องการจากผลคะแนนที่ได้รับ และผลการคัดเลือกเฟ้นหากาแฟที่มีคุณภาพในด้านกลิ่นและรสชาติที่ดีที่สุดจากเกษตรกรไทยที่มีแปลงปลูกกาแฟจริง จะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรท่านอื่นๆ เกิดการพัฒนาการผลิตกาแฟให้ได้คุณภาพ เป็นการยกระดับมาตรฐานกาแฟไทยสู่มาตรฐานโลก
“ความพิเศษของการประกวดครั้งนี้ คือ กาแฟของผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรกของแต่ละประเภท จะได้รับสิทธิพิเศษในการนำผลิตภัณฑ์กาแฟไปประชาสัมพันธ์ร่วมจัดแสดงให้ชิมในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ที่งานเทศกาลสินค้าเกษตร ณ MOAC pavilion กรุงมอสโค ประเทศรัสเซีย และในช่วงเดือนธันวาคม 2566 ที่งาน Green week ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นการประชาสัมพันธ์กาแฟไทยสู่เวทีระดับโลก
เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์/วิสาหกิจชุมชนที่สนใจส่งใบสมัครและเมล็ดกาแฟเข้าประกวดได้ ตั้งแต่บัดนี้ถึง 10 มิถุนายน 2566 หรือสอบถามรายละเอียดการสมัครเพิ่มเติมได้ที่สถาบันวิจัยพืชสวน โทรศัพท์ 0-2940-5484 ต่อ 117 ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ โทรศัพท์ 0-5311-4133-6 ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ โทรศัพท์ 0-4581-4581 ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ โทรศัพท์ 0-5681-0024 ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี โทรศัพท์ 0-3939-7030 และศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร โทรศัพท์ 0-7755-6073, 0-7755-6191”