“อินโนพาวเวอร์” ชูนวัตกรรม รุก 3 ธุรกิจหนุนพลังงานสะอาด
กลุ่มบริษัท กฟผ. ดันอินโนพาวเวอร์ ขับเคลื่อนโรดแมปมุ่งเปลี่ยนผ่านพลังงานแห่งอนาคตชู 3 แผนธุรกิจ ตั้งกองทุนพลังงานแห่งอนาคต เปิดแฟรนไชส์สถานีอัดประจุไฟฟ้า และให้บริการแพรตฟอร์มรายงานก๊าซเรือนกระจก คาดปี 66 บริษัทรับรู้กำไรเป็นปีแรก
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการของบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด วันที่ 30 พ.ค.2566 ภายใต้ชื่องาน “INNOPOWER: THE IGNITION BEGINS” ว่า วิวัฒนาการของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด โดยปัจจุบันมีการใช้พลังงานจาก 3 เชื้อเพลิงหลัก ได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติอย่างไรก็ตาม ช่วงเวลานี้กำลังเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านพลังงานอีกครั้งไปสู่การใช้เชื้อเพลิงสะอาดและพลังงานหมุนเวียนอาทิ แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ชีวมวล ไฮโดรเจน รวมไปถึงนิวเคลียร์
ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวมีตัวเร่งสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้กว่า 140 ประเทศรวมถึงไทยได้ประกาศเป้าหมายก้าวสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 ร่วมกันบนเวทีการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ภาครัฐต้องเร่งผลักดันแผนพลังงานชาติ นโยบายสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งเป็นสองเซคเตอร์หลักที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ รวมทั้งการสร้างธุรกิจใหม่ที่มีความยืดหยุ่น
นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีผู้ถือหุ้นร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) หรือ EGCO โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นเรือธงสำคัญในการสร้างนวัตกรรมพลังงานและเทคโนโลยีแห่งอนาคตสำหรับประเทศไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับ 3 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่
1.พลังงานแห่งอนาคต ค้นหาเทคโนโลยีสำหรับการผลิตพลังงานสะอาด รวมทั้งการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยที่ผ่านมาอินโนพาวเวอร์ได้มีการลงทุนในกองทุนและสตาร์ทอัพในต่างประเทศ เช่น Turntide Technologies สตาร์ทอัพในสหรัฐอเมริกาผู้พัฒนาเทคโนโลยีสมาร์ทมอเตอร์ประหยัดพลังงานซึ่งถูกออกแบบมาให้ใช้แร่ทองแดงน้อยลงในกระบวนการผลิตส่งผลให้มอเตอร์ดังกล่าวราคาไม่สูงแต่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นกว่า 30% นอกจากนี้ อินโนพาวเวอร์ยังได้รับสิทธิในการนำเทคโนโลยี สมาร์ทมอเตอร์มาใช้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2.การเดินทางแห่งอนาคต ส่งเสริมการลงทุนและระบบนิเวศการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผลักดันโครงการต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยนำรถโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า 100% มาใช้เป็นระบบ รวมถึงการร่วมมือ Wallbox สตาร์ตอัพรายใหญ่จากสเปน สร้างโมเดลธุรกิจด้านสถานีอัดประจุ
3.เทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนใต้พิภพ (Carbon Capture) การผลิตพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy Certificate (REC) ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2565 ที่เริ่มดำเนินธุรกิจถึงปัจจุบัน บริษัทได้สนับสนุนการซื้อขายไฟฟ้าสะอาดไปแล้วมากกว่า 1.2 ล้าน REC
“ธุรกิจ REC ถือเป็นธุรกิจที่จะมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้บริษัทเริ่มรับรู้กำไรในบางเดือน โดยคาดว่าในปี 2566 บริษัทจะสามารถรับรู้กำไรได้ ซึ่งถือว่าเติบโตได้เร็วกว่าบริษัททั่วไปที่จะเริ่มทำกำไรในช่วง 3-4 ปี”
สำหรับปี 2566 นี้ อินโนพาวเวอร์จะมุ่งการลงทุนใน 3 ด้าน ซึ่งเป็นกำลังหลักในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ได้แก่
1.จัดตั้งกองทุน Energy Ignition Ventures โดยร่วมมือกับ TRIREC ซึ่งเป็นธุรกิจร่วมลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ โดยมีแผนการลงทุนในสตาร์ทอัพกลุ่ม Decarbonization Technology อาทิ Mobility, Carbon Economy, Energy และAgriculture ที่มีการเติบโตมาแล้วระยะหนึ่ง (Growth Stage) และมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยุโรป อเมริกาเหนือ และอิสราเอล สำหรับกองทุนดังกล่าว อินโนพาวเวอร์วางเป้าหมายในการระดมทุนไว้เบื้องต้นที่ 100 ล้านดอลลาร์
2.เปิดตัวโมเดลธุรกิจสถานีชาร์จไฟฟ้าต้นแบบ (EV Charging Franchise) แพ็คเกจจัดตั้งสถานีชาร์จให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนและเป็นเจ้าของ ดยใช้เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของ Wallbox ซึ่งมีคุณสมบัติในการอัดประจุพลังงานที่มีประสิทธิภาพ
“โดยปีนี้ตั้งเป้าให้มีการสร้าง 500 สถานี ทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าโมเดลธุรกิจนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการขยายเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทย และสนับสนุนให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถเข้าถึง EV Station ได้สะดวกสบายขึ้น”
3.บริการแพลตฟอร์มรายงานก๊าซเรือนกระจก (GHG Reporting Platform) ซึ่งสามารถตรวจสอบสถานะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ทำให้องค์กรสามารถแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างตรงจุด ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยบริษัทจะเปิดให้ภาคธุรกิจที่ใช้พลังงานสูงได้ใช้บริการฟรี และมีการเสนอโซลูชั่นเพื่อช่วยบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา
สำหรับการดำเนินการดังกล่าวเพื่อตอบรับกับแผนพลังงานชาติที่มีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดจาก 25% เป็น 50% ของแผนพลังงานทั้งหมด และเดินหน้าประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 โดย“นวัตกรรม” คือหัวใจสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาการเข้าถึงพลังงานสะอาดมีราคาสูง