'เอลนีโญ'ทำเกษตรไทย เจอศึกใหม่ราคาดีแต่ไม่มีของจะขาย
ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ”คืออะไร กรมอุตุนิยมวิทยาให้คำอธิบายไว้โดยสรุปว่าคือ การอุ่นขึ้นผิดปกติของผิวน้ำทะเลกระแสน้ำอุ่นที่ไหลลงทางใต้ตามชายฝั่งประเทศเปรู ทำให้เกิดความแห้งแล้ง ซึ่งตรงข้ามกับปรากฏการณ์ลานีญาที่จะทำให้เกิดฝนตกมากกว่าปกติ
สำหรับผลกระทบของเอลนีโญต่อปริมาณฝน และอุณหภูมิในประเทศไทย นั้นเอลนีโญจะทำให้ปริมาณฝนของประเทศไทยส่วนใหญ่ต่ำกว่าปกติ (rainfall Index น้อยกว่า 50) โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนและต้นฤดูฝน และพบว่าเอลนีโญขนาดปานกลางถึงรุนแรงมีผลกระทบทำให้ปริมาณฝนต่ำกว่าปกติมากขึ้นสำหรับอุณหภูมิ ปรากฏว่าสูงกว่าปกติทุกฤดูในปีเอลนีโญ
พีรโชติ จรัญวงศ์ นายกสมาคมการค้าอินทรีย์ไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัทผลิตภัณฑ์อาหารเมอริท จำกัด เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังจะเผชิญปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความร้อนและแห้งแล้งมากกว่าปกติ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงโดยคาดการณ์จากปรากฏการณ์ ลานีญา ที่มีปริมาณฝนมากกว่าปกติก่อนหน้านี้ที่กินเวลานานถึง 3ปี จึงคาดการณ์ว่าไทย และภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญราว 3 ปี เช่นกัน
เบื้องต้น เกษตรกรควรเตรียมตัวรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจมีความรุนแรง และยาวนาน โดยหาแหล่งกักเก็บน้ำ และปรับแผนบริหารจัดการในแปลงเกษตรให้เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อให้เกิดความเสียหายจากภัยธรรมชาตินี้ให้น้อยที่สุด เช่น ลงทุนให้เหมาะสมกับสัดส่วนความสามารถการดูแลรักษาเพื่อไม่ให้ผลผลิตเสียหาย หยุดหรือเปลี่ยนชนิดพืชที่ทนแล้งใช้น้ำน้อย
“ภาพรวมผลผลิตทางการเกษตรของไทยน่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ราคาตลาดเพิ่มขึ้น เพราะสินค้าหายไปจากตลาด เมื่อช่วงเอลนีโญครั้งก่อน ราคามะพร้าวจากเดิมกิโลกรัมละ 10 บาท เพิ่มเป็น 50 บาท ขณะที่ผลมะพร้าวก็จะมีขนาดเล็กลงในส่วนของบริษัทถือว่าดีเพราะสะดวกในการขนส่งแต่สำหรับเกษตรกรทั่วไปจะได้รับผลกระทบเพราะด้านน้ำหนักที่จะจำหน่ายลดลง”
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ดังกล่าว แม้ทิศทางราคาสินค้าเกษตรจะดีขึ้นแต่เกษตรกรจะไม่มีผลผลิตป้อนตลาดเท่ากับว่าภาคเกษตรไทยจะได้รับผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจตามไปด้วย ดังนั้น แนวทางรับมือของภาครัฐควรร่วมกับเกษตรกรวางแผนการรับมือ
เอลนีโญร่วมกัน
“การเตรียมน้ำไว้มากๆ ในภาคเกษตรไม่ใช้คำตอบที่จะใช้กับเอลนีโญได้เพราะ ปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องของความแห้งแล้งที่สภาพอากาศร้อนรุนแรง ดังนั้นแหล่งกักเก็บน้ำก็จะระเหยหมดไปในเวลาไม่นาน และอากาศที่ร้อนก็จะยิ่งทำให้พืชต้องการน้ำมากขึ้น การบริหารจัดการน้ำเพื่อประโยชน์อุปโภคบริโภคที่จำเป็นมากกว่าใช้เพื่อการเกษตรซึ่งต้องการน้ำปริมาณสูงมากท่ามกลางความยากลำบากที่จะหาแห่งซัพพลายมาเพิ่มได้เพราะฝนจะทิ้งช่วงนานด้วยเช่นกัน”
สำหรับบริษัท เมอริท มีสวนมะพร้าวที่ ที่ดินกว่า 2,200 ไร่ ณ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ได้ทยอยปลูกมะพร้าวสายพันธุ์ “มาว่า” พันธุ์นี้เป็นที่ขึ้นชื่อในเรื่องให้ผลผลิตขนาดเล็ก แต่มีเนื้อหนา และมีความทนทานต่อสภาพอากาศของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี เพื่อป้อนเข้าสู่การแปรรูปผลผลิตจากไร่ มาเป็นผลิตภัณฑ์มะพร้าวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำกะทิ,น้ำมะพร้าว,น้ำมันมะพร้าว,แป้งมะพร้าว และเกล็ดมะพร้าวอบแห้ง ในปัจจุบันสินค้าเหล่านี้ได้มาอยู่ภายใต้แบรนด์ “เมอริโต้” ที่เป็นสินค้าออร์แกนิคตั้งแต่กระบวนการปลูกจากไร่จนถึงกระบวนการผลิตที่โรงงาน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2566 ได้รับการตรวจรับรองอย่างเป็นทางการตามมาตรฐานดีมิเตอร์นานาชาติ จาก BFDI (Biodynamic Federation Demeter International) ยังได้เป็นผู้ประกอบการรายแรก ที่ได้รับการรับรองอย่างบูรณาการตั้งแต่ Producer & Processor ตามการยืนยันจากหน่วยงานการตรวจรับรอง International Certification Office (ICO) ของ Biodynamic Ferederation Demter International (BFDI) นอกจากนั้นยังได้เป็นผู้ประกอบการเพาะปลูกและแปรรูปรายแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่ได้รับการรับรอง มาตรฐานที่เป็นที่นิยมในตลาดยุโรป ซึ่งมาตรฐานนี้ถือว่าได้รับรองยากมากที่สุดมาตรฐานหนึ่ง
นอกจากนี้ เมอริโต้ยังมีแนวความคิดที่จะช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกมะพร้าวภายใต้วิถีออร์แกนิคในประเทศ โดยการทำงานร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ในการรับซื้อผลผลิตมะพร้าวออร์แกนิคจากเกษตรกรในราคาที่กลุ่มเกษตรกรเป็นผู้กำหนดเอง
ปรากฏการณ์เอลนีโญ จะนำความแห้งแล้งมาสร้างความเสียหายผลผลิตการเกษตรของไทยแต่หากวางแผนรับมืออย่างดีความเสียหายที่ว่านี้อาจเป็นโอกาสเพราะราคาสินค้าเกษตรที่ดีขึ้นคือ รายได้ที่ดีขึ้น แต่ถ้าบริหารจัดการไม่ดีไม่มี ของขายอาจเท่ากับว่าเราไม่ได้อะไรจากช่วงเวลาที่ผ่านไปกับเอลนีโญเลย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์