ธุรกิจติดตั้งโซลาร์บนหลังคา ภาคส่วนต่างๆ ช่วยได้อย่างไร

ธุรกิจติดตั้งโซลาร์บนหลังคา  ภาคส่วนต่างๆ ช่วยได้อย่างไร

ประเทศไทยมีศักยภาพจากพลังงานแสงอาทิตย์สูง แต่ทำไมการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ยังไม่แพร่หลาย หากดูสถิติการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยแล้ว การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์บนพื้นดิน หรือ โซลาร์ฟาร์ม

มีเพียงประมาณ 2,700 เมกะวัตต์ และจากโซลาร์บนหลังคาที่จดแจ้งมีเพียงประมาณ 145 เมกะวัตต์  (ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)) และยิ่งหากเทียบกับศักยภาพทางเทคนิคของพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยที่มีมากถึง 300 กิกะวัตต์ (จากการศึกษาของ IEA และ CASE) พบว่า ประเทศยังมีศักยภาพอีกมากในการพัฒนา

จุดเด่นของระบบโซลาร์เซลล์ที่ทำให้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น คือ ระบบสามารถผลิตไฟฟ้าได้แม้มีขนาดเล็ก ทำให้สามารถติดตั้งบนหลังคาบ้านหรืออาคารได้ และประโยชน์หลักที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้รับจากการติดตั้งระบบโซลาร์บนหลังคา คือ ผู้ใช้ประหยัดบิลค่าไฟที่ต้องใช้ในช่วงกลางวัน แต่กระบวนการติดตั้งระบบโซลาร์บนหลังคากลับมีความยุ่งยาก ซึ่งเปรียบได้กับการต่อเติมบ้านอาคาร ไม่ว่าจะเป็นด้านค่าใช้จ่ายที่มักเป็นก้อนใหญ่และต้องมีการหาช่างผู้รับเหมามาประเมินราคาและติดตั้ง นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่เป็นข้อจำกัด อาทิเช่น

การเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยมีการปล่อยเงินกู้ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนติดตั้งระบบโซลาร์บนหลังคาจำนวนไม่น้อย แต่มักเน้นไปที่ภาคธุรกิจ หรือมีเงื่อนไขที่จำกัด เช่น ระยะเวลาการให้กู้สั้นและอัตราดอกเบี้ยที่ไม่น่าดึงดูด 

การขออนุญาตและติดตั้งยาก-นาน

ขั้นตอนการขอใบอนุญาตมีความชัดเจน แต่ต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงานราชการหลายแห่ง เช่น ใบอนุญาตก่อสร้าง ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (สำหรับการติดตั้งระบบโซลาร์บนหลังคาขนาดใหญ่) การตรวจสอบทางเทคนิคกับการไฟฟ้า และการขึ้นทะเบียนกับ กกพ. ทำให้ผู้ที่สนใจอาจติดตั้งระบบโซลาร์บนหลังคาแบบไม่ได้ลงทะเบียนอย่างถูกต้อง หรือเกิดความลังเลตัดสินใจไม่ติดตั้ง เนื่องจากไม่ต้องการรับมือกับกระบวนขออนุญาตที่ซับซ้อนและใช้เวลา ประกอบกับการไม่มีระบบติดตามสถานะการขออนุญาตต่างๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่โปร่งใสได้

ความไม่แน่นอนนโยบายของภาครัฐ

การเพิ่มขึ้นของระบบโซลาร์บนหลังคา ทำให้ภาครัฐไม่สามารถเลือกใช้หรือออกแบบเครื่องมือและมาตรการที่เหมาะสมได้ นอกจากนี้ การใช้มาตรการหรือเครื่องมือที่ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ อาจเป็นการส่งสัญญาณที่คลาดเคลื่อน ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอีกด้วย

ข้อจำกัดด้านโครงสร้างกิจการไฟฟ้า

โครงสร้างกิจการไฟฟ้าในปัจจุบันที่เป็นแบบ Enhanced Single Buyer ยังไม่สนับสนุนการเกิดขึ้นของรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เช่น Peer-to-peer (P2P) Energy Trading ซึ่งเป็นการซื้อขายไฟฟ้ากันโดยตรงระหว่าง Prosumer หรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่สามารถผลิตไฟฟ้า (จากระบบโซลาร์บนหลังคา) ได้เอง ผ่านโครงข่ายไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ตลาดโซลาร์บนหลังคาขยายตัวขึ้นได้

ประเทศไทยต้องปรับอย่างไร

       ในฐานะของผู้กำหนดนโยบาย ภาครัฐควรมีทิศทางการสนับสนุนอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง เพื่อให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไปเกิดความเชื่อมั่นและตัดสินใจติดตั้งโซลาร์บนหลังคา ตัวอย่างเช่น นโยบายการรับซื้อคืนไฟฟ้า (Net Billing) ที่การกำหนดราคารับซื้อ ยึดหลักการประเมินคุณค่าของโซลาร์ (Value of Solar) ที่แท้จริงต่อระบบไฟฟ้า และ มาตรการทางภาษี เพื่อลดต้นทุนทางการเงินในการติดตั้ง มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ตลาดโซลาร์ในประเทศเติบโต

อีกประเด็นที่สำคัญ คือ การเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access (TPA))  ซึ่งจะทำให้มีการซื้อขายกันได้เองระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า โดยมีการเก็บค่าบริการสายส่งไฟฟ้า (Wheeling Charge) ที่สะท้อนต้นทุนจริงของการใช้งานสายส่ง และในอนาคต การทำสัญญาซื้อขายเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตไฟฟ้า ต้องมีการทบทวนรูปแบบสัญญา ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีการจัดการพลังงานด้านผู้ใช้ (Demand-side management) และระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้ระบบไฟฟ้าในอนาคต และรองรับปริมาณการเพิ่มขึ้นของโซลาร์บนหลังคา

การแก้ปัญหาร่วมกันของทุกภาคส่วน จะนำไปสู่การใช้ศักยภาพของพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล สร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน