SDGs กับ วิกฤติอาหารโลก | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
โลกทุกวันนี้กำลังเผชิญกับวิกฤติการขาดแคลนอาหาร (Food Crisis) ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ และยังมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นอีกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
United Nations World Food Programme (WFP) ประมาณการว่า มีคนเกือบ 830 ล้านคนทั่วโลก (หรือประมาณร้อยละ 10 ของคนทั้งหมดบนโลก) ที่ไม่ทราบว่าอาหารมื้อต่อไปจะมาจากที่ไหน และจะได้กินหรือไม่
วิกฤติการขาดแคลนอาหารรอบนี้ ไม่ได้เป็นปัญหาของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น เพราะคนที่ขาดอาหารกระจายอยู่ทุกทวีปทั่วโลก อยู่ทั้งในพื้นที่เมืองและชนบท
สาเหตุของวิกฤติมาจากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ตั้งแต่ปัญหาสงครามและความขัดแย้งในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในยูเครนซึ่งเป็นผู้ผลิตธัญพืชและปุ๋ยรายใหญ่ของโลก สภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลายพื้นที่ในโลกไม่สามารถทำการเกษตรได้เหมือนเดิม และมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น
เศรษฐกิจของหลายประเทศก็ขาดเสถียรภาพ โดยเฉพาะค่าเงินอ่อนค่าลง ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อสูงมาก โดยเฉพาะราคาอาหารแพงขึ้นด้วย ตลอดจนผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้คนจำนวนมากตกงาน ขาดรายได้ ฐานะทางการเงินติดลบ หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น
นอกจากนี้ ฐานะการคลังของรัฐบาลหลายประเทศก็เสื่อมถอยลง รัฐบาลไม่สามารถจัดสวัสดิการดูแลประชาชนได้มากเหมือนที่ผ่านมา องค์กรระหว่างประเทศที่ช่วยเหลือเรื่องมนุษยธรรมก็ถูกลดงบประมาณลงมาก จึงไม่สามารถดูแลคนที่หิวโหยได้มากเหมือนเดิม ภาวะขาดแคลนอาหารก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เรื่องที่น่าเป็นห่วง ก็คือเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งหมายถึงโอกาสในการหารายได้ของคนจำนวนมากจะลดลง ในขณะที่ราคาอาหารก็เพิ่มสูงขึ้นมาก
ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา การพัฒนาในด้านอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แม้จะสร้างความเจริญและทันสมัยให้แก่หลายๆ ประเทศ แต่ก็เป็นการพัฒนาที่ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อทรัพยากรโลกเป็นอย่างมากด้วย
ระยะเวลา 15 ปีผ่านไป (พ.ศ.2543-2558) “เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ” (Millennium Development Goals : MDGs) ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในหลายประเทศ
“องค์การสหประชาชาติ” จึงเห็นถึงความสำคัญของความต่อเนื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาขึ้นใหม่ โดยอาศัยกรอบความคิดที่มองการพัฒนาเป็น “มิติ” (Dimensions) ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้มีความเชื่อมโยงกัน
เรียกว่า “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งจะใช้เป็นทิศทางของการพัฒนาตั้งแต่เดือน ก.ย.2558 ถึง เดือน ส.ค.2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี โดยประกอบไปด้วย 17 เป้าหมาย
ใน 17 เป้าหมายของ SDGs นั้น เป้าหมายที่ 2 จะเกี่ยวข้องกับ “การกำจัดความหิวโหย” ด้วยการสร้างความมั่นคงใน “ห่วงโซ่อาหาร” ซึ่งยึดโยงกับ “การเกษตรที่ยั่งยืน”
เป้าหมายที่ 2 ของ SDGs ก็คือ “No Hunger” หมายถึง ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริม “เกษตรกรรมที่ยั่งยืน” ด้วยการปฏิบัติ (โดยย่อ) ดังนี้ต่อไปนี้
(1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะ คนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบางอันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหาร ที่ปลอดภัย มีโภชนาการ และเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
(2) ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบและแก้ไขปัญหาความต้องการสารอาหารของหญิงวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้สูงอายุ ภายในปี 2573
(3) เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาหารรายเล็ก โดยเฉพาะผู้หญิง คนพื้นเมือง เกษตรกรแบบครอบครัว คนเลี้ยงปศุสัตว์ ชาวประมง ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
(4) สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน และดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต
(5) คงความหลากหลายทางพันธุกรรมของเมล็ดพันธุ์ พืชที่ใช้เพาะปลูก สัตว์ในไร่นาและที่เลี้ยงตามบ้านเรือน และชนิดพันธุ์ตามธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับพืชและสัตว์เหล่านั้น
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีจุดแข็งด้านการเกษตรที่ยั่งยืน และเป็น “ห่วงโซ่อาหาร” ที่ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ (พืชผลทางการเกษตร) กลางน้ำ (โรงงานแปรรูปอาหาร) และปลายน้ำ (ผลิตภัณฑ์อาหาร) ซึ่งสามารถบรรลุ “เป้าหมายที่ 2” ของ SDGs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมๆ กับการเพิ่มขีดความสามารถในการเป็น “ครัวของโลก” ได้ด้วย
ทุกวันนี้ SDGs ทั้ง 17 ข้อ ใน 3 มิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องที่เราควรจะต้องศึกษาเรียนรู้และลงมือปฏิบัติกันอย่างจริงจัง ตามพันธกรณีของ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวโลก ครับผม!