“กฟผ.” เดินหน้า CSR ไม่ใช่แค่การปลูกป่า เศรษฐกิจชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน
CSR ไม่ใช่แค่ปลูกป่าแล้วจบ แต่เป็นการรักษาป่าควบคู่ชุมชนโดยสร้างรายได้จากป่าและการขายคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้เสริม
ซึ่งในปัจจุบันป่าไม้ในไทยลดลงเป็นจำนวนมากส่วนหนึ่งเกิดจากการทำไร่ ทำสวน ของเกษตรกรที่เป็นการเกษตรจากพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และการทำนา ทำให้เกิด“เขาหัวโล้น”เป็นจำนวนมาก
ดังนั้น การปลูกป่าควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจึงเป็นทางออกที่ทำให้เกิดผลดีต่อโลก ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างรายได้เลี้ยงชีพให้ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆได้ด้วย ส่วนผลทางตรงที่ได้คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเงื่อนไขทางการทำธุรกิจเปิดโอกาสให้นำขีดความสามารถการดูดซับคาร์บอนนี้ไปขายเป็นคาร์บอนเครดิตได้
โมเดล“ปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วมผ่านกลไกคาร์บอนเครดิตแบบผูกพัน” (Contract T-VER Farming) ภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูกพืชผสมผสาน
ระหว่างพืชเศรษฐกิจอย่าง มะคาเดเมีย อะโวคาโด กาแฟ กล้วย ควบคู่กับการปลูกไม้ผลยืนต้นที่มีเนื้อไม้และมีวงปี อย่าง ลำไย มะขามป้อม มะม่วง เมื่อต้นไม้เติบโตขึ้นก็จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มพื้นที่ป่าถาวรในชุมชน สามารถนำคาร์บอนเครดิตมาขายได้ ภายใต้การดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง ทั้งจัดหากล้าพันธุ์ไม้ พัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำในสวน รวมถึงรับซื้อและนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร และจัดหาตลาดรองรับผลผลิตต่าง ๆ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถสร้างรายได้ให้กับอย่างยั่งยืนโดยมีพื้นที่เป้าหมายนำร่องที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน จ.เชียงราย จำนวน 22.5 ไร่
สำหรับในช่วงปีที่ 1-3 เกษตรกรจะมีหน้าที่ปลูกต้นไม้แบบวนเกษตรตามการออกแบบพื้นที่ของมูลนิธิโครงการหลวงและบำรุงดูแลรักษาต้นไม้ให้อยู่รอด จากนั้นในปีที่ 4 จะเริ่มสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากพืชวนเกษตรเป็นรายได้ให้กับตนเองและชุมชน และในปีที่ 5 จะมีรายได้เสริมจากการขายคาร์บอนเครดิตอีกทางหนึ่ง
วุฒิชาติ ลาดสีทา เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า มีความตั้งใจเปลี่ยนไร่ข้าวโพดเป็นป่าชุมชน เพราะเห็นว่า การปลูกข้าวโพดที่ผ่านมาไม่ยั่งยืน หากฝนทิ้งช่วงก็จะขาดทุน เมื่อคนอยู่ไม่ได้ก็จะบุกรุกป่าไปเรื่อย ๆ ทิ้งที่ดินเก่าให้กลายเป็นเขาหัวโล้น จึงเชื่อว่าการเริ่มนับหนึ่งปลูกป่าในวันนี้จะทำให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน
“ผมคิดว่าสิ่งที่จะได้มันมากกว่ารายได้ที่เราจะมี คือสุดท้ายป่ากลับมาและเลี้ยงเราได้ จึงมีความตั้งใจทำตรงนี้เป็นแบบอย่างให้ดี เกิดประโยชน์ขึ้นมาก่อน และเชื่อว่าเกษตรกรคนอื่นจะทำตามโดยธรรมชาติเพราะเห็นว่าป่าเลี้ยงเราได้”
ประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า ทางด้าน กฟผ. จะเข้ามาร่วมสนับสนุนองค์ความรู้ด้านคาร์บอนเครดิต จัดเก็บข้อมูลต้นไม้และพื้นที่ปลูกให้เป็นไปตามมาตรฐานของโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) เพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับรองคาร์บอนเครดิตจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ตลอดจนรับซื้อคาร์บอนเครดิตจากเกษตรกร
สำหรับราคาคาร์บอนเครดิตขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการส่งออกหรือตามความต้องการตลาด โดยเฉพาะมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM ที่คาดว่าจะบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ทำให้ความต้องการคาร์บอนเครดิตในตลาดสูงขึ้นตามไปด้วย
“คาร์บอนเครดิต คือคุณค่าของการกักเก็บคาร์บอนไว้ในต้นไม้คล้าย ๆ กับการฝากธนาคาร เมื่อต้นไม้เติบโตขึ้นก็สามารถเอาคาร์บอนเครดิตมาขายได้ แต่ส่วนสำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการสร้างป่าขึ้นมาด้วยสองมือของพวกเขา แล้วเติบโตเป็นป่าเศรษฐกิจที่จะกลับมาเลี้ยงชุมชน ในขณะที่ประเทศไทยก็จะมีป่าเพิ่มขึ้น ช่วยทั้งลดโลกร้อน แก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันได้อย่างเป็นระบบ”
การปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วมด้วยคาร์บอนเครดิตแบบผูกพันถือหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าทุกองคาพยพ ทั้งเกษตรกรที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการดูแลรักษาป่า มูลนิธิโครงการหลวงซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาเกษตรบนพื้นที่สูงและการดูแลรักษาป่า และ กฟผ. ที่เป็นองค์กรในการสนับสนุนการปลูกและรักษาป่ามาตั้งแต่ปี 2537 โดยใช้กลไกคาร์บอนเครดิต สร้างรายได้ให้กับชุมชนและเกษตรกรควบคู่ไปกับการดูแลรักษาป่า ลดภาวะโลกร้อน และลดการทำลายป่าได้อย่างยั่งยืน