“ไฮโดรเจน” พลังงานสะอาดตอบโจทย์อนาคต

ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า พลังงานไฮโดรเจน เป็นการนำก๊าซไฮโดรเจนมาใช้เพื่อผลิตเชื้อเพลิง เป็นเชื้อเพลิงผสมเพื่อผลิตไฟฟ้า รวมถึงนำไฮโดรเจนมาใช้ เป็นเซลล์เชื้อเพลิง โดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษในการใช้งาน
พลังงานไฮโดรเจนแบ่งออกเป็นหลายประเภทขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตและสารตั้งต้นที่นำมาผลิต ซึ่งไฮโดรเจนสีเขียวถือเป็นเชื้อเพลิงที่มีการเผาไหม้ที่มีประสิทธิภาพสูง สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปราศจาก การปล่อยมลพิษ และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่นำมาใช้ทดแทนพลังงานดั้งเดิมในด้านต่างๆ ได้ อย่างการใช้งานพลังงานไฮโดรเจน ได้แก่ ใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ จรวด ใช้ในครัวเรือน หรือในเซลล์เชื้อเพลิงต่างๆ
ไฮโดรเจนมีคุณสมบัติ คือ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ติดไฟง่าย มีความสะอาดสูง ไม่เป็นพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงถูกคาดหมาย และได้รับยอมรับว่าจะเป็นแหล่งของพลังงานเชื้อเพลิงที่สำคัญอย่างมากในอนาคต ประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก เช่น สหรัฐ เยอรมนี อังกฤษและญี่ปุ่น ได้มีการวิจัยและพัฒนาในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ทั่วโลกต่างมุ่งเป้าและประกาศนโยบายลดโลกร้อน ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานถือเป็นกลุ่มที่ปล่อยคาร์บอนอันดับสูงสุด ซึ่งปัจจัยหลักของอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า ดังนั้นการแสวงหาเทคโนโลยีภาคพลังงานไฟฟ้าที่เป็นสีเขียวจึงสำคัญเพื่อทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น
นักวิเคราะห์ด้านพลังงานของ GlobalData ให้ข้อมูลว่ามีดีลเกี่ยวกับไฮโดรเจนกว่า 393 ดีล เกิดขึ้นในปี 2565 เพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับ 277 ดีล ในปี 2564 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการพัฒนาตลาดไฮโดรเจนที่เติบโตขึ้น คาดว่า กำลังการผลิตไฮโดรเจนทั่วโลก จะสูงถึง 4.5 ล้านตันต่อปี ภายในสิ้นปี 2566 โดยคิดเป็นการเติบโต 165% เมื่อเทียบกับปี 2565 และเพิ่มเป็น 71 ตันต่อปี ภายในปี 2573
สัดส่วนพลังงานจากฟอสซิลจะลดลงจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของพลังงานทดแทน โดยสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์และลมจะเพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 2000 เป็น 45-70% ในปี 2050 ทั้งนี้ พลังงานจากไฮโดรเจน จะเริ่มเข้ามามีประโยชน์บทบาทในอนาคต
สำหรับประโยชน์จากการปรับแผนพลังงานสู่ Low Carbon Economy ประกอบด้วย
1.สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ลดการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพต่ำ 2.เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย รองรับรูปแบบการค้ากลไกผ่านภาษีคาร์บอน 3.เพิ่มการลงทุนและการจ้างงาน ในระบบเศรษฐกิจประเทศจากการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานสะอาด 4. บรรเทาปัญหามลพิษ PM 2.5 และ 5.ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์วิกฤตโควิด-19
กระทรวงพลังงานได้กำหนดนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของประเทศให้ได้ 20.3% ของการใช้พลังงานขั้น สุดท้ายในปี 2565 จึงกำหนดให้มีการใช้พลังงานไฮโดรเจนในภาคคมนาคมขนส่งในปริมาณ 1 แสนกิโลกรัม ในปี 2560 เป็นต้นไป เพื่อ ทดแทนการนำเข้าน้ำมันและลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากพลังงานไฮโดรเจนเป็นพลังงานที่สะอาด และสามารถ ผลิตได้จากวัสดุตั้งต้นหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นน้ำ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซชีวภาพชีวมวล ฯลฯ
ดังนั้นการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนยังมีความท้าทายด้านต้นทุนที่มีราคาสูง และการเชื่อมต่อประสานงานกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ทั้งในระดับงานวิจัยและการนำไปประยุกต์ใช้ ดังนั้น ต้องได้รับการสนับสนุนกรอบนโยบายที่ชัดเจนจากภาครัฐ ที่จะช่วยเร่งให้เกิดการพัฒนาและลงทุนเทคโนโลยีใหม่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึง การส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน