“สินเชื่อ BCG Model”ลดขีดจำกัด ปรับข้อเสนอการเงินเพื่อความยั่งยืน
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ตามแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569
ซึ่งประกอบด้วย 4 สาขายุทธศาสตร์คือ 1.เกษตรและอาหาร 2. สุขภาพและการแพทย์ 3.พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ 1 ฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม
ล่าสุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ส่งเสริมและสนับสนุนเงินทุนให้กับเกษตรกร บุคคล นิติบุคคล กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตร ผ่านสินเชื่อ BCG Model วงเงินรวม 35,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. สินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy Credit) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้เพิ่มศักยภาพในการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต
2. สินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Credit) เพื่อสนับสนุนการลดปริมาณของเสียให้เท่ากับศูนย์ (Zero waste) โดยนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนการนำวัสดุกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และแปรสภาพกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)และ 3. สินเชื่อสีเขียว (Green Credit) เพื่อสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์หรือการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety)ร ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาด รวมถึงการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ เพื่อจูงใจให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตร หันมาปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยธ.ก.ส. กำหนดอัตราดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าที่อยู่ในช่วงเริ่มโครงการและอยู่ระหว่างการรับรองมาตรฐาน กรณีเป็นเกษตรกร บุคคล อัตราดอกเบี้ย MRR ต่อปี (MRR เท่ากับ 6.975% ต่อปี)และนิติบุคคล กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตร อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี (MLR เท่ากับ5.625%) และกรณีที่ลูกค้าได้รับการรับรองมาตรฐาน สำหรับเกษตรกร บุคคล จะคิดอัตราดอกเบี้ย MRR -1 ต่อปี และนิติบุคคลคิดอัตราดอกเบี้ย MLR -0.5 ต่อปี
นอกจากนี้ ธนาคารออมสิน ยังมี สินเชื่อ GSB For BCG Economy สำหรับลูกค้าทุกประเภทอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงไฟฟ้าอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง อุตสาหกรรมอาหารและการแปรรูป อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ฯลฯพิจารณาตามความจำเป็นและความสามารถในการชำระหนี้ของกิจการ ทั้งนี้ กรณีเป็นบุคคลธรรมดาให้กู้เกินกว่า 1,000,000 บาทขึ้นไปเงินกู้ระยะสั้น ระยะเวลาชำระเงินกู้ไม่เกิน 1 ปี ทบทวนวงเงินทุกปี
เงินกู้ระยะยาว ระยะเวลาชำระเงินกู้ไม่เกิน 10 ปี โดยจะให้ปลอดชำระหนี้เงินต้น ไม่เกิน 2 ปี ในกรณีที่มีระยะเวลาชำระเงินกู้ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป
ส่วน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ออก “สินเชื่อ BCG Loan” วงเงิน 1,000 ล้านบาท ควบคู่กับเติมความรู้ผ่าน “โปรแกรมพัฒนา” ติดปีกเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนซึ่งเป็นบริการทางการเงินครบวงจร มีทั้งเงินกู้ระยะยาว (Term Loan) เงินกู้ระยะสั้น (PN) และหนังสือค้ำประกัน (LG) วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 3.99% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 12 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 2 ปี วัตถุประสงค์เพื่อให้ SMEs มีเงินทุนพัฒนาต่อยอดธุรกิจตามแนวทาง BCG Model เช่น ลงทุน ปรับปรุง ขยาย หรือปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ หมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง หรือ Refinance เป็นต้น
การปรับทิศทางธุรกิจสู่ความยั่งยืนภายใต้กรอบ BCG Model ก็มีความจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือทางการเงินเป็นกำลังสำคัญแต่ข้อเสนอของแบงค์ต่างๆนับเป็นการลดข้อจำกัดทางการเงินเพื่อเป้าหมายทางธุรกิจและความยั่งยืนที่ต้องก้าวไปพร้อมๆกัน