'เอลนีโญ' สัญญาณเตือนวิกฤติ จากภาวะโลกร้อน สู่ภาวะโลกแล้ง

'เอลนีโญ' สัญญาณเตือนวิกฤติ จากภาวะโลกร้อน สู่ภาวะโลกแล้ง

เอลนีโญ เป็นสัญญารเตือนว่า โลกเรากำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ไม่เพียงแค่โลกร้อน แต่กำลังก้าวสู่ภาวะโลกแล้ง กลายเป็นความท้าทายของภาคการเกษตรและการบริหารจัดการน้ำของไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้นๆ ของโลก

Key Point :

  • เอลนีโญ ได้ปรากฏขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา และถูกคาดการณ์ว่า จะส่งผลต่อเนื่องยาวนานนับปี
  • เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมาพูดถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นว่า 'ภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และโลกกำลังย่างก้าวเข้าสู่ภาวะโลกเดือด'
  • อีกทั้ง หอการค้าไทย คาดว่า เอลนีโญ จะสร้างผลกระทบต่อภาคการเกษตรไทยในปี 2566 เสียหายราว 4.8 หมื่นล้านบาท

 

ในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งทวีปเอเชียและประเทศไทย องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization)ได้ออกมาระบุว่า ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่าง เอลนีโญ ได้ปรากฏขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา และถูกคาดการณ์ว่า จะส่งผลต่อเนื่องยาวนานนับปี

 

ปรากฎการณ์ดังกล่าว จะส่งผลให้อุณหภูมิในหลายๆ พื้นที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะแห้งแล้งผิดปกติ และอาจเกินเป้าหมายที่โลกอยากจำกัดไว้ที่ 1.5 องศาในช่วงเวลาหนึ่งใน 5 ปีข้างหน้า โดยเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ถูกบันทึกว่า เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดทำลายสถิติที่มีการบันทึกมาเรียบร้อยแล้ว เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมาพูดถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นว่า 'ภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และโลกกำลังย่างก้าวเข้าสู่ภาวะโลกเดือด' โดยได้พยายามเน้นย้ำความร่วมมือของโลกในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เร็วขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ขณะเดียวกัน การเกษตร นับเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย ไม่ว่าจะเป็นข้าว อันดับ 2 ของโลก ปลากระป๋อง อันดับ 1 ของโลก มันสำปะหลัง อันดับ 1 ของโลก และสัปปะรดกระป๋อง อันดับ 1 ของโลก ที่ผ่านมา หอการค้าไทย คาดการณ์ว่า เอลนีโญ จะสร้างผลกระทบต่อภาคการเกษตรไทยในปี 2566 เสียหายราว 4.8 หมื่นล้านบาท โดยพืชที่กระทบมากได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ โดยข้าว เป็นพืชที่เสียหายมากที่ 37,631 ล้านบาท หรือเกือบ 80% ของความเสียหายภาคเกษตรทั้งหมด

 

วิกฤติเอลนีโญ จึงกลายเป็นความท้าทายของภาคการเกษตรและการบริหารจัดการน้ำของไทย ในช่วงเวลาที่ข้าวราคาสูง แต่น้ำกลับมีแนวโน้มไม่เพียงพอ ชาวนาที่ลงทุนปลูกข้าวในช่วงนี้จึงต้องลุ้นว่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือเป็นความเสี่ยง

 

'รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์' ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา MQDC และผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในงานเสวนา DIALOGUE FORUM 2 l YEAR 4: El Nino, จากโลกร้อน สู่โลกแล้ง โดยอธิบายว่า มีการคาดการณ์ว่า เดือนกันยายน – พฤศจิกายน ทั่วโลกจะอุณหภูมิจะสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 1 องศา แต่ที่หนักที่สุด คือ ยุโรป ญี่ปุ่น จากคลื่นความร้อน ขณะที่เอลนีโญ คาดการณ์ 3 เดือน ข้างหน้า ปี 2566 ในเดือนกันยายน จะยังมีฝน แต่พอเข้าตุลาคม ฝนจะหายไป

 

ดังนั้น ปลูกข้าวตอนนี้ต้องมีน้ำสำรอง ปลายฝนปีนี้ไม่ค่อยดี ดังนั้น คนที่ปลูกข้าวตอนนี้ใช้น้ำฝนอย่างเดียวไม่ได้ โดยช่วงที่น่าห่วงที่สุด คือ พฤศจิกายน – ธันวาคม 2566 และจะลดลงเรื่อยๆ จนถึงกลางปีหน้า ดังนั้น ต้นฤดูฝนปีหน้าเข้าเดือน พฤษภาคม ปี 2567 ไม่ค่อยดี เป็นสัญญาณเตือนว่ากรมชลประทานต้องสำรองน้ำ

 

\'เอลนีโญ\' สัญญาณเตือนวิกฤติ จากภาวะโลกร้อน สู่ภาวะโลกแล้ง

 

 

ทั้งนี้ หากดูปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 35 แห่ง ข้อมูลจาก คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2566 พบว่า ความจุทั้งหมด รวม 70,928 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำ 39,131 ล้าน ลบ.ม. (55%) ใช้การได้จริง 15,594 ล้าน ลบ.ม. (22%) น้ำไหลลง 110 ล้าน ลบ.ม. น้ำระบาย 86 ล้าน ลบ.ม.

 

เพิ่ม 3 มาตรการรับมือเอลนีโญ

 

ฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ภาคการเกษตรส่วนใหญ่ไม่ได้ปลูกในพื้นที่เขตชลประทาน นโยบายของ สทนช. มีการประเมิน 2 ส่วน คือ 1. ส่วนของพื้นที่ชลประทาน แหล่งน้ำต้นทุน การคาดการณ์แหล่งน้ำต้นทุน พื้นที่เพาะปลูก และแนวทางในการช่วยเหลือประเมินตามมาตรการที่กรมชลประทานต้องดูแล และ 2. พื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งทำการเกษตรไม่ได้หากไม่มีแหล่งน้ำ เช่น จ.นครราชสีมา หากฝนไม่ตกก็ต้องขอฝนหลวง หรือในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ ทางกรมทรัพยากรน้ำ ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร จะมีการประเมิน และแนะนำว่าสามารถปลูกได้เท่าไร

 

“เรื่องของ เอลนีโญ สทนช. มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยการประเมินและมีมาตรการรองรับในการเก็บกักน้ำ หาแหล่งน้ำสำรอง และทำฝนหลวงในพื้นที่ที่ฝนไม่ตก โดยฤดูฝนปี 2566 มีทั้งสิ้น 12 มาตรการ ที่ ครม. เห็นชอบเมื่อ 9 พฤษภาคม 2566 รวมถึง เพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ 3 มาตรการ ตลอดช่วงฤดูฝน ได้แก่ 1. จัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด 2. ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และ 3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ”

 

ทั้งนี้ มีการส่งเสริมไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สร้างแหล่งเก็บกักน้ำขนาดเล็ก ซึ่งลงไปดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ เช่น จ.นครราชสีมา แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค หรือ การเกษตรเริ่มหมด แต่มีแหล่งน้ำอื่นระยะทาง 4-5 กิโลเมตร พร้อมขับเคลื่อนให้ อปท. ดำเนินการ ขณะเดียวกัน พื้นที่ในเขตชลประทาน หากปลูกล็อตพืชแรกน้ำไม่พออย่างน้อยต้องหาวิธีเสริมน้ำ เช่น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ เป็นต้น

 

สำรองแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตร 

 

สำหรับ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ จ.ชัยนาท ซึ่งมีพื้นที่การเกษตรอย่างการปลูกข้าว ที่ชาวบ้านใช้หล่อเลี้ยงชีพ และ 'น้ำ' ก็เป็นส่วนสำคัญ 'ประฏิพัทร์ กล่ำเพ็ง' ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ จ.ชัยนาท เผยว่า ในพื้นที่ ขึ้นตรงกับ สำนักชลประทานที่ 10 มีนโยบายจัดสรรและขอน้ำเพิ่มเข้ามาเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรช่วงที่ทำไปแล้วให้รอดซึ่งคาดจะเก็บเกี่ยวในเดือน ส.ค. นี้ และด้วยราคาข้าวขณะนี้ซึ่งอยู่ที่ 12,000 บาทต่อตัน คาดว่าเกษตรกรจะทำนาล็อตที่สองกันอีกแน่นอน

 

เนื่องจากปริมาณน้ำที่ค่อนข้างจำกัด สำนักชลประทาน มีช่วงจัดสรรรอบเวรน้ำ ให้สูบ 7 วัน และหยุดสูบ 7 วัน ดังนั้น กลุ่มผู้ใช้น้ำ จึงได้เตรียมแผนสำรองโดยการสำรวจแหล่งน้ำทุกแหล่งในพื้นที่ และพยายามเติมเต็มรองรับน้ำฝนที่ไหลลงในบึงเหล่านี้ โดยขณะนี้ น้ำในพื้นที่มีอยู่ราว 80% ของแหล่งน้ำ

 

นโยบายจากทางภาครัฐที่บอกว่าให้ลดการทำนาต่อเนื่อง แต่ความจริง คือ ลูกก็ต้องเรียน ข้าวก็ต้องกิน ของก็ต้องใช้ ให้เปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกข้าวโพดก็ทำไม่ได้เพราะขึ้นอยู่กับสภาพดินด้วย นโยบายพืชใช้น้ำน้อยเป็นนโยบายที่ดีแต่อาจจะใช้ได้บางพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยง และพื้นที่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน เราไม่สามารถนำเสื้อตัวเดียว มาใช้ได้ทั้งประเทศ

 

“ปัญหาการบริหารจัดการ เป็นความทับซ้อนของพื้นที่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ จึงตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งหมด และให้อำนาจการบริหารจัดการน้ำ และมีกรมชลประทานเป็นพี่เลี้ยงกำหนดแนวทางนโยบาย เช่น ฤดูน้ำแล้ง มีการบริหารจัดการน้ำโดยการจัดสรรน้ำ ก็จะแจ้งมายังกลุ่ม เป็นการช่วยบริหารจัดการร่วมกัน” ประฏิพัทร์ กล่าว