เปิดเกณฑ์ประกันภัยรถไฟฟ้า ยึดมูลค่าแบตเตอรี่เป็นเกณฑ์

จากกระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มมากขึ้นอ้างอิงข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า ปี 2565 มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนมากกว่า 6 เท่า และถือเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของรถยนต์ที่จดทะเบียนใหม่ทั้งหมด
“อุบัติเหตุ” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะบนท้องถนน แม้จะระมัดระวังเพียงใดก็ตาม ดังนั้น เมื่อบนถนนมีสัดส่วนEVเพิ่มขึ้นอุบัติเหตุก็มีแนวโน้มเกิดขึ้นได้ด้วยเช่นกัน“ระบบการประกันภัย”จึงเป็นสิ่งที่ต้องมาควบคู่กับการเติบโตของอีวี และรูปแบบของอุบัติเหตุจากอีวีจะเป็นอย่างไร
สุรชัย ไตรวิทยางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด(มหาชน) เล่าว่าอัตราการเกิดเหตุ (Loss Ratio) นั้นจะกลับขึ้นมามากเป็นปกติเหมือนก่อนโควิด คือ 65-70% รูปแบบความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่มี 5 รูปแบบ ดังนี้1.“ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย” เนื่องจากมีการปรับความคุ้มครอง รวมกับการใช้รถที่เพิ่มขึ้นและค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้น 2.“ความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก” ค่าสินไหมทดแทนจะเพิ่มขึ้น ตามการใช้รถที่เพิ่มขึ้น
3. “ความเสียหายต่อตัวรถ ส่วนของตัวถัง และอะไหล่ 13 ชิ้นหลัก เพิ่มขึ้นจากเดิม 4. “เพิ่มเติมความเสียหายต่อแบบเตอร์รี่”มีราคาประมาณ 50% ของราคารถ และ 5. “ค่าแรงเพิ่มขึ้น” เนื่องจากต้องใช้ช่างผู้มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีที่สูงกว่า ดังนั้น เมื่อรวมกันแล้ว ค่าสินไหมทดแทนของรถยนต์ EV จะเพิ่มขึ้นจากปกติราว 15-20 %
ส่วนการคิดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ EV ของบริษัท จะใช้การคำนวณเป็นไปตามความเสี่ยงภัยที่แท้จริงซึ่ง มีเพิ่มเติมความเสียหายต่อแบบเตอร์รี่ซึ่งมีราคาประมาณ 50% ของราคารถ และทางด้านสถาบันการเงินยังคงให้สินเชื่อรถยนต์ EV ตามปกติ
โดยในช่วงครึ่งแรกปีนี้ (เดือนม.ค.-มิ.ย.2566) บริษัทมีเบี้ยประกันภัยรถยนต์ EV ประเภท 1 มูลค่า 192 ล้านบาท จำนวน 8,714 คัน ใกล้เคียงทั้งปี 2565 มูลค่า121 ล้านบาท จำนวน 5,249 คัน
ขณะเดียวกัน รายงานข่าวล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)และ ภาคธุรกิจประกันวินาศภัยอยู่ระหว่างการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยและกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย สำหรับรถยนต์ EV คาดว่าน่าจะเสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้เพื่อเร่งหาข้อยุติแก้ไขปัญหาเบี้ยประกันภัยรถยนต์ EV แพงเพื่อสนองนโยบายรัฐบาลและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย
ปรมาศิริ มโนลม้าย รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจประกัน ธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยพาณิชย์ โพรเทค จำกัด กล่าวว่า ข้อมูลสถิติการเกิดเหตุ ซึ่งต้องยอมรับว่า ปัจจุบันข้อมูลสถิติการเกิดเหตุ และค่าอะไหล่ ยังมีน้อยมาก จึงส่งผลให้ค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ EV สูงกว่ารถที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิง แต่อย่างไรก็ตาม มองว่า ด้วยแนวโน้มความนิยมรถยนต์ EV ที่เพิ่มมากขึ้นจะทำให้บริษัทประกันมีข้อมูลเพียงพอต่อการนำไปคำนวณเบี้ยประกันภันซึ่งปัจจัยนี้จะส่งผลทำให้ค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ EV ในอนาคตอาจจะถูกลงกว่าปัจจุบัน
ส่วนการเคลมสินไหมทดแทนของรถยนต์ EV พบว่า พฤติกรรมการเคลมส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากรถที่ใช้น้ำมัน แต่มีสิ่งที่เพิ่มมา คือการเคลมแบตเตอรี่ EVเนื่องจากแบตเตอรี่ EV ส่วนใหญ่จะอยู่ใต้ท้องรถ ซึ่งหากเกิดการครูดใต้ท้องรถยนต์ไม่ว่าจะหนักหรือเบา จะส่งผลทำให้แบตเตอรี่ EV เกิดความเสียหาย และหากความเสียหายถึงขั้นไม่สามารถซ่อมได้ การเปลี่ยนแบตเตอรี่ EV ใหม่จะมีมูลค่าสูงมากถือเป็นเหตุให้บริษัทประกันบางบริษัทออกเงื่อนไขไม่คุ้มครองแบตเตอรี่ EV หรือคุ้มครองแบตเตอรี่ EV ด้วยการจำกัดวงเงินความคุ้มครอง
กรณีนี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อประกันรถยนต์ EV ซึ่งทาง ไทยพาณิชย์ โพรเทค ในสถานะนายหน้าได้ช่วยให้คำแนะนำพร้อมให้รายละเอียดที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกประกันที่เหมาะกับตัวเอง
ส่วนยอดจดทะเบียนรถยนต์ EV ใหม่ในปีนี้เติบโตสูงมากเมื่อเทียบกับภาพรวมจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจในไตรมาสแรกปีนี้ เติบโตเพียงแค่ 3.3% สำหรับอนาคตของเบี้ยประกันรถยนต์ EV จากข้อมูลของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้ทำการสำรวจพบว่า 65% ของกลุ่มตัวอย่างสนใจและสนใจมากในการซื้อรถยนต์ EV เป็นคันถัดไป และผลสำรวจกับผู้ใช้รถยนต์ EV พบว่า 48.6% พอใจกับค่าใช้จ่ายด้านการเติมพลังงานที่ลดลง 44.8% พอใจกับค่าใช้จ่ายด้านบำรุงรักษาที่ลดลง 48% พอใจกับสมรรถนะการขับขี่ที่เพิ่มขึ้น
จากผลสำรวจนี้ทำให้ บริษัทไทยพาณิชย์ โพรเทคมั่นใจในการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเบี้ยประกันรถยนต์ EV จะเพิ่มมากกว่า 300% ต่อปีในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า
“อย่างไรก็ตามเนื่องจากรถยนต์ EV ใหม่ป้ายแดงส่วนใหญ่ได้รับความคุ้มครองประกันรถยนต์ในปีแรกจาก ดีลเลอร์รถยนต์ ซึ่งจะเป็นลักษณะแคมเปญร่วมกันระหว่างค่ายรถยนต์ และบริษัทประกันภัย เราคาดว่า ในส่วนของประกันภัยรถยนต์ EV ผ่านช่องทางนายหน้า (โบรกเกอร์ประกันภัย) จะเริ่มมีสัดส่วนรถยนต์ EVเพิ่มมากขึ้นในปีถัดๆ ไป”
ด้านหลักเกณฑ์การคิดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ EVในปัจจุบัน ไม่ได้แตกต่างจากรถยนต์ทั่วไปที่ใช้ ยี่ห้อ รุ่น ปีจดทะเบียน จะมีเปลี่ยนบ้างจากขนาด cc เครื่องยนต์ มาเป็นขนาดความจุแบตเตอรี่ (KW)