ธรรมชาติ : ต้นทุนสำคัญมากที่ไม่ควรละเลย
ขณะที่เรากำลังง่วนอยู่กับการแสวงหาการเติบโตของธุรกิจหรือเร่งพัฒนากลยุทธ์เพื่อสร้างผลิตภาพและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างสูงสุด แต่ดูเหมือนว่ามีต้นทุนอย่างหนึ่งที่กำลังถูกละเลย
นั่นคือ “ต้นทุนทางธรรมชาติ (Natural Capital)” ซึ่งประกอบขึ้นจากระบบนิเวศที่สร้างประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับมนุษย์ อันประกอบด้วย ป่าไม้ แหล่งน้ำ สัตว์ทะเล แร่ธาตุ และความหลากหลายทางชีวภาพ และมนุษย์ก็ได้เปลี่ยนทรัพยากรเหล่านี้เพื่อนำไปสร้างผลกำไรในรูปแบบสินค้าและการบริการต่างๆ ที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้
ต้นทุนทางธรรมชาตินั้นมีความหมายครอบคลุมทรัพยากรธรรมชาติของโลกและระบบนิเวศทั้งหมด โดยทรัพยากรเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกทั้งคน พืช และสัตว์ ให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ อาทิ การมีแหล่งน้ำสะอาด ดินที่อุดมสมบูรณ์ หรือแม้แต่ใช้เป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นตัวการของปัญหาภาวะโลกร้อน
ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจแทบจะทุกประเภทต้องพึ่งพาทุนทางธรรมชาติในการดำเนินงาน ธุรกิจเกษตรกรรมต้องอาศัยดินที่อุดมสมบูรณ์และแมลงที่มาช่วยผสมเกสร ธุรกิจการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคต้องใช้แร่ธาตุและน้ำเป็นปัจจัยการผลิต และโดยเฉพาะกับประเทศที่ต้องพึ่งพิงการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนอย่างประเทศไทย ยิ่งต้องพึ่งพาต้นทุนธรรมชาติมากขึ้นไปอีก ทั้งภูมิประเทศที่ธรรมชาติได้รังสรรค์ขึ้นมาอย่างงดงาม หรือทิวเขาที่สลับซับซ้อน ชายหาดสีขาวและท้องทะเลสีคราม
จากการประชุมระหว่างรัฐบาลว่าด้วยนโยบายวิทยาศาสตร์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ (Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services : IPBES) ได้รายงานว่า พืชและสัตว์ประมาณ 1 ล้านชนิดมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากกิจกรรมของมนุษย์ และองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ระบุว่าสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรกว่า 4.2 ล้านคนในแต่ละปีเกิดจากมลพิษทางอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพอากาศและสุขภาพของเรา นี่เป็นเพียงตัวอย่างไม่กี่ประการของผลกระทบที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าอาจจะรุนแรงยิ่งขึ้นหากไม่มีการปรับเปลี่ยนและมาตรการแก้ไขที่เหมาะสม
ทุกท่านน่าจะทราบดีว่าต้นทุนทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง ระบบนิเวศ เช่น ป่าไม้และมหาสมุทรทำหน้าที่ดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ การตัดไม้ทำลายป่าและการทำลายถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่านั้นจะลดทอนความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะยิ่งทำให้ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงนี้ก็จะส่งผ่านผลกระทบย้อนกลับมายังต้นทุนทางธรรมชาติจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น จนทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไปได้
เมื่อเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว นอกจากภาครัฐแล้ว สถาบันการเงินก็นับเป็นหนึ่งในกลไกหลักที่สามารถสนับสนุนการปกป้องและรักษาต้นทุนทางธรรมชาติที่กำลังถูกคุกคาม ซึ่งทำได้ผ่านการเบี่ยงกระแสเม็ดเงินลงทุนไปยังโครงการที่เน้นการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนผลักดันให้การประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นเกณฑ์ในการให้สินเชื่อ ซึ่งธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในประเทศไทยได้ดำเนินการแล้ว นอกจากนี้ ยังสามารถจูงใจให้ธุรกิจนำแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้ เช่น การออกพันธบัตรสีเขียว การออกพันธบัตรสีน้ำเงิน การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน โครงการปลูกป่า หรือการทำเกษตรแบบยั่งยืน เพื่อจูงใจให้ทุกฝ่ายร่วมกันหวงแหนต้นทุนทางธรรมชาติร่วมกัน
ดังนั้น การรักษาต้นทุนทางธรรมชาติให้คงอยู่ ไม่ได้เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการอยู่รอดและความเจริญรุ่งเรืองของมนุษยชาติ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้แนวปฏิบัติที่ยั่งยืนเป็นสิ่งปกติภายในองค์กร และสร้างสำนึกรับผิดชอบให้กับทุกธุรกิจเพื่อสร้างอนาคตที่ดีสำหรับคนรุ่นถัดไป ยิ่งนับวัน เวลาก็จะยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ ร่วมกันทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำในวันนี้ ก่อนที่ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์จะกลายเป็นเพียงภาพถ่ายที่ทิ้งไว้ให้กับลูกหลานเราครับ