“ความยั่งยืน” กฎเกณฑ์ผู้ซื้อ - กติกาผู้ขาย Walmart วางไทยหน่วยซัพพลายอาหาร

“ความยั่งยืน” กฎเกณฑ์ผู้ซื้อ - กติกาผู้ขาย Walmart วางไทยหน่วยซัพพลายอาหาร

ห้าง Walmart มีสาขา 10,500 แห่ง และยังมีช่องทางอีคอมเมิร์ซใน 19 ประเทศทั่วโลก ในปี 2566 คาดว่าจะมีรายได้สูงถึง 611 พันล้านดอลลาร์ มีลูกค้าเฉลี่ย 240 ล้านคนต่อปี และมีการจ้างงาน 2.1 ล้านอัตรา ด้วยศักยภาพของ Walmart นับเป็นแหล่งกระจายสินค้าที่สำคัญ

หากสินค้าไทยวางขายในห้างนี้ 1 รายการเท่ากับว่าจะมีคนเกือบ 200 ล้านคน ที่จะได้เห็น และรู้จักสินค้าไทย 

อย่างไรก็ตาม  Walmart  ให้ความสำคัญกับมาตรฐานสินค้าที่กำหนดไว้สูงมาก รวมถึงต้องมีการบริหารจัดการต้นทุน และระยะเวลาการผลิตสินค้าในปริมาณตามความต้องการ ท่ามกลางเงื่อนไขดังกล่าว เมื่อรวมกับปัจจัยเสี่ยงช่วง 1-2 ปีจากนี้ ทั้งกติกาทางการค้าใหม่ๆ ว่าด้วยความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อม และปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ความกังวลความสามารถการซัพพลายสินค้าจากไทยอาจเกิดขึ้นได้ 

เศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือกับ Jeff Rice Senior Vice President, Supply Chain & Sourcing Compliance และคณะผู้บริหารจากบริษัท Walmart เพื่อสร้างความมั่นใจในการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารที่ส่งออกจากไทยไปยังตลาดโลก

สำหรับการหารือในวันนี้ บริษัท Walmart มีความสนใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการปรับตัวของผู้ประกอบการไทย ต่อการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก อาทิ การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) การค้าสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free products) การค้าสินค้าประมงที่ไม่ได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย (Illegal, Unreported, and Unregulated Fishing: IUU Fishing) และการคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงาน 

สำหรับห้าง Walmart นำเข้าสินค้าจากทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ได้แก่ อาหารทะเลแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋อง เฟอร์นิเจอร์ไม้ ข้าว เครื่องใช้ไฟฟ้า ถุงหิ้วพลาสติก สับปะรดกระป๋อง รองเท้าแตะ และของเล่น เป็นต้น

 

 

 

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต กล่าวว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังจะมาถึงนั้นในปี 2566 จะส่งผลต่อการซัพพลายอาหาร 5-10% โดยสถานการณ์นี้เพิ่งเกิดขึ้น ดังนั้นผลกระทบจะเห็นได้ชัดเจนในปีข้างหน้าจึงยังต้องจับตาดูสถานการณ์อีกครั้ง โดยภาครัฐได้รับมือด้วยการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบในทุกๆ ภาคส่วน

“ได้นำเสนอภาครัฐให้พัฒนาพันธุ์พืชที่มีในประเทศไทย โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่มาบริโภคภายในประเทศ ที่เหลือมากพอที่จะส่งออกโดยผลผลิตต่อไร่จะต้องเพิ่มขึ้น เพราะผลผลิตของไทยในพืชชนิดเดียวกับต่างประเทศนั้นไทยมีจำนวนที่ผลิตออกมานั้นน้อยกว่ากันเกือบครึ่ง”

“ความยั่งยืน” กฎเกณฑ์ผู้ซื้อ - กติกาผู้ขาย Walmart วางไทยหน่วยซัพพลายอาหาร

  ชี้ให้เห็นว่าไทยต้องพัฒนาประสิทธิภาพ และพันธุ์พืช รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีในการเพาะปลูกไม่ว่าจะเป็นโดรนทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้นเพื่อลดการใช้น้ำ และใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการเติมแร่ธาตุในดินที่ขาดหายช่วยลดการใช้ปุ๋ยได้อีกด้วย ด้านการตลาดไทยควรมี การขยายการเจรจา FTA (Free Trade Area)ไปในกลุ่มประเทศต่างๆ มากขึ้น เพิ่มศักยภาพในการส่งออกไปต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน

"การที่ Walmart เข้ามานั้น แสดงให้เห็นความมั่นคงทางด้านอาหารในประเทศไทย ที่สามารถซัพพลายอาหารได้ และมีความน่าเชื่อถือในเรื่องของคุณภาพ และความหลากหลายซึ่งไทยผ่านอยู่แล้วทำให้ คำว่าครัวของโลกคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม”

อย่างไรก็ตาม Walmart ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของมาตรฐานเป็นอย่างมากมีการกำกับหรือตรวจสอบก่อนที่จะส่งสินค้าไป ถ้าผู้ผลิตทำได้ถือว่ามาตรฐานขั้นต้น ส่วนขั้นที่สองคือ เรื่องของราคาถ้าบริหารจัดการต้นทุนได้ไม่ดี แข่งขันไม่ได้กับคู่แข่งไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศหรือต่างประเทศ ส่วนการส่งสินค้าถ้าไม่ตรงตามข้อตกลงอาจจะมีการปรับหรือเคลมหรือการตัดสิทธิ

ธุรกิจการค้าจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีผู้ซื้อ และผู้ขายซึ่งกฎเกณฑ์ของผู้ซื้ออย่างWalmart ทั้งเรื่องความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม หรือราคาและปริมาณการส่งมอบตามที่ตกลงไว้นับเป็นกติกาที่ผู้ขายจะต้องให้ความสำคัญ และปฏิบัติตามเพื่อให้ธุรกิจขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้อย่างต่อเนื่องแม้จะมีความท้าทายจากสภาพอากาศ และกฎการค้าใหม่ๆ ก็ตาม 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์