ส.ป.ก. หนุน ระบบน้ำหยด รับมือ “เอลนีโญ” ต่อยอดบ่อน้ำบาดาลโซลาร์เซลล์

ส.ป.ก.  หนุน ระบบน้ำหยด รับมือ “เอลนีโญ” ต่อยอดบ่อน้ำบาดาลโซลาร์เซลล์

ส.ป.ก. ชูไอเดียประหยัดน้ำรับมือ “เอลนีโญ” ถ่ายทอดหลักสูตร “ปลูกผักสวนครัวระบบน้ำหยด” ต่อยอดโครงการบ่อน้ำบาดาลโซลาร์เซลล์ นำร่องในเขตปฏิรูปที่ดิน พื้นที่ร้อยเอ็ด - กาฬสินธุ์ - พิษณุโลก ด้านเกษตรกรเผยแล้งนี้หมดห่วง มั่นใจมีน้ำในการทำการเกษตรเพียงพอแน่นอน

 นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)  เปิดเผยว่า หลังจาก ส.ป.ก. ประสบความสำเร็จในการผลักดันโครงการก่อสร้างบ่อบาดาล และระบบสูบน้ำโซลาร์เซลล์เพื่อการเกษตรแล้วเสร็จ จำนวน 41โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 28 จังหวัด คิดเป็น 66.13% ของพื้นที่เป้าหมาย มีพี่น้องเกษตรกรได้รับประโยชน์ไปแล้ว 1,096 ครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์ 11,590 ไร่

 

ส.ป.ก.  หนุน ระบบน้ำหยด รับมือ “เอลนีโญ” ต่อยอดบ่อน้ำบาดาลโซลาร์เซลล์ ส.ป.ก.  หนุน ระบบน้ำหยด รับมือ “เอลนีโญ” ต่อยอดบ่อน้ำบาดาลโซลาร์เซลล์

โดยประโยชน์ของโครงการเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรอง และช่วยบรรเทาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วงโดยเฉพาะพื้นที่ ที่ไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนประเภทผิวดิน เนื่องจากพื้นที่ ส.ป.ก. ส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทานและเป็นพื้นที่ห่างไกลจากระบบไฟฟ้า ส.ป.ก. จึงได้ส่งเสริม และสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ นำมาใช้ในระบบสูบส่งกระจายน้ำเข้าแปลงเกษตรกรรมเพื่อลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก.

             อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การใช้น้ำของเกษตรกรมีประสิทธิภาพ และเป็นการใช้น้ำอย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยแล้งอันมีผลจากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่ส่อเค้ารุนแรง ส.ป.ก. จึงได้จัดทำ “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการสวนครัวน้ำหยด สำหรับกลุ่มผู้ใช้น้ำบาดาลโซลาร์เซลล์เพื่อเพิ่มผลิตภาพน้ำการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน” ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำบาดาลโซลาร์เซลล์นำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่  ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และพิษณุโลก  เพื่อเป็นการต่อยอดโครงการก่อสร้างบ่อบาดาล และระบบสูบน้ำโซลาร์เซลล์ที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว   

ส.ป.ก.  หนุน ระบบน้ำหยด รับมือ “เอลนีโญ” ต่อยอดบ่อน้ำบาดาลโซลาร์เซลล์ ส.ป.ก.  หนุน ระบบน้ำหยด รับมือ “เอลนีโญ” ต่อยอดบ่อน้ำบาดาลโซลาร์เซลล์

              

โดยแนวทางการดำเนินงานจะมีการส่งทีมวิศวกรการเกษตร เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. ส่วนกลาง และ ส.ป.ก.จังหวัด เข้าไปให้ความรู้เรื่องการให้น้ำแบบน้ำหยดสำหรับการปลูกพืชผัก และการใช้งานการบำรุงรักษาระบบสูบน้ำบาดาลด้วยโซลาร์เซลล์ พร้อมฝึกปฏิบัติเกษตรกรติดตั้งสวนครัวน้ำหยดในแปลงเกษตรกรภายใต้โครงการ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรได้เรียนรู้นวัตกรรมการให้น้ำแบบน้ำหยด ที่เป็นระบบการให้น้ำพืชที่มีประสิทธิภาพสูง และประหยัดน้ำ ที่ ส.ป.ก. ได้พัฒนารูปแบบให้เหมาะสมกับโครงการบ่อบาดาลโดยเฉพาะอีกด้วย 

“ปัจจุบันระบบการให้น้ำแบบน้ำหยด  เป็นระบบการให้น้ำที่ประหยัดน้ำมากที่สุด และเหมาะสมที่จะนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ในแปลงเกษตรกรรม โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงนี้ ที่อยากส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการเยอะๆ เพราะเป็นระบบที่มีต้นทุนต่ำประมาณ 5,000 บาท/ชุด เทคนิคการติดตั้ง การใช้งาน และการดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก สามารถทำได้เอง และเหมาะสำหรับพื้นที่เพาะปลูกพืชขนาดไม่เกิน 400 ตารางเมตรหรือ 1 งาน  ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชผักไว้บริโภคภายในครัวเรือนได้ตลอดทั้งปี เหลือจากการบริโภคก็สามารถนำไปขายสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง” เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าว

        

 ด้านนางรุ่งทิพย์  ไชยเชษฐ์   เกษตรกรบ้านนาไร่เดียว หมู่ที่ 16 ตำบลนาทัน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์   กล่าวว่า  ด้วยพื้นที่ตำบลนาทัน เป็นที่ราบสูงเชิงเขาทำให้มีร่องน้ำกระจายอยู่ทั่วไปแต่จะเป็นร่องน้ำเล็กๆ และจะมีน้ำไหลแรงเฉพาะฤดูฝน แต่ในฤดูแล้งน้ำจะแห้งขอด  ชาวบ้านส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนาทำไร่ ภายหลัง ส.ป.ก. นำโครงการบ่อน้ำบาดาลฯ มาให้ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น มีน้ำใช้ในการปลูกพืชผักได้ตลอดทั้งปี ทำให้ผลผลิตของชาวบ้านดีขึ้น มีรายได้มากขึ้น 

ยิ่งภายหลัง ส.ป.ก. ได้เข้ามาต่อยอดโครงการด้วยการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาอบรมสาธิต และให้คำแนะนำความรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชสวนครัวระบบน้ำหยด   ส่งเสริมให้เกษตรกรมีเทคนิควิธีการใช้น้ำในการเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ และประหยัดน้ำมากยิ่งขึ้น โดยในการฝึกปฏิบัติจะมีเกษตรกรแต่ละแปลงร่วมด้วยช่วยกันตั้งแต่การเตรียมแปลงให้เหมาะสม ฝึกติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ฝึกวัดปริมาณน้ำ แบ่งโซนให้น้ำ แบ่งรอบเวรในการใช้น้ำเพื่อให้เพียงพอต่อสมาชิกในกลุ่มให้เกิดความเป็นธรรมอีกด้วย 

 

 

 

 

        

 

  

 

ส่วนนางอมรรัตน์  อ่อนพุทธา เกษตรกรบ้านหนองฟ้า ตำบลโพธิ์ทอง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด  กล่าวว่า เดิมหน้าแล้งไม่มีน้ำใช้เลย หากช่วงไหนฝนไม่ตกลงมาเกษตรกรไม่สามารถปลูกพืชทำกินได้เลย  ส่งผลให้พืชผลเสียหายอย่างมาก แต่หลัง ส.ป.ก. มาขุดบ่อน้ำบาดาลให้ในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรในกลุ่มมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรอย่างทั่วถึง มีท่อส่งน้ำไปส่งให้ถึงแปลง มีมิเตอร์น้ำไว้เก็บเงินค่าน้ำอย่างเป็นธรรม ไม่ต้องพึ่งพาน้ำฝนอย่างเดียวอีกต่อไป ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่ทำเกษตรผสมผสาน ปลูกกล้วย มะเขือ  พริก และพืชผักตามฤดูกาล  แม้ปีนี้มีข่าวว่าจะเกิดภาวะแล้งหนัก แต่ทุกคนมั่นใจว่าโครงการบ่อบาดาล และสวนครัวน้ำหยดจะทำให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอไม่ต้องวิตกกังวลเหมือนในอดีตอีกต่อไป 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์