1 ต.ค. เริ่มใช้ CBAM คาดตลาดคาร์บอนเครดิตบูมแนะปลูกต้นไม้รับpassive income
ในวันที่ 1 ต.ค. 2566 ตามเงื่อนไขมาตรการ CBAM(Carbon Border Adjustment Mechanism)ที่สินค้าที่เข้าไปขายในสหภาพยุโรป(อียู) จะต้องรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนและหากมีปริมาณการที่สูงมากก็สามารถซื้อคาร์บอนเครดิต
เพื่อรายงานให้อียูทราบว่าสินค้านั้นๆไม่มีการปล่อยคาร์บอนเกินมาตรฐานที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการดังกล่าวยังไม่กำหนดบทลงโทษในช่วง 2 ปีแรกที่บังคับใช้ และเป็นเพียงการใช้บังคับในกลุ่มสินค้าเฉพาะ 7 ชนิด เช่น เหล็ก อลูมิเนียม เป็นต้น แต่ผู้ส่งออกไทยต้องตื่นตัวกับเงื่อนไขดังกล่าว เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่อียูจะขยายขอบเขตสินค้าให้มากขึ้นจาก 7 ชนิดแรกที่กำหนดอยู่ในปัจจุบัน
ปรากฎการณ์ดังกล่าวทำให้“ตลาดคาร์บอนเครดิต”คึกคัก ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจการซื้อขายคาร์บอนเครดิตก่อนว่า เป็นเศรษฐกิจสีเขียวที่กลุ่มผู้ขายคือคนปลูกต้นไม้ ผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ หรือแม้แต่พลังงานจากชีวมวลต่างๆ เช่น เศษวัสดุทางการเกษตร จะต้องไปขอใบรับรองเพื่อตรวจสอบว่ากิจกรรมที่ทำอยู่สามารถดูดซับคาร์บอน หรือ “คาร์บอนเครดิต”ได้ตามมาตรฐาน จากนั้นนำใบรับรองไปซื้อตามแพลตฟอร์มต่างๆ ส่วนราคาหรือรายได้จะขึ้นอยู่กับความต้องการตลาดในช่วงนั้นๆ และชนิดของแหล่งคาร์บอนเครดิต ซึ่งปัจจุบัน“ป่าไม้”มีราคาสูงสุดเฉลี่ย 2,000 บาทต่อtCO2eต่อปี
ดังนั้น การปลูก“ป่า” หรือ “ต้นไม้”จากนี้จะมีประโยชน์มากขึ้นรวมถึงเป็นแหล่งผลิตรายได้ด้วยตัวเอง หรือ Passive income ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของ“เศรษฐกิจสีเขียว”ที่ไม่เพียงดูแลสิ่งแวดล้อม แต่ยังสร้างรายได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามต้องทำความเข้าใจแหล่งรายได้นี้ก่อนตัดสินใจลงทุน เพราะต้นไม้ 1 ไร่นั้นกักเก็บได้ 1 tCO2eและรายได้ที่ว่านี้เป็นการคำนวนแบบรายปี
อโณทัย สังข์ทอง ผู้อำนวยการ สำนักสื่อสารและทะเบียนคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า โครงการคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ มีเงื่อนไขในการปลูกต้นไม้เพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิต โดยผู้ประกอบการต้องตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆก่อน ยกตัวอย่าง T-VER (โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ที่อบก. รับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งมีเงื่อนไขต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 10 ไร่ ขึ้นไป เนื่องจากหากมีเนื้อที่ 1-3 ไร่ เท่านั้นจะไม่สามารถทำโครงการได้เพราะมีค่าใช้จ่ายการประเมินประสิทธิภาพการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของต้นไม้ และค่าใช้จ่ายในการประเมินคาร์บอนเครดิตนั้นในระบบการตรวจวัด การทวนสอบ (Verification) มีราคาที่สูง
นอกจากนี้ ต้นไม้ในโครงการแต่ละชนิดจะมีศักยภาพกักเก็บคาร์บอนต่างกันไป เบื้องต้น ต้องเป็นไม้ยืนต้น อายุยืนยาวและมีวงปลี การทำคาร์บอนเครดิตนั้นไม่สามารถทำในไม้ล้มลุกได้ โดยไม้ล้มลุกนั้นมีอายุที่สั้นไม่ถาวร แต่พอตายไปจะมีการคายก๊าซคาร์บอนคืนกลับสู่ชั้นบรรยากาศ ส่วนต้นไม้ที่ไม่มีวงปลีบางชนิดก็สามารถปลูกได้ อย่าง มะพร้าว ปาล์ม ไผ่ ทั้งนี้ยังมีคาร์บอนเครดิตที่ได้จาก“บูลคาร์บอน” ซึ่งมี“หญ้าทะเล” เป็นแหล่งดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่ดีอีกด้วย
"มาตรฐานพวกนี้ไม่ได้ใช้แค่ประเทศไทยแต่เป็นมาตรฐานเดียวกันในต่างประเทศอีกด้วย ส่วนการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของพันธุ์ไม้กักเก็บคาร์บอน จะแปรผันขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ชนิดป่า ชนิดไม้ที่เป็นองค์ประกอบของป่า ความหนาแน่นของป่า สภาพภูมิประเทศ และปัจจัยสิ่งแวดล้อม เป็นต้น"
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า รายย่อยที่มีพื้นที่น้อยจะเข้าสู่ระบบคาร์บอนเครดิตไม่ได้ เพราะระบบเปิดให้มีการรวมกลุ่มกับผู้ประกอบการหลายๆคนในรูปแบบชุมชน ที่แม้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกันหรือใกล้เคียงกันได้ ก็สามารถเข้าสู่โครงการคาร์บอนเครดิตได้ เช่น โครงการแบบแผนงาน Programme of Activities (PoA) โดยจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกับกับโครงการแบบเดี่ยว และขอรับรองคาร์บอนเครดิต ผู้ประกอบการการต้องจัดทำรายงานการติดตามประเมินผลของทุกกลุ่มโครงการย่อย และต้องผ่านการทวนสอบ จากผู้ประเมินภายนอก และส่งไปยัง อบก. เพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิตต่อไป
“ต้องประเมินสถานการณ์ตลาดคาร์บอนเครดิตมีความคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าประเมินแล้วไม่คุ้มก็ไม่แนะนำให้ทำ อยากให้มองคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้เสริมมากกว่าเป็นรายได้หลัก”
CBAM เป็นแค่การเคาะประตูให้เศรษฐกิจไทยตื่นตัวกับมาตรการสิ่งแวดล้อมในโลกการค้าหลังจากนี้จะมีมาตรการใหม่ๆอีกเเละเมื่อถึงเวลานั้น โอกาสทางเศรษฐกิจจากกิจกรรมสิ่งแวดล้อมต่างๆจะช่วยสร้างรายได้ให้คนไทยและชุมชนอีกมากอยู่ที่ว่าต้องเข้าใจกติกาและก้าวสู่ตลาดใหม่อย่างเข้าใจเพื่อให้“ต้นไม้”ในวันนี้สามารถเป็นแหล่งpassive incomeได้ในวันข้างหน้า