“น้ำทะเลเปลี่ยนสี”สัญญาณอันตราย ภัยคุกคามระบบนิเวศน์ทะเลไทย
ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีในปี 2566 นี้ เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และมีความถี่ และความรุนแรงขึ้น ทำให้มีสัตว์ทะเลหลายชนิดตายเกลื่อนหาดบางแสน ซึ่งน้ำทะเลที่กลายเป็นสีเขียว และส่งกลิ่นเหม็นนี้เป็นสัญญาณอันตราย
เป็นจุดเริ่มต้นของการคุกคามระบบนิเวศน์ทะเลไทยซึ่งสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
ศ.ดร.เชษฐพงษ์ เมฆสัมพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในงานเสวนา “ทะเลสีเขียว...มหันตภัยร้ายกว่าที่คิด” จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมและพันธกิจเพื่อสังคม ร่วมกับ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติส่งผลต่อ ‘แพลงก์ตอนบลูม’ จนทำให้น้ำทะเลมีสีเขียวที่ ชายหาด ‘บางแสน’ ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี ส่งกลิ่นเหม็นโชยไปทั่วทั้งหาด ทำให้สัตว์ทะเลตาย และเกยตื้นตลอดแนวชายฝั่ง 3-4 กิโลเมตร ส่งผลต่อแหล่งทำมาหากินของประชาชนในภาคประมงอย่างมาก และส่งผลต่อนักท่องเที่ยว ซึ่งไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนกล้าลงเล่นน้ำเนื่องจากน้ำทะเลมีกลิ่นเหม็น
การเพิ่มของ แพลงก์ตอนบลูมนั้นเป็นปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีซึ่งในประเทศไทยจะเกิดในช่วงฤดูฝนเป็นประจำแต่จะมีการเปลี่ยนพื้นที่ไปเรื่อยๆ ตามฤดูกาล ยกตัวอย่าง ในฤดูหนาวจะเกิดในพื้นที่แถวจังหวัดเพชรบุรี
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในทะเลที่พร้อมจะโจมตีชายฝั่งทุกฤดูกาล อย่างพื้นที่ อ่าวไทย ตัว ก มีกระแสน้ำกั้นอยู่ โดยสารอาหารจากน้ำที่ลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมาจากการระบายน้ำจากชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร มีจำนวนสูงขึ้นมากแต่แม้จะไม่มีพิษโดยตรงแต่ในปัจจุบันที่มีการขนส่งทางทะเลมากขึ้นจึงเป็นปัจจัยที่นำพาแพลงก์ตอนมาเจอในกระแสน้ำ จึงทำให้สารอาหารต่างๆ ลงมาอยู่ในน้ำแบบรวมกันนับเป็นเหตุผลว่าทำไมแพลงก์ตอนบลูมจึงมี
จำนวนมากขึ้น
“ตอนกลางวันนั้นแพลงก์ตอนจะสร้างออกซิเจนเป็นจำนวนมากเหมือนจะเป็นผลดีต่อสัตว์ทะเล แต่ตกกลางคืนแพลงก์ตอนก็ต้องใช้ออกซิเจนมากเช่นกัน ทำให้เกิดการแย่งออกซิเจนที่อยู่ในน้ำ ทำให้สัตว์ทะเลหลายๆ ชนิดที่อยู่ใต้น้ำขาดอากาศหายใจ และตายในที่สุด ซึ่งสีของทะเลที่เปลี่ยนไปคือ สีของแพลงก์ตอนที่รวมตัวกันอยู่จำนวนมากนั่นเอง”
ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ผลกระทบจากทะเลสีเขียวนั้น ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อม และกิจกรรมของมนุษย์ การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากต้นทาง เช่น การจัดการขยะเพราะคุณภาพแหล่งน้ำผิวดิน และน้ำทะเล ขึ้นอยู่กับการระบายธาตุอาหารที่ถูกชะล้างจากแผ่นดินในช่วงฤดูฝน ซึ่งมีสารอินทรีย์ จากน้ำทิ้งชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม เกษตรกรรม ลงสู่แหล่งน้ำ เมื่อมารวมตัวกับสภาวะและปัจจัยที่เหมาะสมจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แพลงก์ตอนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่งหรือ ยูโทรฟิเคชั่น (Eutrophication)
"น้ำเสียจากชุมชน ทั้งหมด 11 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งมีน้ำเสียอยู่ 20% ที่ยังไม่ได้รับการบำบัด แม้ว่าจะมีระบบบำบัดน้ำเสียรวมที่เดินระบบ 98 แห่ง (จากทั้งหมด 118 แห่ง) สามารถรองรับน้ำเสียได้ 2,978 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน (ในปี 2565 มีน้ำเสียเข้าระบบบำบัดน้ำเสียรวม 1.67 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน)
“แหล่งกำเนิดน้ำเสียถูกกำหนดให้ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคารฯ สำหรับอาคารบางประเภทและบางขนาด ได้กำหนดให้เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ที่ต้องถูกควบคุมการระบายน้ำทิ้งให้เป็นไปตามมาตรฐานด้วย”
สุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า มาตรการเชิงแก้ไข ฟื้นฟู มีทั้งการใช้กฎหมายพ.ร.บ. ทช. พ.ศ. 2558 มาตรา 17 และมาตรา 23 เพื่อป้องกันผลกระทบเพิ่มเติม และฟื้นฟูทรัพยากร และการถอดบทเรียนจากต่างประเทศ รวมถึงเฝ้าระวัง โดยใช้ระบบแจ้งเตือน (HAB Alarm) มาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาน้ำทะเลเปลี่ยนสี
อย่างไรก็ตาม แนวทางป้องกันในส่วนภาคการประมง สามารถใช้การตกตะกอนแพลงก์ตอนด้วยการใช้ Clay หรือวัสดุอื่น ๆ กำจัดแพลงก์ตอนพืชด้วยวิธีทางกายภาพ (รังสี UV สารเคมี) และชีวภาพ (แบคทีเรีย ไวรัส) ติดตั้ง shield curtain สำหรับกระชังปลา ติดตั้งปั๊มออกซิเจน
การสร้างเครือข่ายของภาค ส่วนต่างๆ ให้มีบทบาทในการเฝ้าระวัง และบริหารจัดการมลพิษในลักษณะองค์รวมไปสู่ท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนจะเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนเพื่อไม่ให้ปัญหาเล็กๆอย่างทะเลเปลี่ยนสีกลายเป็นสาเหตุความเสียหายใหญ่ต่อระบบนิเวศน์ทะเลไทย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์