เคมีชีวภาพ น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน ทางเลือกใหม่น่าลงทุนสู่ Net zero

เคมีชีวภาพ น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน ทางเลือกใหม่น่าลงทุนสู่ Net zero

ปัจจุบันทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะผลักดันนโยบายในหลายภาคส่วน ไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emission) อย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหา Climate change สำหรับไทยได้ตั้งเป้าหมายไปสู่ Net Zero Emission ภายในปี 2065

โดยเน้นผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ช่วยส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการไปสู่เป้าหมาย Net zero เนื่องจากวัตถุดิบทางชีวภาพปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าวัตถุดิบจากฟอสซิล และยังช่วยลดปริมาณขยะอินทรีย์อีกด้วย อีกทั้ง ยังเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี ซึ่งไทยมีความพร้อมทั้งในแง่ทรัพยากรและระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว นอกจากจะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศแล้ว อุตสาหกรรมดังกล่าวยังมีโอกาสทางธุรกิจซ่อนอยู่หลายประการ

 

แม้ว่าปริมาณความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio-fuels) ที่ใช้ผสมในเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์อาจมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการที่ประเทศต่างๆ ผลักดันไปสู่การใช้พลังงานทางเลือก เช่น รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงไทย ซึ่งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้ออกนโยบาย 30@30 โดยตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) ในปี 2030 ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม SCB EIC มองว่า Sustainable Aviation Fuel (SAF) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพอีกรูปแบบหนึ่ง สามารถเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการลงทุนเนื่องจากไทยมีซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับโรงกลั่น และการบินรองรับอยู่แล้ว รวมถึงมีทรัพยากรเพียงพอสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบ แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะยังค่อนข้างสูงเทียบกับน้ำมันอากาศยานทั่วไป 

แต่ SAF ยังคงเป็นเทคโนโลยีเดียวในขณะนี้ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการบินได้ เนื่องจากทางเลือกอื่นอย่างเครื่องบินพลังงานไฮโดรเจน และไฟฟ้านั้นยังอยู่ระหว่างการพัฒนาขั้นเริ่มต้น ทั้งนี้ในปัจจุบัน แม้ว่าไทยจะยังไม่มีการกำหนดนโยบายสนับสนุน SAF อย่างชัดเจน แต่ความต้องการใช้ SAF ในระดับสากลเริ่มมีภาพที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจาก ICAO ซึ่งเป็นหน่วยงานการบินสากล ได้ประกาศเมื่อปี 2023 ว่าอนุญาตให้สายการบินสามารถใช้ SAF หรือ Lower Carbon Aviation Fuel เพื่อลดค่าใช้จ่ายสำหรับชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเที่ยวบินของตนตามข้อกำหนดของ CORSIA ซึ่งเป็นแผนการลด และชดเชยการปล่อยคาร์บอนสำหรับธุรกิจการบินได้ ดังนั้น หากผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนการผลิต SAF ได้จะเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยอาจก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้าน SAF ในภูมิภาคเพื่อรองรับปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การสนับสนุนจากภาครัฐจึงมีส่วนสำคัญตั้งแต่นโยบายผลักดันการวิจัยไปจนถึงการบังคับใช้

นอกจากโอกาสทางธุรกิจจากการนำวัตถุดิบทางชีวภาพมาใช้ในการผลิต Bio-fuels แล้ว วัตถุดิบทางชีวภาพยังสามารถนำมาใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพได้อีกด้วย โดยอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพจะมีส่วนช่วยสนับสนุนในการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมคาร์บอนสูงไปยังอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ เช่น พลาสติกชีวภาพ (Bio-plastics) ที่ความต้องการในตลาดมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นทั้งในไทยและระดับสากล จากกระแสความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐที่เข้มแข็งขึ้น เช่น สหภาพยุโรปได้ตั้งเป้าหมายให้ภายในปี 2030 บรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดจะต้องสามารถนำมารีไซเคิลหรือทำปุ๋ยได้ อีกทั้ง ยังสั่งห้ามใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งอีกด้วย ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับไทยซึ่งมีข้อได้เปรียบทั้งในแง่ความพร้อมด้านวัตถุดิบ และมีซัพพลายเชนสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกชีวภาพที่ดีรองรับไว้อยู่แล้ว อีกทั้ง ยังตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นศูนย์กลางที่สามารถสร้างตลาดเข้าถึงทั่วทั้งภูมิภาค นอกจากนี้ หากมีการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างจริงจัง เช่น การสนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา น่าจะช่วยให้ไทยสามารถผลิต Bio-plastics ได้หลากหลายในราคาที่ต่ำลงรวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นซึ่งจะทำให้ไทยสามารถแข่งขันกับต่างชาติและก้าวขึ้นไปเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลกได้  เคมีชีวภาพ น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน ทางเลือกใหม่น่าลงทุนสู่ Net zero

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์