เปิดสูตรธุรกิจอยู่รอดต้อง ‘ยั่งยืน’ TSCN หารือซีอีโอวางกรอบความร่วมมือ

เปิดสูตรธุรกิจอยู่รอดต้อง ‘ยั่งยืน’ TSCN หารือซีอีโอวางกรอบความร่วมมือ

“ฐาปน” แม่ทัพไทยเบฟ ย้ำธุรกิจอยู่รอดยั่งยืนต้อง “ตื่นรู้-มีสติ-ปรับตัว” ผนึกทีมไทยแลนด์ TSCN หนุนเป้า “ศุภชัย” เปิดสูตรความยั่งยืน-วางเป้าหมายชัดจากข้างบน “เอสซีจี” เดินหน้าองค์กรยั่งยืน สร้างสมดุล 3 มิติ การเงิน สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี SX 2024 เคาะจัดงาน 7 ก.ย.-6 ต.ค.2567

SUSTAINABILITY EXPO 2023 (SX2023) ระหว่างวันที่ 29 ก.ย.ถึง 8 ต.ค.2566 ได้มีการนำเสนอทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นแนวทางการขับเคลื่อนประเทศที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลก โดยเวที “SX Partnerships for the Goals : TSCN Business Partner Conference 2023” ซึ่งเป็นช่วง CEO Panel ที่ “ผู้นำ” องค์กรยักษ์ใหญ่ ได้แก่ ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน)  รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ ซีพี ร่วมฉายภาพ “ปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน”

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจัดงาน SX2023 ปีนี้เห็นสัญญาณชัดว่าทุกฝ่ายให้ความสนใจ พร้อมเรียนรู้ นำไปสู่การลงมือทำ เป็นนิมิตหมายที่ดีมาก โดยกลุ่มเยาวชนสนใจเยี่ยมชมงานจำนวนมากสะท้อนความสนใจที่จะเรียนรู้เรื่องราวต่างๆว่ามีผลกระทบต่อโลกอนาคตอย่างไร และตนเองจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 18-35 ปี มีสัดส่วนมากกว่า 60%

เปิดสูตรธุรกิจอยู่รอดต้อง ‘ยั่งยืน’ TSCN หารือซีอีโอวางกรอบความร่วมมือ “ไทยเบฟ แม้เป็นองค์กรยักษ์ใหญ่ระดับแสนล้าน ทว่า บนเวทีเทียบกับเอสซีจี เครือซีพี ไทยเบฟยังเป็นน้องเล็ก แต่ทุกบริษัทล้วนเป็นหนึ่งในฟันเฟืองช่วยสร้างเศรษฐกิจ สังคมไทยให้แข็งแกร่ง และยังยกระดับการขยายกิจการไปสู่ภูมิภาคอาเซียน การค้าขายในระดับนานาชาติด้วย”

อย่างไรก็ดี การขยับขยายธุรกิจและการอยู่รอดอย่างยั่งยืนได้ในอนาคตนั้น ต้องมีวิธีการคิดหลายเรื่อง ซึ่ง “3 คำสำคัญ” ที่จะช่วยประคองกิจการ ประกอบด้วย “วิ่ง-ซ่อน-สู้” 

เริ่มจากความหมายของการ “วิ่ง” คือการตื่นรู้ เพื่อต่อกรกับ “ดิสรัปชัน” มากมาย การทำธุรกิจจะวิ่งฝ่าพายุความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้จะต้องเข้าใจเมกะเทรนด์ ผู้บริโภค คนส่วนใหญ่ไปทิศทางไหน “การทำธุรกิจไม่ใช่วิ่งไปทางไหนก็ได้ แต่เราต้องตื่นรู้ เข้าใจเมกะเทรนด์ตลาดหรือผู้บริโภค”

ส่วนการ “ซ่อน” สะท้อนการมีสติหลังจากตื่นรู้แล้ว การมีสติ ความคิดที่ดี คิดครบถ้วน วิเคราะห์ อย่างเวลานี้ธุรกิจต้องมองและสนใจเรื่อง “ความยั่งยืน” ประกบคู่การขับเคลื่อนกิจการให้เติบโต 

สุดท้าย “สู้” หมายถึงการ “ปรับตัว” โดยแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านงาน SX2023  มุ่งสร้างการรวมกลุ่มระหว่างผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตหรือซัพพลายเชน ภายใต้เครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย (Thailand Supply Chain Network : TSCN) เรียนรู้จากพันธมิตร องค์กรธุรกิจชั้นนำ ที่ตระหนักทำธุรกิจอย่างยั่งยืน เช่น บริษัท อินโดรามา จำกัด (มหาชน)  เป็นต้น โดยเชื่อมั่นว่าเครือข่ายซัพพลายเชน คือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนไปข้างหน้า

“การอยู่รอดเพื่อความยั่งยืนต้องตื่นรู้ มีสติและปรับตัวตลอดเวลา อย่างการสู้เราต้องรู้สู้มากน้อยแค่ไหน สู้อย่างไร รวมกลุ่มกันหรือจับมือกันอย่างไร เป็นต้น”

  • ปลุกธุรกิจสานต่อภารกิจความยั่งยืน

ทั้งนี้ การบริหารธุรกิจสร้างความยั่งยืนทั้งบริษัทเล็กและใหญ่ ตลอดจนผู้ประกอบการในซัพพลายเชน เมื่อสนใจประเด็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้โลกแล้ว สิ่งสำคัญ คือ นำกลับมาพัฒนา ปรับใช้ หรือเปลี่ยนรูปแบบการทำงานในบริษัทมากน้อยแค่ไหน

เปิดสูตรธุรกิจอยู่รอดต้อง ‘ยั่งยืน’ TSCN หารือซีอีโอวางกรอบความร่วมมือ “วันนี้เศรษฐกิจไทยมีความเชื่อมโยงภูมิภาค ผ่านความร่วมมือเศรษฐกิจทางการค้าระหว่างประเทศ หรืออาเซียนบวกต่างๆ เช่น อาเซียนบวก 3 อาเซียนบวก 6 สะท้อนโอกาสมากมาย หากเราเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการซัพพลายเชน มาขยับตัวสร้างความยั่งยืน สร้างการเติบโตไปด้วยกันเป็นทีมไทยแลนด์”

ภายใต้การทำงานของ TSCN มีแผนหารือกับบรรดาซีอีโอแต่ละองค์กร เพื่อทำความตกลง วางกรอบทิศทางความร่วมมือ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่สะท้อนผลกระทบเชิงบวกต่อโลกให้มากขึ้น 

“เราคงไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเฉยๆ จบงานนี้ ซีอีโอหลายคนจะมาตกลง เรื่องกรอบ ทิศทางความร่วมมือ สานต่อภารกิจสร้างความยั่งยืนต่อไป”

  • SX2023 ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 14 tCO2e

วานนี้ (8 ต.ค.) เป็นวันสุดท้ายของงาน SX2023 นายฐาปน กล่าวย้ำถึงภารกิจรักษ์โลก เป็นหน้าที่ของทุกคน โดยเริ่มสำรวจตัวเองมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ออกสู่โลกมากน้อยแค่ไหน มีส่วนในการดูแลพื้นที่สีเขียว สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร เช่น หากตนเองปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ควรเริ่มทำกิจกรรมปลูกป่า เพื่อเป็นการชดเชย

สำหรับผลลัพธ์ของการจัดงาน SX2023 ตลอดระยะเวลา 10 วัน เป็นดังนี้ มีองค์กรทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมทั้งสิ้น 246 องค์กร วิทยากรหลากหลายวงการทั้งไทยและระดับโลกแบ่งปันข้อมูล ความรู้ 570 ท่าน ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าร่วมงาน 323,198 คน กว่า 60% อายุ 18-35 ปี มีผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น SX App จำนวน 160,711 ดาวน์โหลด โดยสินค้าชุมชนและสินค้ารักษ์โลก 242 ร้าน สร้างยอดขาย 12 ล้านบาท (ณ 7 ต.ค.) โซน SX Food Festival มีร้านค้าร่วมงาน 167 ร้าน สร้างยอดขาย 18.9 ล้านบาท

มีผู้นำสิ่งของ ขวดพลาสติก ขวดแก้ว ฯลฯ มาบริจาคร่วมกันที่โซน SX Repartment Store เช่น ขวดพลาสติก PET 132 กิโลกรัม พลาสติก PP 76 กิโลกรัม ถ่าน แบตเตอรี่ที่ไม่ใช้ (E-Waste) 35 กิโลกรัม ขยะที่ไม่รู้จะกำจัดอย่างไรหรือขยะกำพร้า (Orphan Waste) 970 กิโลกรัม ขวดแก้ว 228 กิโลกรัม กระป๋องอะลูมิเนียม 25 กิโลกรัม เสื้อผ้า 3,607 ชิ้น หนังสือ 2,056 เล่ม อุปกรณ์การเรียน 258 ชิ้น เป็นต้น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 14 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (tCO2e)

เปิดสูตรธุรกิจอยู่รอดต้อง ‘ยั่งยืน’ TSCN หารือซีอีโอวางกรอบความร่วมมือ นายฐาปน ยังประกาศขับเคลื่อนงาน Sustainability Expo 2024 (SX 2024) ที่จะมีขึ้นระหว่าง 7 ก.ย.-6 ต.ค.2567 “การทำงานยังไม่มีจุดสิ้นสุด เพราะเส้นทางเดินด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยังมีข้อคิดมุมมองแลกเปลี่ยนกันต่อเนื่อง เพื่อทำให้โลกสดใส น่าอยู่ ตามคาดหวัง”

  • “ซีพี”เร่งลงทุนลดปล่อยคาร์บอน

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) กล่าวบนเวทีเสวนา "TSCN CEO PANEL : ปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน” ว่า เครือซีพีดำเนินการเรื่องลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตและการใช้ไฟฟ้า (Scope 1 และ 2) แล้ว 70% ทำให้ในปีที่ผ่านมาต้องซีพีต้องจ่ายค่าคาร์บอนเครดิต 15 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากในปี 2030 บริษัทยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้อีกแถมยังใช้พลังงานมากขึ้นต่อเนื่องจะต้องซื้อคาร์บอนเครดิตถึงปีละ 2,000 ล้านบาท

ขณะที่การปล่อยคาร์บอนทางอ้อมจากคู่ค้าและซัพพลายเชน (Scope 3) จากทั้งหมด 22 ประเทศที่ซีพีลงทุนจะเป็นเป้าหมายที่ใหญ่และท้าทายอย่างมากซึ่งต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาเกิดโควิดการลงทุนต่างๆ มีการชะลอตัว

ทั้งนี้ การลดคาร์บอนสำหรับบริษัทระดับโลกเราไม่กังวลมากนักเพราะมีเป้าหมายเดียวกัน อย่างไรก็ตามซัพพลายเออร์ในระดับเอสเอ็มอีต้องการนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐเช่นการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) การลงทุนพลังงานสะอาดสมาร์ทกริดรวมทั้งการสร้างความตระหนักรู้และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

เปิดสูตรธุรกิจอยู่รอดต้อง ‘ยั่งยืน’ TSCN หารือซีอีโอวางกรอบความร่วมมือ

  • แนะทำรายงานความยั่งยืน

นายศุภชัย กล่าวว่า ในงานประชุม Wolrd Economic Forum ปี 2019 มีการพูดคุยกันใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.Inclusive capital ลดความเหลื่อมล้ำ 2.ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ซึ่งปัจจุบันคุยเรื่อง AI กันแล้ว 3.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้ ในหนึ่งหัวข้อที่เป็นการพูดคุยกันขององค์กรเอกชน และซีพีได้เสนอความคิดเห็น 2 เรื่อง ได้แก่

1.การที่ทุกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์หลายประเทศกำหนดให้ส่งรีพอรต์เป้าหมายความยั่งยืนซึ่งถือเป็น 80% ของเศรษฐกิจโลกจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่ชัดเจนให้เกิดการกำหนดเป้าหมายความยั่งยืนและส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมระดับโลก

2.การให้ความสำคัญเรื่องระบบการศึกษาสำหรับโลกยุคต่อไปซึ่งผู้นำจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในยุค 2.0 มาเป็นผู้สนับสนุนคนรุ่นใหม่

“ระบบการศึกษาของทั้งโลกควรเรียนเรื่องความยั่งยืนและปรับการเรียนการสอนโดยให้เด็กเป็นศูนย์กลางให้เขาได้เกิดการเรียนรู้จากการได้ลงมือทำจริงด้วยตัวเอง (Action Base Learning) เรียนรู้จากปัญหา"

รวมทั้งอีกเรื่องคือ Computer Science และ AI ในมุมมองของผู้ใช้งานไม่ใช่ความกลัวว่าจะถูกแทนที่ นอกจากนี้จะต้องปลูกฝังจริยธรรมคุณธรรมในการใช้เทคโนโลยีควบคู่กันไป

สำหรับการปรับองค์กรต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนา “คน” โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะต้องให้กล้าออกจากคอมฟอร์ทโซนมาเรียนรู้สิ่งใหม่นอกเหนือจากงานที่ทำอยู่ประจำให้พวกเขาสร้างนวัตกรรมใหม่ให้องค์กรเพิ่มขึ้น เพราะถ้าให้คนรุ่นใหม่ทำงานเหมือนเดิม 3 ปีจากคนอัจฉริยะกลายเป็นคนธรรมดาจะต้องให้โอกาสพวกเขาเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

ในยุคนี้ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนภาครัฐจะต้องเอาจริงเอาจังกับการวางโครงสร้างด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นและต้องมีการวางเป้าหมายความยั่งยืนที่ชัดเจนโปร่งใส

และเปิดเผยข้อมูลนำเสนอต่อสาธารณะรวมทั้งสื่อที่จะเป็นสิ่งที่หล่อหลอมสร้างองค์ความรู้และร่วมขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนไม่ว่าจะเป็นสื่อหลักสื่อออนไลน์ภาพยนต์และละคร

  • “เอสซีจี”ชี้วิกฤติหนุนธุรกิจเข้มแข็ง

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงกำลังฟื้นตัวจากโควิดแล้วกลายเป็นว่าเกิดความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนตามมา ซึ่งทำให้ราคาพลังงานพุ่งขึ้นไป รวมถึงวิกฤติด้านอาหารกดดันภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นกลายเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติที่หลายคนนึกไม่ถึง

เปิดสูตรธุรกิจอยู่รอดต้อง ‘ยั่งยืน’ TSCN หารือซีอีโอวางกรอบความร่วมมือ ทั้งนี้ทุกคนเผชิญวิกฤติเหมือนกันหมดโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตที่มีการใช้พลังงานแต่บริษัทจะรอดได้อย่างไร รวมทั้งหลังจากหมดวิกฤติแล้วจะปรับตัวเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันดีกว่าคนอื่นได้อย่างไรด้วย

สำหรับเอสซีจีมองว่าถือเป็นโชคดีที่ราคาถ่านหินแพงขึ้น 4 เท่าจึงทำให้บริษัทต้องเปลี่ยนมาสร้างซัพพลายเชนของพลังงานทางเลือกอื่นๆลดการใช้ถ่านลงจาก 80% เหลือครึ่งหนึ่งภายใน 2 ปี

“พอเจอวิกฤติกลายเป็นว่าทำให้คนวิ่งเร็วขึ้นและเกิดนวัตกรรมได้ดีที่สุดเพราะถ้าไม่ทำก็ไปไม่รอดและหามุมมองให้เป็นโอกาสปรับตัวซึ่งถ้าผ่านตรงนี้ไปได้บริษัทจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน”

มองโอกาสลงทุนสีเขียวในสหรัฐ

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าหลายอุตสาหกรรมมีต้นทุนที่จะเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตใหม่สูงมากและทำได้ยากต้องค่อยเป็นค่อยไปเอสซีจีเองเปลี่ยนมาผลิตสินค้าที่ลดการปล่อยก๊าซลง 5% ถึงอย่างนั้นก็ต้องมองหาเทคโนโลยีใหม่ด้วยเพราะการลดแบบในปัจจุบันมองว่าอีก 3 ปีก็ตันแล้ว

โดยเอสซีจีมองเห็นโอกาสในการเข้าไปลงทุนในสหรัฐหลังจากที่มีการผ่านร่างกฎหมาย Inflation Reduction Act ซึ่งมีนโยบายภาษีหลากหลายรูปแบบเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนและลดเงินเฟ้อในระยะยาว ซึ่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมสีเขียวในสหรัฐ และทำให้การลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นการย้ายฐานผลิตโซลาร์เซลล์เข้ามาที่สหรัฐการลงทุนด้านโลจิสติกส์ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และระบบราง

“มาตรการของสหรัฐเป็นตัวจุดประกายว่าการทำเรื่องความยั่งยืนมีวิธีอีกแบบ ซึ่งผมเห็นด้วยและมองว่าเป็นโมเดลที่น่าสนใจ คือ ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเชื่อว่าในระยะเวลา 10 ปี จะเห็นความเปลี่ยนแปลงแน่เพราะเพียงปีที่ผ่านมาก็ได้เห็นเม็ดเงินลงทุนในโซลาร์เซลล์ทะลุเงินลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊สเป็นครั้งแรกและเชื่อว่าพลังงานหมุนเวียนอื่นๆอาทิลมไฮโดรเจนใน10ปีข้างหน้าก็จะมีเม็ดเงินลงทุนมากกว่าเช่นกัน”

เปิดสูตรธุรกิจอยู่รอดต้อง ‘ยั่งยืน’ TSCN หารือซีอีโอวางกรอบความร่วมมือ

  • หนุนคนรุ่นใหม่เคลื่อนองค์กรยั่งยืน

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า การเข้าไปลงทุนของเอสซีจีอาจไม่ใช่การเข้าไปร่วมทุนโครงการขนาดใหญ่แต่เป็นการลงทุนเพื่อเข้าไปศึกษาหลายเรื่องเพราะเทคโนโลยีเรื่องของกรีนมีเยอะ

ทั้งนี้บทเรียนเรื่องความยั่งยืน 15 ปีที่ผ่านมา คือความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ไม่สามารถถอยหลังกลับไปได้เรามีเพียงแต่ต้องอยู่กับมันให้ได้และทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆหันไปคุยกับคนที่ทำเรื่องเดียวกัน

เรื่องความยั่งยืนไม่มีทางลัดผู้นำต้องสู้ก่อนและให้เวลากับมันให้เดินไปข้างหน้าและทำให้คนในองค์กรคิดไปในทิศทางเดียวกันได้

นอกจากนี้องค์กรจะต้องสร้างสมดุลของ 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านการเงิน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของธุรกิจ , มิติด้านสิ่งแวดล้อมและประโยชน์ต่อสังคมและมิติด้านเทคโนโลยี

“สุดท้ายต้องผลักเรื่องเหล่านี้ออกไปให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรียนรู้วิธีคิดโดยผู้นำต้องทำตัวเป็นผู้สนับสนุน”

ขณะเดียวกัน เรื่องความยั่งยืนรัฐไม่เข้ามามีส่วนร่วมไม่ได้ยืนเชียร์อยู่เฉยๆก็ไม่ได้เพราะเรื่องนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่มากเปรียบเทียบเมื่อก่อนเป็นทางผลิตแบบเส้นตรงผลิต-ขาย-ใช้-ทิ้ง และหลายเรื่องที่ต้องทำต้องเปลี่ยนแปลงที่นโยบายทุกฝ่ายต้องทำงานเป็นทีมทั้งภาครัฐเอกชนและประชาสังคม