จังหวัดต้นแบบ "PPP – สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ"

จังหวัดต้นแบบ "PPP – สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ"

ประชุมหารือร่วมสมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทย และผู้ว่าฯ สระบุรี ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการจังหวัดต้นแบบ "PPP – สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ" ย้ำ สิ่งแวดล้อมเป็นวาระสำคัญระดับชาติ และพร้อมสนับสนุนสระบุรีเป็นจังหวัดอุตสาหกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย ที่ทุกคนให้ความสำคัญ ซึ่งทุกฝ่ายต่างรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมพบปะหารือร่วมกันกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทย ในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมตามที่ได้ประกาศในเวทีสหประชาชาติ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ในปัจจุบันนับว่าเป็นเรื่องที่มนุษย์เราทุกคนให้ความสำคัญ และตระหนัก พร้อมจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ การขับเคลื่อนโครงการจังหวัดต้นแบบ "PPP – สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ" ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นจังหวัดสระบุรี มีการพัฒนา และยกระดับก้าวไปสู่จังหวัดเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ในลักษณะเดียวกับจังหวัดบุรีรัมย์ ที่จากเคยเป็นเมืองที่ไม่มีอะไร (Hopeless) กลายมาเป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจ และเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศไทย และภูมิภาคแห่งนี้

การเริ่มโครงการจังหวัดต้นแบบที่จังหวัดสระบุรี สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะต้องร่วมทำด้วยกัน ไม่ใช่การทำเพียงเจ้าใดเจ้าหนึ่ง เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดมาจากอุตสาหกรรมในภาพรวม จึงเป็นสิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้ โดยต้องหาแนวทางอำนวยความสะดวกต่างๆ และลดความซ้ำซ้อนอุปสรรค (Red tape) ให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ตลอดจนต้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจให้ชาวบ้าน ให้ทุกคนในพื้นที่รับรู้รับทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากพัฒนาเมืองให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นบ้านเมืองที่เป็น Smart City ด้วยเเนวคิด "ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที

 

 

 

 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวเน้นย้ำว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยมีนโยบายสำคัญคือ การจัดการขยะที่ยั่งยืน การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการสิ่งปฏิกูลในแม่น้ำลำคลอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐของทุกจังหวัดนำปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (Hydraulic Cement) ตามมาตรฐาน และคุณลักษณะ ใช้ในโครงสร้างอาคาร ที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ซึ่งการดำเนินการขับเคลื่อนในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมในจังหวัดนำร่องนั้น ทุกจังหวัดสามารถดำเนินการได้ทันทีตามกรอบแนวทางของแต่ละจังหวัดที่ได้กำหนดไว้แล้ว เพียงแต่อาจมีชื่อโครงการไม่เหมือนกัน เพราะในความเป็นจริงทุกจังหวัดต่างให้ความสำคัญ และขับเคลื่อนภารกิจโดยมีเป้าประสงค์เดียวกันคือ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้แนวทางการเป็นหมู่บ้านยั่งยืน และจังหวัด/อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ร่วมกับทุกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ดังนั้น เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญคือ การติดตามความคืบหน้าการดำเนินการ

รวมถึงการร่วมส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (Hydraulic Cement) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ควบคู่กับการเก็บข้อมูล เพื่อเปรียบเทียบคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิต รวมถึงการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว นอกจากนี้การมีระบบบำบัดน้ำเสียในอาคารบ้านเรือนที่สร้างใหม่ทุกหลังเป็นส่วนสำคัญเช่นกัน เพื่อช่วยลดโลกร้อน ตลอดจนถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ Eco Tour เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน 

 

 

 

นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า ประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ประกาศเจตนารมณ์ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ.2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608 สอดคล้องกับโครงการฯ และบริบทของจังหวัดสระบุรี โครงการจังหวัดต้นแบบ "PPP - สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ" เป็นโครงการที่จะช่วยให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่จังหวัดสระบุรี

โดยจะผลักดันเป็นจังหวัดนำร่อง เพราะจังหวัดสระบุรี เป็นพื้นที่เมืองหลวงของอุตสาหกรรมการก่อสร้าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จำนวนกว่าร้อยละ 80 ของประเทศตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งจากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจังหวัดสระบุรี มีปริมาณอยู่ที่ 27 ล้านตันคาร์บอน โดยจำนวน 19.8 ล้านตัน มีต้นตอมาจากอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการฟังเสียงของประชาชน ทุกคนให้การสนับสนุน ยินดี และเต็มใจที่จะขับเคลื่อนไปด้วยกัน ประกอบกับที่จังหวัดสระบุรี ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด และองค์การสหประชาชาติได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์การขับเคลื่อนประเทศไทยที่ยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ดังนั้น หากจังหวัดสระบุรี สามารถอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนตามแนวทางความร่วมมือภาครัฐ - ภาคเอกชน (Public - Private Partnership : PPP) ในการสนับสนุน และขับเคลื่อนโครงการย่อยภายใต้โครงการจังหวัดต้นแบบฯ ตามแผน และกรอบความร่วมมือที่กำหนด จะส่งผลให้จังหวัดสระบุรี สามารถขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

ดร.ชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ - การบริหารความยั่งยืน สมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทย ที่ได้สนับสนุนในเรื่องโครงการที่เกี่ยวกับการลดภาวะโลกร้อน จังหวัดสระบุรี เป็นเมืองที่มีความซับซ้อน และท้าทาย เนื่องจากมีระบบเศรษฐกิจที่ผสมผสานระหว่างอุตสาหกรรมพื้นฐาน ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เกษตร ท่องเที่ยว ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม จึงได้ทำงานแบบบูรณาการ (Public Private Partnership: PPP) พัฒนาสระบุรีเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ โดยออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพของเมือง ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งดึงดูดเงินลงทุนจากภายนอกประเทศ และเป็นแรงจูงใจให้จังหวัดอื่นๆ โดยอาศัยความร่วมมือเพื่อผลักดันสระบุรีสู่เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย

โดยดำเนินการผ่าน 5 โครงการหลัก ประกอบด้วย 1) ภาคพลังงาน โดยการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ การศึกษาการใช้พลังงานไฮโดรเจน และการปลูกพืชพลังงาน (Biomass) หญ้าเนเปียร์ แปรรูปเป็นเชื้อเพลิง 2) ภาคอุตสาหกรรมสีเขียวและการใช้ผลิตภัณฑ์ (IPPU) ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (Hydraulic Cement) และแอ่งเก็บคาร์บอน 3) ภาคการจัดการของเสีย ใช้ซากพืชหรือซากขยะอุตสาหกรรมมาใช้เป็นพลังงานทดแทน 4) ภาคเกษตรกรรม การทำนาเปียกสลับแห้ง สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูก สร้างมูลค่าเพิ่ม จากข้าวคาร์บอนต่ำ และรายได้จากคาร์บอนเครดิต 5) ภาคการใช้พื้นที่และป่าไม้ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ และใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดมูลค่าสูงสุด

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์