กรีนบอนด์ “เอ็กโก กรุ๊ป” 7 พันล้าน อีกก้าวสู่เป้าหมายเน็ต ซีโร่
“หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นการระดมทุนเพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น โครงการพลังงานทางเลือก การบำบัดน้ำเสีย การคมนาคมสะอาด
ผู้ออก Green Bond ได้แก่ ภาครัฐบาล ภาคเอกชน หรือสถาบันการเงิน ที่ต้องการนำเงินที่ได้จากการระดมทุนบางส่วนหรือทั้งหมดไปใช้ในการลงทุนหรือรีไฟแนนซ์ในโครงการใหม่หรือโครงการเดิมซึ่งเป็นโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม
ล่าสุดบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (หุ้นกู้กรีนบอนด์) เป็นครั้งแรก ต่อนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายใหญ่ รวมมูลค่า 7,000 ล้านบาท ด้วยยอดจองกว่า 3 เท่าของมูลค่าการเสนอขาย สะท้อนความเชื่อมั่นต่อทิศทางการเติบโตของบริษัทสู่การพัฒนาพลังงานสะอาด และการบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)ภายในปี 2593 (2050)
เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโก กรุ๊ป ได้เสนอขายหุ้นกู้ Green Bond เป็นครั้งแรก มูลค่ารวม 7,000 ล้านบาท ต่อนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายใหญ่ ในวันที่ 1-2 พ.ย.2566 และจัดออกหุ้นกู้ในวันที่ 3 พ.ย.2566โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากกว่า 80 ราย ที่แจ้งความจำนงความต้องการลงทุนเป็นจำนวนกว่า 20,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.15 เท่าของมูลค่าการเสนอขายเดิมที่ 6,500 ล้านบาท
บริษัทจึงเพิ่มหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม (Green shoes) อีก 500 ล้านบาท เพื่อตอบสนองความต้องการ และช่วยขยายฐานนักลงทุนใหม่ โดยนักลงทุนที่สนใจจองซื้อหุ้นกู้ในครั้งนี้ ได้แก่ กองทุนภายใต้การบริหารของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย ธนาคารพาณิชย์ กลุ่มสหกรณ์ และนักลงทุนประเภทอื่นๆ
สำหรับหุ้นกู้กรีนบอนด์ของเอ็กโก กรุ๊ป เป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ จำนวน 5 ชุด รวมมูลค่าทั้งหมด 7,000 ล้าน ประกอบด้วย 1.หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.35% จำนวน1,000 ล้านบาท 2.หุ้นกู้อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.71% จำนวน 700 ล้านบาท 3.หุ้นกู้อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.02% จำนวน 500 ล้านบาท 4.หุ้นกู้อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.32%จำนวน1,000 ล้านบาท และ 5.หุ้นกู้อายุ 15 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.65%จำนวน 3,800 ล้านบาท
โดยหุ้นกู้กรีนบอนด์นี้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับAA+จากทริสเรทติ้ง และจัดออกภายใต้โครงการหุ้นกู้ของเอ็กโก กรุ๊ป ปี 2566 วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยมีธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทำหน้าที่เป็น Joint Green Structuring Advisors และเป็นผู้จัดการ การจัดจำหน่ายหุ้นกู้ในครั้งนี้
“เอ็กโก กรุ๊ป ขอบคุณนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายใหญ่ที่ให้ความเชื่อมั่น และจองหุ้นกู้กรีนบอนด์อย่าง ท่วมท้น โดยเฉพาะประเภทหุ้นกู้อายุ 15 ปี แม้สภาวะตลาดในปัจจุบันมีความผันผวนทั้งจากปัจจัยภายนอก และภายใน การสนับสนุนดังกล่าวทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสม"
โดยบริษัทมีแผนจะนำวงเงินระดมทุนนี้ไปใช้ชำระคืนเงินทุนสำหรับโครงการเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประเภทพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมของบริษัท และบริษัทในเครือ ภายใต้กรอบการจัดหาเงินทุนเพื่อโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)ขององค์การสหประชาชาติ และขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)ภายในปี 2593 (2050)
แม้หุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นเหมือนแหล่งระดมทุนใหม่ และเป็นแหล่งลงทุนใหม่ แต่ก็พบว่ายังมีสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับภาพรวมของตลาดการเงิน โดยจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า การออก Green Bond ในไทยตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา มีมูลค่ารวม 85,300 ล้านบาท จาก 11 บริษัท คิดเป็นเพียง 2% ของมูลค่าหุ้นกู้ภาคเอกชนทั้งหมด และมากกว่า 50% ออกโดยบริษัทในกลุ่มพลังงาน ซึ่งประเมินว่าไทยต้องการเงินลงทุนในภาคพลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยปีละไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 25% ภายในปี 2573
แม้การระดมทุนจากกรณี เอ็กโก กรุ๊ป จะเป็นตัวอย่างที่ดีต่อการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่พบว่ามีอัตราผู้สนใจมากกว่ามูลค่าเสนอซื้ออยู่สูงมากแต่ภาพรวมหากไทยก็ยังไกลจากเป้าหมายการระดมทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม จึงต้องจับตาดูตลาดผลิตภัณฑ์ทางการเงินกับลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมนี้ต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์