'แพลนต์เบสฟู้ด' กลุ่มปตท.รุกคนรุ่นใหม่ ปั้น 'คอมมูนิตี้อาหารแห่งอนาคต'
“อาหารแพลนต์เบส” จะไม่ใช่เพียงแค่เป็นอาหารที่ย่อยง่ายอย่างเดียว แต่จะมีเรื่องของ ESG : Environment, Social, Governance ที่บริโภคด้วยความรับผิดชอบในเรื่องของห่วงโซ่อาหารที่สั้นลงด้วย เพราะโปรตีนจากสัตว์ถือว่ามีห่วงโซ่อาหารที่เวลานาน
บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด กล่าวถึง ความคืบหน้าโรงงานใน บริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศไทย : Plant & Bean (Thailand) ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชให้แก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการด้านอาหารว่าขณะนี้ โรงงานแพลนท์เบสได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ อยู่ระหว่างทดลองตัวผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งได้เริ่มทดลองวางจำหน่ายในร้านอาหารเพื่อสุขภาพในชื่อร้าน “alt. Eatery” และอีกส่วนจำหน่ายในร้าน Texas Chicken ถือเป็นคอมมูนิตี้อาหาร Plant-Based เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์กลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่
“โรงงานแพลนต์เบสที่อยุธยาเสร็จแล้ว ตอนนี้ก็ทะยอยนำผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามาป็นโปรดักส์ไปทดลองและผลิต ที่ผ่านมามีลูกค้าเข้ามาที่เยี่ยมชมโรงงานเพื่อให้เราทดลองผลิตให้จำนวนมาก ช่วงปลายเดือนที่ผ่านมาสมาคมผู้ผลิตแพลนต์เบสไทย ได้พาสมาชิกเข้ามาเยี่ยมชมโรงงานด้วย รวมถึงลูกค้าที่มาในรูปแบบพัฒนาสูตรร่วมกัน จึงไม่ได้ทำเป็นสินค้าเราขายเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ในช่วงไตรมาส 4/2566 จะเห็นผลิตภัณฑ์ออกมาอีกแน่นอน ซึ่งขณะนี้ ในเรื่องของการใบอนุญาตก็ได้เกือบครบหมดแล้ว”
ทั้งนี้ โรงงานแพลนต์เบส กลุ่มปตท. ถือเป็นโรงงานแพลนต์เบสแรกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ผลิตเฉพาะอาหารที่ทำมาจากพืชโดยเฉพาะ ถือเป็นอีกธุรกิจที่ยกระดับในเรื่องของอาหาร ก้าวสู่การเป็น ฟู๊ด อินโนเวชั่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า
แพลนต์เบสในไทยยังไม่เป็นกระแสมากเท่าฝั่งยุโรป หากสามารถทำดีก็จะสามารถหาลูกค้าต่างประเทศได้ กลายถือเป็นฐานการส่งออกได้ดี
บุรณิน กล่าวว่า สำหรับเทรนด์การทานอาหารแพลนต์เบสในประเทศไทยนั้น เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจต้องแยกกันระหว่าง กลุ่มวีแกน ซึ่งเป็นกลุ่มที่บริโภคสินค้าที่ไม่มีส่วนผสมของวัตถุดิบที่มาจากสัตว์ และไม่มีการใช้สัตว์ในกรรมวิธีการผลิตใด ๆ เลยกับ กลุ่ม Flexitarian ซึ่งเป็นกุล่มผู้บริโภคมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น สามารถทานเนื้อสัตว์ได้และทานพืชก็ได้เป็นบางครั้งคราว ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในร้านอาหารจะมีทั้งไส้กรอกที่ทำโดยโปรตีนจากพืช และไส้กรอกอีกหลากหลายชนิด ทั้งเนื้อ หมู ไก่ เป็นต้น
สำหรับมูลค่าตลาดรวมแพลนต์เบสในประเทศไทยนั้น ในอดีตได้มีการวิเคราะห์ไว้ที่ประมาณปีละ 50,000 ล้านบาท ถือว่าเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ราว 5% - 10% ซึ่งจะรวมถึงการแปรรูปมาเป็นร้านอาหารแล้วด้วย เพราะกระแสคนรุ่นใหม่นิยมดูแลเรื่องสุขภาพมากขึ้น เมื่อ ปตท. เข้ามาดูธุรกิจ Life sciences ธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับมนุษย์ ก็จะไม่ได้มุ่งไปที่คนสูงวัยอย่างเดียว เพราะคนรุ่นใหม่ก็มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น จึงไม่ได้เข้ามาดูแค่เรื่องยาอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการป้องกัน
บุรณิน กล่าวว่า อินโนบิกถือเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ที่จะช่วยดันกำไรตามเป้าหมายที่วางไว้ของกลุ่มธุรกิจใหม่ที่ 30% ในปี ค.ศ. 2030 ถือเป็นความโชคดีที่กลุ่มธุรกิจยาประสบความสำเร็จค่อนข้างดีจากการเข้าไปลงทุนถือหุ้นใน บริษัท โลตัส ฟาร์มาซูติคอล จำกัด บริษัทยาระดับโลกของไต้หวัน ตามสัดส่วนการถือหุ้น 37% หรือคิดเป็นประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีการขายยาทั่วโลก คาดว่าปี 2566 โลตัส ฟาร์มาซูติคอล จะมีกำไรระดับ 3-4 พันล้านบาท จากปีที่ผ่านมากำไรที่ระดับกว่า 1 พันล้านบาท ถือว่ากำไรเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ซึ่งในส่วนของอินโนบิกเองคาดว่าจะมีกำไรปีนี้เป็นตัวเลข 3 หลัก
สำหรับโรงงานแพลนต์เบสเกิดจากการร่วมทุนระหว่าง อินโนบิก และบริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด ร่วมทุนกับ บริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศอังกฤษ ในสัดส่วนการลงทุน 51% และ 49% ตามลำดับ โดยจัดตั้งบริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด หรือ NRPT ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทเอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ถือหุ้น 100%
โดยนำเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนจากพืชชั้นสูงจากประเทศอังกฤษ มาตั้งไว้ที่ประเทศไทย ตั้งเป้ากำลังการผลิตเบื้องต้นที่ 3,000 ตันต่อปี ในการดำเนินธุรกิจพัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชครบวงจร
อาหารเพื่อสุขภาพในเวอร์ชั่น “แพลนต์เบส”สามารถตอบโจทย์ทั้งสุขภาพส่วนบุคคลและสุขภาพสิ่งแวดล้อม ควบคู่กันไปได้ แต่ขึ้นชื่อว่าอาหารย่อมต้องมีเรื่องของรสชาติ เนื้อสัมผัสที่ต้องตอบโจทย์ใหญ่ที่เรียกว่า “ความอร่อย”ให้ได้