“ขยะพลาสติก” ทำเงินกับผลทางเทคโนโลยี เท่ากับ “มลพิษทางทะเล” ที่ลดลง
ขยะพลาสติกเป็นขยะย่อยสลายได้ยาก หากไม่มีการจัดการที่ดีขยะเหล่านี้ก็จะกลายเป็นมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม แต่พลาสติกก็เป็นสิ่งที่จำเป็น และหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้ไม่ได้ แม้จะมีความพยายามลดการใช้ไปบ้างแล้วแต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ปัญหาขยะพลาสติกดีขึ้น
เศกสันต์ อุดมศรี ผู้ก่อตั้ง บริษัท วงษ์พาณิชย์กระบี่ จำกัด กล่าวในงาน GC Sustainable Living Symposium2023: We are GEN S ว่าปัญหาประเทศไทยสร้างขยะพลาสติกเกือบ 2 ล้านตันต่อปี ไทยเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมมากที่สุดในโลกด้านขยะสู่มหาสมุทร อันดับที่ 6 และมีขยะในแต่ละปี 257 ล้านตัน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก ซึ่งต้องมีการใช้นวัตกรรมที่เกิดได้จากการร่วมมือซึ่งกัน และกัน รวมถึง การสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน และเทศบาลในการเก็บขยะในพื้นที่บริเวณต่างๆ อย่างบริเวณอ่าวไทยโดยตั้งเป้าหมายหลัก 1,000 ตันต่อวัน รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถ และจูงใจชุมชน ระดับพื้นที่มาร่วมเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
“มีระบบการจัดการให้ชาวประมง 20,000 ครอบครัว ผู้ด้อยโอกาสใน 20 เกาะ ได้รับความรู้โดยการฝึกสอน และการฝึกอบรมเพื่อทําความเข้าใจมลพิษจากพลาสติกในมหาสมุทร รวมถึงจัดส่ง คัดแยก ขยะต่างๆ รวมถึงการอัพไซเคิล (upcycling) และขายวัตถุดิบ และการติดตามด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน จะช่วยลดปริมาณขยะที่จะไปสู่ท้องทะเลได้”
อย่างไรก็ตาม “การเก็บขยะ” จะต้องมี “เรื่องเงิน” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะโน้มน้าวใจชาวบ้านให้มีการเก็บขยะเพิ่มมากขึ้น และสามารถสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน และทำให้ชาวบ้านอยากร่วมกิจกรรม ซึ่งบริษัทได้ให้หลักคิดนี้มาทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านด้วยการเปิดให้ลงทะเบียนกับบริษัทเพื่อรับซื้อขยะในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด รวมถึงขยะบางประเภทที่อื่นไม่รับซื้อ ก็จะรับซื้อในราคาพิเศษโดยการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือสามารถลดขยะในชุมชนได้ และลดการเผาถึงหรือการทำลายได้อีกด้วย
แนวทางจัดการด้านขยะจากแหล่งสำคัญนั่นคือ ชุมชนได้รับการจัดการแล้ว ภารกิจต่อไปคือ การจัดการกับขยะพลาสติกดังกล่าวต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนมาช่วยทำงานต่อ
วริทธิ์ นามวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีมูลค่าเพิ่ม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) GC กล่าวว่า จีซี ให้ความสำคัญกับ Circular economy เป็นหัวใจหลักของความยั่งยืน รวมถึงการแก้ปัญหาโลกร้อน และขยายธุรกิจคาร์บอนต่ำให้น้อยลง การรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ อย่างการเปลี่ยนแปลงพอร์ตโฟลิโอในการผลิตให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และเร่งการเติบโตไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนโดย
1. การใช้ประสิทธิภาพของเคมีภัณฑ์ การผลิตพลาสติกให้มีประสิทธิภาพ และใช้ให้คุ้มค่ามากขึ้น
2. ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มาจากพืช ที่สามารถย่อยสลายได้
3. การรีไซเคิล และการนำวัสดุเหลือใช้มาใช้ใหม่ รวมถึงความร่วมมือในการรีไซเคิลขวดพลาสติกมารีไซเคิลเป็นขวดเหมือนเดิม การเปลี่ยนขวดพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีความยั่งยืนมากขึ้น และช่วยส่งเสริมการรีไซเคิลในชุมชน และสามารถนำพลาสติกมาเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และร่วมมือกับภาครัฐส่งเสริมให้มีการรีไซเคิลในชุมชนมากขึ้น
นาริฐา วิบูลยเสข ผู้อำนวยการบริหารหน่วยธุรกิจน้ำดื่ม บริษัท เนสท์เล่ (ไทย)จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทมีเป้าหมายลดการใช้พลาสติกใหม่ในปี 2050 โดยมีเป้าหมาย ดังนี้
1.ต้องเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก
2.มีการดูแลและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
3. การจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน
4.การปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงผลิตภัณฑ์ทุกอย่างในอนาคตต้องสามารถรีไซเคิลทั้งหมด 100% จะสามารถลดการใช้พลาสติกได้ 1,200 ตัน โดยใช้พลังงานน้อยกว่า 80%
อยากให้รัฐบาลปลดล็อกกฎหมายการรีไซเคิลขวดพลาสติกมากขึ้น และให้ภาครัฐผลักดันกฎหมาย ปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) ซึ่งจะช่วย ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลอย่างแพร่หลาย
ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ได้ใช้หลักสูตร DPU Core เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจความยั่งยืนในปัจจุบันมากขึ้น ประเด็นสำคัญของหลักสูตรได้แก่ ด้าน 1. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสําหรับชีวิตที่ยั่งยืน 2.นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน 3.การวิเคราะห์ข้อมูลสําหรับผู้ประกอบการที่ยั่งยืน เพื่อความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งสามารถใช้ความรู้ ความเข้าใจจากหลักสูตรไปประยุกต์ใช้ในอนาคต
“พลาสติก”เป็นสิ่งจำเป็นเพราะมีคุณประโยชน์หลายอย่าง แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นอีกเช่นกันที่ทุกคนจะต้องช่วยกันจัดการไม่ให้พลาสติกที่ใช้แล้วกลายเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเทคโนโลยี และองค์ความรู้มีส่วนช่วยให้การจัดการปัญหาขยะพลาสติกลดลงได้แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ จิตสำนึก และความเข้าใจที่จะแก้ปัญหานี้ร่วมกันเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์