‘ลอรีอัล’ ยก Brand Purpose สานความยั่งยืน สร้างสรรค์ความงามที่ขับเคลื่อนโลก
องค์กรอายุกว่า 100 ปี แต่กลับมีความทันสมัยอย่างยิ่ง มีนวัตกรรมการผลิตสินค้า การทำตลาด ติดอาวุธด้วยเทคโนโลยี ทั้งเออาร์ (Augmented reality:AR) และเอไอ (Artificial Intelligence: AI) มาสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภค
ในประเทศไทย “ลอรีอัล” ภาพใหญ่ของลอรีอัลจะเป็นเหมือนกันทั่วโลกหรือไม่อย่างไร รายการ SUITS Sustainability เปลี่ยนโลกธุรกิจของ “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนหาคำตอบกับ อรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กรและสื่อสารสัมพันธ์ ลอรีอัล กรุ๊ป ในประเทศไทย
“ลอรีอัล กรุ๊ป” บริษัทความงามอันดับ 1 ของโลก ที่การขับเคลื่อนธุรกิจกำลังยกระดับความสวยให้ผู้คนไปอีกขั้นด้วยการนำเทคโนโลยี มาตอบโจทย์ผู้บริโภค และยังก้าวสู่การเป็นบริษัท “บิวตี้ เทค” (Beauty Tech)
ด้านนวัตกรรมผลิตของลอรีอัลมีความโดดเด่นอย่างยิ่ง เพราะบริษัททุ่มเทให้กับการวิจัยและพัฒนาสินค้าความงามที่ต้องเน้นประสิทธิภาพ ความปลอดภัย เพื่อตอบสนองผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนการคิดค้นสูตร ส่วนผสมใหม่ๆ(Ingredient) ที่ไม่เพียงประสิทธิภาพดีแต่ต้องมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงด้วย
หนึ่งในกลยุทธ์สร้างการเติบโตของ “ลอรีอัล” คือการเข้าซื้อกิจการ(Acquisitions) แบรนด์ต่างๆเสริมความแข็งแกร่งให้กับพอร์ตโฟลิโอความงาม ซึ่งปัจจุบันมีมากถึง 3 แบรนด์ เมื่อ 5 ปีก่อนบริษัทยังซื้อกิจการเทคโนโลยีอย่าง “ModiFace” นำเอไอผสานกับธุรกิจความงาม ต่อจิ๊กซอว์สู่บิวตี้ เทค คัมปะนีนั่นเอง
ส่วนประเทศไทย “ลอรีอัล” มีสินค้า 15 แบรนด์ทำตลาด ครอบคลุมสินค้าอุปโภคเจาะตลาดทั่วไป (Consumer Products) เช่น ลอรีอัล ปารีส การ์นิเย่ เมย์เบลลีน ฯ กลุ่มเวชสำอาง(Dermatological Beauty) เช่น ลา โรช-โพเซย์ เซราวี สินค้าความงามชั้นสูง(Lux) เช่น ลังโคม คีลส์ ไบโอเธิร์ม และสินค้าสำหรับมืออาชีพ(Professional Profucts) เช่น ลอรีอัล โปรเฟสชันแนล เคเรสตาส เจาะกลุ่มร้านทำผมหรือซาลอนทั่วไทย การทำงานยังเจาะลึกความต้องการผู้บริโภคคนไทย(Insight) เพื่อพัฒนาสินค้าที่แก้ Pain Point ให้ตรงใจยิ่งขึ้น เช่น ส่วนผสมวิตามินซีช่วยให้ผิวกระจ่างใส
“ตอนนี้เราก้าวสู่การเป็นบิวตี้ เทค คัมปะนีเต็มตัว มีนวัตกรรม เทคโนโลยีมากมายช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ อย่างเออาร์ เอไอ ช่วยวิเคราะห์เส้นผม สภาพผิว ความกร้าน หรือปัญหาต่างๆได้อย่างแม่นยำ และการมีข้อมูลหรือ Data ยังสำคัญ เมื่อข้อมูลที่มากพอ ทำให้เรารู้ว่าผิวแต่ละคนเป็นแบบไหน เหมาะสมกับอายุหรือไม่ ผู้บริโภคเริ่มใส่ใจดูแลผิวหรือยัง ถ้าไม่ดูแลตอนนี้ อนาคต 15 ปีข้างหน้าผิวอาจย่ำแย่ลง เทคโนโลยีช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ได้ และช่วยเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับแต่ละคนสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคในการดูแลความสวยงามเป็นองค์รวม”
เนื่องจาก “ความงาม” เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงมีความมั่นใจ ไม่แค่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ “ลอรีอัล” ให้ความใส่ใจ แต่ “บุคลากร” ภายในองค์กรสำคัญเช่นกัน ซึ่งบริษัทเต็มไปด้วยคนทำงานที่มีความหลากหลาย LGBTQI มีความเท่าเทียมด้วย มีการสร้างกรอบความคิด “DE&I” หรือ Diversity, Equity & Inclusion
“ลอรีอัลเน้นเรื่อง DE&I เพราะตอนนี้ไม่มีแค่เรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่ยังหลากหลายทั้งกลุ่มอายุ เจเนอเรชันที่แตกต่างกัน ปูมหลังไม่เหมือนกัน มาจากหลายพื้นที่หรือ Socio-economic background เรามองทุกมิติเพื่อขับเคลื่อนองค์กร”
ขณะเดียวกันประชากรโลกที่มีผู้หญิงจำนวนมาก ลอรีอัล ยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มบทบาทของผู้หญิงมากขึ้นเรื่อยๆ(Women's empowerment) “หลักล้านคนทั่วโลก” ให้มีศักยภาพด้านต่างๆ โดยใช้แบรนด์สินค้าเป็นแรงสนับสนุน เช่น ลอรีอัล “คุณค่าที่คุณคู่ควร” ไม่ใช่แค่สโลแกน แต่ทำให้รู้สึกถึงพลังอำนาจ รวมถึงการช่วยเหลือประเด็นทางสังคมต่างๆ ส่วนแบรนด์อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ โบเต้ (YSL Beauty)ดำเนินโครงการ “Abuse is Not Love” ซึ่งเป็นการร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเผยแพร่ความรู้และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนความรุนแรงในคู่รักในกลุ่มคนรุ่นใหม่ หวังเป็นจุดเริ่มต้นการแก้ปัญหาความรุนแรงในคู่รักในประเทศไทย
ในฐานะบริษัทความงามระดับโลก “ลอรีอัล” ยังย้ำความสำคัญของนักวิจัยสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์ด้วย ในประเทศไทยได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยต่อเนื่องเป็นปีที่ 21 แก่นักวิจัยผู้หญิงกว่า 80 คน กว่า 20 หน่วยงาน ที่มีผลงานโดดเด่นและสร้างประโยชน์ต่อสังคมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เป็นต้น
ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดำเนินธุรกิจที่มุ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง “ลอรีอัล” ทำมานานหลายสิบปีผ่านเป้าประสงค์ของแบรนด์(Brand Purpose) “สร้างสรรค์ความงามที่ขับเคลื่อนโลก”
“ลอรีอัล เราไม่ได้ทำงานแค่ขายสินค้า แต่ทำอย่างไรให้สินค้าของเราสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”
ทั้งนี้ เป้าหมายปี 2568 โรงงาน สำนักงาน(ออฟฟิศ) ศูนย์วิจัยและพัฒนา(R&D center) ตึกทำงานต่างต้องใช้พลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน หากมีข้อจำกัดจะหาคาร์บอนเครดิตมาชดเชย เพื่อผลักดันองค์กรให้ก้าวสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน(carbon neutrality) ส่วนปี 2030 หรือ พ.ศ.2573 ธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จะต้องใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ 95% สินค้าตรวจสอบย้อนกลับได้ พลาสติกต้องมาจากรีไซเคิลเท่านั้น หรือใช้วัสดุชีวภาพ (อาทิ กระดาษ) (Bio Based Sources) ไม่ใช้พลาสติกใหม่ (virgin plastic) หรือพลาสติก PET ที่ปัจจุบันลดใช้การได้ 76% ของบรรจุภัณฑ์ PET มาจากพลาสติกรีไซเคิลแล้วในปี 2565 มุ่งปรับเปลี่ยนการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกให้มากสุด การคิดค้นสูตรผลิตภัณฑ์ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำ เป็นต้น
เพื่อให้เห็นภาพ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์เปลี่ยนรูปแบบ บรรจุภัณฑ์ไซส์ไม่ใหญ่ ความหนาแน่นบรรจุภัณฑ์ลดลง ทำให้ใช้วัสดุน้อยลง รูปแบบขวดเปลี่ยนเป็นเติมหรือรีฟีล เช่น แชมพู ในยุโรปปรับรูปแบบจากน้ำไปเป็นก้อน ทำให้กระบวนการผลิตลดการใช้น้ำลง ลังโคมขวดหรูหรา น้ำหอมแบรนด์หรูที่ขวดสวยงาม ผู้บริโภคต้องการสะสม มีแพ็กเกจจิ้งรีฟีล ทำให้ผู้บริโภคจ่ายน้อยลง แบรนด์ไบโอเธิร์มมีการจับมือพันธมิตรในการเก็บบรรจุภัณฑ์กลับคืน 60-70 จุด เพื่อนำไปรีไซเคิลต่อ ส่วนผู้บริโภคได้รับคะแนนสะสม เป็นต้น
“ลอรีอัลเป็นบริษัทความงาม บางแบรนด์อาจไม่ได้สื่อสารชัดเจนในการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ภาพรวมทุกแบรนด์เรามุ่งมั่นสานพันธกิจให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้”