'ข้าวตอที่ 2' ทำนาไม่ต้องเผาฟางลด PM2.5 'Zero Waste' เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
ศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี ต้นแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดการเผา เปลี่ยนสู่การทำนาข้าวตอที่ 2 เดินหน้า 'Zero Waste' พร้อมวางแผนนำ 'โซลาร์เซลล์' มาใช้ในการบริหารจัดการระบบของศูนย์ฯ อย่างครบวงจร
Key Point :
- ศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี ห้องทดลองปลูกข้าว ต้นแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
- ศูนย์ดังกล่าว มีการจัดการแปลงนาลดการสร้างมลภาวะ ไม่เผาตอข้าวเก่าที่เป็นสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจก
- พร้อมกันนี้ ยังเปลี่ยนสู่การทำนาข้าวตอที่ 2 เดินหน้าลดขยะ 'Zero Waste' วางแผนใช้พลังงานสะอาด บริหารจัดการระบบครบวงจร
ศูนย์การเรียนรู้เกษตรและแปลงนาสาธิต โรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี เป็นต้นแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มีการวางแผนและออกแบบให้นำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างคุณค่าจากทรัพยากรที่มีให้ได้มากที่สุด และที่สำคัญจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ตั้งอยู่บนพื้นที่ 42 ไร่ ของโรงไฟฟ้าหนองแซง ซึ่งพื้นที่หลักจะเป็นที่นาสำหรับปลูกข้าว เปรียบเสมือนห้องทดลองในการปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ เพื่อเป็นแนวทางให้ชาวบ้านสามารถนำไปต่อยอดในพื้นที่นาของตัวเองได้ นอกจากนี้ มีการปลูกพืชผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ ที่สามารถนำไปแปรรูปต่อเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีที่ได้ดำเนินโครงการมา มีผู้เข้ามาศึกษาดูงานที่ไม่ใช่เพียงเกษตรกรในชุมชนโดยรอบเท่านั้น แต่ยังมีทั้งนักเรียน นักศึกษา หน่วยงานราชการจากที่ต่างๆ มาเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เมื่อเร็วๆ นี้ได้จัดกิจกรรม 'สืบสานวิถีชาวนาไทย ร่วมใจลงแขกเกี่ยวข้าว' ประเพณีที่สืบต่อกันมาแต่โบราณและยังเป็นวัฒนธรรมสะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวนาไทยที่มีความผูกพันกับธรรมชาติอีกด้วย ภายในงานยังมีการนำผลผลิตที่ได้จากการเก็บเกี่ยว มาสาธิตวิธีการแปรรูปเป็นอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่า อาทิ วิธีการทำข้าวจี่ไข่ อาหารพื้นบ้านของภาคอีสานและภาคเหนือ ซึ่งใช้ข้าวเหนียวเขี้ยวงูและไข่จากฟาร์มไก่ไข่ภายในบริเวณศูนย์การเรียนรู้ฯ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ร่วมงานได้นำแนวคิดไปปรับใช้ต่อยอดและพัฒนาเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีการนำผลิตภัณฑ์จากข้าวอีกหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งเป็นผลผลิตบางส่วนจากแปลงนาซึ่งได้เก็บเกี่ยวในช่วงฤดูกาลก่อนหน้านี้ นำมาทำเมนูอาหารสำหรับผู้ร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็น ไอศกรีมข้าวหอมจากข้าวกล้องมรกต ข้าวเม่าจากข้าวเหนียวเขี้ยวงู และซีเรียลจากข้าวไรซ์เบอร์รี่
ธนญ ตันติสุนทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ กล่าวว่าพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าหนองแซง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ศูนย์ฯ มีการจัดการแปลงนาที่ลดการสร้างมลภาวะ โดยจะไม่เผาตอข้าวเก่าที่เป็นสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจก แต่เปลี่ยนเป็นการทำนาข้าวตอที่ 2 แทน ซึ่งตอข้าวเก่าจะถูกหมุนเวียนโดยใช้จุลินทรีย์ย่อยเป็นปุ๋ย สำหรับการปลูกข้าวรอบใหม่ ถือเป็น 'Zero Waste' หรือการกำจัดขยะให้มีปริมาณน้อยที่สุด จนไม่มีขยะเหลือเป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และมีแผนที่จะนำพลังงานสะอาดอย่างโซลาร์เซลล์มาใช้ในการบริหารจัดการระบบของศูนย์ฯ อย่างครบวงจรมากขึ้นในอนาคต
ธนากิจ กายพรมราช ผู้จัดการโรงไฟฟ้าหนองแซง เผยว่าได้ตั้งเป้าที่จะผลักดันวิถีเกษตรอินทรีย์ผ่านการอบรมให้กับชุมชน โดยที่ผ่านมาได้มีการให้ความรู้ในหลายเรื่อง เช่น การเลี้ยงไส้เดือนและทำปุ๋ยมูลไส้เดือนใช้ในการปลูกพืชผักสวนครัว, การเลี้ยงหนอนแมลงทหารดำ ที่จะใช้วิธีการนำปลายข้าวและเศษพืชผัก มาเป็นอาหารให้หนอน และนำหนอนระยะดักแด้ มาเป็นอาหารไก่ไข่ภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ นำร่องสู่การทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรและสร้างความยั่งยืนให้กับวิถีเกษตรชุมชนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่จังหวัดสระบุรีประกอบอาชีพทางการเกษตรโดยเฉพาะที่ อ.หนองแซง จะมีการทำนาเป็นหลักเนื่องจากมีคลองชลประทาน 'ดุรงค์ฤทธิ์ ศิริวัฒนพันธ์' ปลัดจังหวัดสระบุรี เสริมว่าการทำแปลงนาสาธิต เพื่อเป็นแนวทางให้ความรู้กับชาวบ้านในเรื่องของการทำนา โดยไม่ต้องมีการเผาฟาง เป็นการทำเกษตรแบบหมุนเวียนที่ได้ผลผลิตไม่ต่างไปจากการทำนาโดยใช้เครื่องจักร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ศูนย์แห่งนี้ สนับสนุนโดย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ค้นคว้าและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการเกษตร และยังเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าชุมชนกับภาคอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูลกันประชาชนทั่วไปที่สนใจติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ : เว็บไซต์ - คลิก เฟสบุ๊กแฟนเพจ - Gulf Energy Development และ เฟสบุ๊กแฟนเพจ Gulf SPARK