ความมั่นคงด้านน้ำ กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ความมั่นคงด้านน้ำ  กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นสัปดาห์นี้ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 12 ธ.ค. ที่นครดูไบ จะเป็นการรวมตัวกันของประชาคมโลก

เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต่อการความร่วมมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลกที่เข้าสู่ช่วงเวลาวิกฤติแล้ว 

สำหรับประเทศไทยนั้น ความจำเป็นเร่งด่วนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือการยกระดับมาตรการสร้างความมั่นคงด้านน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เพิ่มสูงขึ้นจากอุทกภัยและภัยแล้ง

ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ความเสี่ยงและความเปราะบางของประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากสถิติข้อมูลพบว่า อุณหภูมิโลกสูงขึ้นนับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 ในขณะที่สถานการณ์ฝน แม้จะมีความถี่ลดลงแต่กลับทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้แบบจำลองยังบ่งชี้ ว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมเพิ่มขึ้นในหน้าฝน และเสี่ยงต่อภัยแล้งมากขึ้นในหน้าแล้ง โดยปัจจุบันประเทศไทยอยู่อันดับที่ 9 ของโลกตามดัชนีความเสี่ยงด้านอุทกภัย (INFORM Risk Index)

อุทกภัยถือเป็นภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยมากที่สุด เหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปี พ.ศ. 2554 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 680 คน และผู้ได้รับผลกระทบเกือบ 13 ล้านคน อีกทั้งยังสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่าราว 46.5 พันล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 12.6% ของจีดีพี และสำหรับอุทกภัยครั้งรุนแรงในเมื่อเดือนต.ค. 2565 รัฐบาลต้องจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยสูงถึง 663 ล้านดอลลาร์หรือ0.13% ของจีดีพี

ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง โดยเกิดวิกฤติภัยแล้งรุนแรง ในปี 2522 2537 และ 2542 ทั้งนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีอัตราความยากจนสูงสุด มีความเปราะบางต่อปัญหาภัยแล้งเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี สถานการณ์อุทกภัยเมื่อปี 2554 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ก่อให้เกิดความตระหนักถึงความจำเป็นในการลงทุนในระบบบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน และการบูรณาการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและเป็นเชิงรุก ซึ่งรวมถึงมาตรการด้านการปรับตัวต่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและด้านการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ทำการศึกษาสาเหตุและผลกระทบอันเกิดจากอุทกภัย และจัดทำแผนหลักเพื่อการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จนมีผลออกมาเป็น “แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผน"

แผนทั้ง 9 นี้ ครอบคลุมโครงการลงทุนด้านโครงสร้างระบบชลประทาน การกักเก็บน้ำและการระบายน้ำ รวมมูลค่าราว 3 แสนล้านบาท เพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่มีมูลค่าผลผลิตครึ่งหนึ่งของประเทศไทย อีกทั้งยังมี เขตอุตสาหกรรม และชุมชนเมืองที่มีความหนาแน่นประชากรสูง

ขณะนี้ธนาคารโลกอยู่ระหว่างการหารือกับรัฐบาลไทย เพื่อสนับสนุนโครงการ 9 แผนฯ โดยเริ่มดำเนินการจากแผนบรรเทาอุทกภัยฯ แผนที่ 1 ในฝั่งเจ้าพระยาตะวันออกตอนล่าง ร่วมกับกรมชลประทาน เพื่อปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานเดิม 24 คลอง ความยาวรวม 464.3 กิโลเมตร และก่อสร้างปรับปรุงอาคารบังคับน้ำและสถานีสูบน้ำอีกจำนวนหนึ่ง แผนนี้ยังจะช่วยเพิ่มความสามารถในการกักเก็บน้ำในช่วงหน้าแล้งไว้ในคลองเพิ่มได้อีก 18 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และบรรเทาอุทกภัยให้กับพื้นที่ 276,000 ไร่ สามารถลดมูลค่าความเสียหายจากอุทกภัยได้ถึง 6,281 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังเพิ่มศักยภาพการส่งน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคให้ประชาชน รวมถึงการส่งน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระเพื่อภาคอุตสาหกรรมในเขต EEC อีกด้วย

แม้รัฐบาลไทยจะมีความคืบหน้าในการรับมือกับปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก แต่ยังคงมีความท้าทายบางประการที่ต้องดำเนินการต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเร่งการจัดการน้ำท่วมตามแนวพระราชดำริซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่ในการกักเก็บน้ำและสร้างระบบบริหารจัดการข้อมูลที่มั่นคง การเสริมสร้างประสิทธิภาพระบบคาดการณ์และเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลันที่มีการใช้แบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแผนที่ภัย การวางแผนการใช้ที่ดิน และการพัฒนาสีเขียว

     “แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผน” นี้ จะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยจำนวนหลายล้านคน อีกทั้งจะเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับประเทศที่ต้องการสร้างภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านมาตรการจัดการอุทกภัยที่มีประสิทธิภาพต่อไป