'NRF' ชูยุทธศาสตร์ ดันผลิตภัณฑ์ สู่ Net Zero ยั่งยืนครบวงจร
'NRF' ชูความยั่งยืนอุตสาหกรรมอาหาร ปลุกศักยภาพคนต้นน้ำ ยกระดับเกษตรอินทรีย์ สร้างกลางน้ำ ด้วย Green Manufacturing และ Food Innovation ลงทุนปลายน้ำ หนุนเกษตรกรยกระดับสู่ตลาดส่งออก ตอบรับการเปลี่ยนแปลง ตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ปัจจุบัน เป้าหมายของไทย และนานาประเทศต่างตั้งเป้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net Zero ในภาคธุรกิจเอง ไม่เพียงแค่การปรับกระบวนการทำงานภายในเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่จะผลักดันสู่ความยั่งยืนได้ทั้งระบบห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำคือ สร้างภูมิคุ้มกันให้ซัพพลายเออร์ หรือคู่ค้าระดับ SMEs ตลอดซัพพลายเชน ให้สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับธุรกิจใหญ่ได้ ในบริบทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมไปถึงสร้างความยืดหยุ่น ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
'แดน ปฐมวาณิชย์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF กล่าวในวงเสวนา หัวข้อที่ 4 ปลุกศักยภาพคนรับการเปลี่ยนแปลงตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Building Supply Chain Resilience) ในการประชุม GCNT Forum 2023 : Partnership for Human Capital 5.0 จัดโดย UNGCNT : UN Global Compact Network Thailand ร่วมกับสหประชาชาติ โดยระบุว่า ธุรกิจของ NRF ไม่ใช่แค่อาหารโปรตีนทางเลือก แต่แท้จริงแล้วยังมีผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส ซอส และเครื่องแกง ตอนวางกลยุทธ์ เรามองว่าภายในปี 2030 อุตสาหกรรมอาหารโดยเฉพาะภาคส่งออก คู่ค้าอย่างร้านค้าปลีก ต่างมีเป้าหมายสู่ Net Zero ขณะที่ 60% ของร้านค้าปลีกมาจากซัพพลายเออร์ ดังนั้น จุดยุทธศาสตร์ของบริษัท คือ ทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์เข้าสู่ Net Zero ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- NRF ชี้ SDGs + BCG หนทางดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ
- "NRF" ชู 3 กลยุทธ์ สู่ "อุตสาหกรรมอาหาร" ยั่งยืน
- NRF ปฏิรูปห่วงโซ่อาหาร เดินหน้า carbon negative ปี 2050
วัฒนธรรมองค์กร จุดเริ่ม Net Zero
หากย้อนกลับมาดูเรื่องของห่วงโซ่อุปทาน NRF มีการดำเนินการครบตั้งแต่ 'ต้นน้ำ' โดยทำงานร่วมกับเกษตรกรกว่า 1,000 รายในการเปลี่ยนสู่เกษตรอินทรีย์ ลดการเผา ขณะที่ 'กลางน้ำ' คือ โรงงานการผลิต และ 'ปลายน้ำ' อย่างร้านค้าปลีกที่รองรับการส่งออกสินค้าเกษตรกร รวมถึง การตั้งเป้าสู่การลดก๊าซเรือนกระจก และ Zero Waste
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด อุตสาหกรรมอาหารก็ยังคงหนีไม่พ้นการใช้พลังงาน แต่ทำอย่างไรจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด ‘แดน’ กล่าวต่อไปว่า NRF เริ่มจากวัฒนธรรมองค์กร ที่ต้องเข้าใจว่า Net Zero คืออะไร เราทำไปเพื่ออะไร ทำไมต้องแปรรูปปุ๋ยให้ชุมชน มีโซลาร์เซลล์เพื่ออะไร ทำให้ทุกคนเข้าใจว่าความยั่งยืนจริงๆ คือ จุดยุทธศาสตร์ของบริษัท
“ในภาคกลางน้ำ เรื่องของ Green Manufacturing และต้องมาดูในเรื่องของ Food Innovation หากคู่ค้าปลายน้ำ ต้องการสินค้าที่เป็น Net Zero ซึ่งสินค้าที่ดีที่สุด คือ Plant based food เป็นข้อดีที่เรามีสินค้าที่เป็น Plant based food อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การผลิต Plant based food ในกระบวนการผลิตนั้นมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะน้อยกว่า ก็ยังนับว่าเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ดี ดังนั้น เราจะต้องกลับมาดูห่วงโซ่อุปทานว่ามีขั้นตอนไหนที่เราสามารถจะพัฒนาได้ ซึ่งความท้าทายในการพัฒนาของเรา นั่นคือ 'ต้นน้ำ' อย่างภาคการเกษตรเราจะต้องมีแนวทางอย่างไรที่จะทำให้การเกษตรเข้าสู่ Net Zero ให้ได้"
ทั้งนี้ โจทย์แรก ของ NRF คือ พยายามให้ซัพพลายเออร์หยุดใช้ยาฆ่าแมลง สารเคมีต่างๆ ซึ่งกระบวนการนี้จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้มหาศาล ถัดมา คือ ให้เกษตรกรลดการเผาไร่ เพราะจากข้อมูล พบว่า การเผาไร่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 10% ของการปล่อยในประเทศ หรือ ราว 20 ล้านตันต่อปี หากเราจำกัดตรงนี้ได้ เชื่อว่าจะมีซัพพลายเชนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง
“ใน 10 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เราพยายามทำกับภาคการเกษตรคือ การให้การสนับสนุน และซื้อสินค้าเกษตรกลับมาในราคาที่สูงกว่าตลาด 20-30% การให้การอบรม และในรายใหญ่มีการเข้าไปลงทุนเพื่อให้สามารถขยายกิจการได้ เพราะโดยทั่วไปภาคการเกษตรเขามีต้นทุนอยู่แล้ว นั่นคือความรู้ แต่ยังขาดเงินทุนในการทำ สุดท้ายการลดการเผา โดยการเปลี่ยนเป็นรายได้ให้เกษตรกรแทน ซึ่งกระบวนการคือ การจ้างเก็บของเหลือจากภาคการเกษตรหรือชีวมวล แล้วนำมาแปรรูป โดยมีโครงการนำร่อง หมู่บ้านแรก จ.เชียงราย ซึ่งจะต้องมีการติดตามผลต่อไป”
Value chain ที่ดี นำไปสู่ความยั่งยืน
'แดน' กล่าวต่อไปว่า เชื่อว่า Value chain ที่ดีที่สุดคือ เงิน ปัญหาของอุตสาหกรรมอาหารคือ เป็นวงจรที่กำหนดด้วยปลายน้ำอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต เนื่องด้วยซูเปอร์มาร์เก็ต ต้องการแข่งกันด้วยการลดราคา แต่ต้อง Net Zero เพราะต้องการความยั่งยืน เจอเงินเฟ้อ แต่ต้องการซื้อของถูกลงทุกปี ดังนั้น ทำอย่างไรให้เราสามารถซื้อของจากซัพพลายเออร์ในราคาที่สูงขึ้น จูงใจ และยกระดับทั้งซัพพลายเชนขึ้นมา
เป็นที่มาที่ NRF ลงทุนปลายน้ำ โดยการเข้าซื้อกิจการซูเปอร์มาร์เก็ตเอเชีย ในประเทศอังกฤษ ด้วยบริษัทลูก แบมบู มาร์ท จำนวน 2 แห่ง นำเข้าผัก ผลไม้จากประเทศไทย กว่าล้านบาทต่อสัปดาห์ โดยไม่ผ่านคนกลาง ปลายทาง ปลายน้ำ ดังนั้น เป็นการจูงใจให้ 'ต้นน้ำ' อย่างเกษตรกรปรับตัว จะทำให้ Margin เพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับต้นน้ำ
ท้ายนี้ แดน มองว่า ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นแล้ว หากเราไม่เริ่มเดินหน้าเพื่อเข้าสู่ Net Zero ตั้งแต่วันนี้ ในปี 2050 ฤดูกาลปลูกจะหายไปหนึ่งฤดู แต่หากเราเป็นประเทศแรก เป็นอุตสาหกรรมแรก บริษัทแรกที่ทำเรื่องนี้ ประเทศไทยจะเป็นไม่กี่ประเทศที่ประสบความสำเร็จ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์