7 สิ่งควรรู้ก่อนเข้าสู่ "ตลาดคาร์บอนเครดิต"
ปี 2565 การซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต มีมูลค่า 128 ล้านบาท ปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่า 68 ล้านบาท แต่ในปี 2567 ประเมินว่าจะมีมูลค่าที่ 55 ล้านบาท โดยมีราคาซื้อขายเฉลี่ยที่ 332 บาทต่อตันคาร์บอนเทียบเท่า (tCO2eq)
ซึ่งเป็นราคาที่สูงย้อนหลัง 10 ปี จากเม็ดเงินในตลาดคาร์บอนเครดิตชี้ให้เห็นถึงโอกาสทางเศรษฐกิจแต่ทุกๆการลงทุนมีความเสี่ยงการทำความเข้าใจเป็นสิ่งจำเป็น
เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO กล่าวว่า คาร์บอนเครดิต ความหมายตรงตัวเลยก็คือ การมี "เครดิต"ที่สามารถนำไปหัก"ลบ"กรณีธุรกิจหรือองค์กรนั้นๆปล่อยคาร์บอนสูง ซึ่งเป็นเรื่องของภาคสมัครใจที่ประเทศไทยใช้อยู่คือ ไม่มีกฎหมายบังคับแต่เป็นการแสดงตัวว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมจึงส่งเสริมโครงการหรือกิจกรรมที่ดูดซับคาร์บอนผ่านการเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต
อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศ มี carbon allowance หรือสิทธิในการปล่อย -แลก เป็นเรื่องการควบคุมทางกฎหมาย เป็นสาเหตุที่ว่าทำให้ราคาคาร์บอนในต่างประเทศสูงกว่าในประเทศไทย เพราะ ในต่างประเทศเป็นเรื่องของข้อกฎหมายที่กำหนดว่าต้องมีสิทธิในการปล่อยเท่าไหร่ หากสิทธิเต็มก็ต้องไปซื้อสิทธิในตลาดเพิ่ม หรือ แลกกับกิจกรรมหรือการลงทุนต่างๆ และมีการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ที่ชัดเจนเป็นตัวควบคุมอีกทางหนึ่ง ทำให้ดีมานด์จะสูงกว่าในไทย แต่ตลาดในไทยมีเพียงการต่อรองราคาตามความพอใจในตลาดกลางเท่านั้น
"ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การฟอกเขียวเพราะถ้าฟอกเขียวต้องไม่เกิดการลงทุนจริง ไม่ยั่งยืน ตรวจสอบไม่ได้ แต่ตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยได้สร้างมาตรฐานที่ตรงข้ามกับเรื่องการฟอกเขียว"
สำหรับขั้นตอนการเข้าเป็นผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ได้แก่ ผู้ประสงค์ซื้อคาร์บอนเครดิตยื่นคำขอเปิดบัญชีในระบบทะเบียนคาร์บอนเครดิต โดยTGO เป็นผู้พิจารณาภายใน 15 วันทำการ จากนั้นก็เสนอซื้อในตลาด หากตกลงกับผู้ประสงค์ขายคาร์บอนเครดิตได้ ก็ทำสัญญากัน และผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตชำระราคา เสร็จสิ้นแล้วผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตแจ้งความประสงค์ใช้คาร์บอนเครดิต สำหรับขั้นตอนนี้ TGO จะตรวจสอบการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการของวัตถุประสงค์การใช้ดังกล่าวและบันทึกการใช้คาร์บอนเครดิต พร้อมยกเลิกคาร์บอนเครดิตดังกล่าวจากบัญชีผู้ซื้อ
ด้านผู้สนใจเข้าตลาด T-VERโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ซึ่งจะมีผู้เกี่ยวข้อง 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก ผู้พัฒนาโครงการ (Project Participant) คือบุคคลซึ่งเป็นผู้ดำเนินการตามขั้นตอนการพัฒนา
โครงการ T-VER และมีความรับผิดชอบในกระบวนพัฒนาโครงการ T-VER เช่น จัดทำเอกสำรประกอบการขอขึ้นทะเบียนโครงการ และการเปิดบัญชี จัดทำเอกสารประกอบการขอรับรองคาร์บอนเครดิต เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้พัฒนาโครงการอาจเป็นเจ้าของโครงการด้วยก็ได้
ส่วนที่สอง เจ้าของโครงการ (Project Owner) บุคคลที่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของโครงการ และ ส่วนที่สาม ผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจ (Validation and Verification Body: VVB) คือ นิติบุคคลที่สาม (Third Party) ที่ดำเนินการด้วยความเป็นกลางมีมาตรฐานการทำงานอย่างเป็นระบบได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าหน่วยรับรองมีความสามารถในการดำเนินการตรวจสอบความใช้ได้และการทวนสอบ โดยได้รับการรับรองระบบงาน (Accreditation) และต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจกับอบก.
สำหรับตลาดคาร์บอนเครดิต ที่รวบรวมมา มี 3 แห่ง ตลาด European Climate Exchange (ECX) ตั้งอยู่ที่สหราชอาณาจักร และเริ่มซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ CDM แบบล่วงหน้า (Futures) เมื่อเดือนพ.ค. 2551
ตลาด Climate Impact (CIX) ตั้งอยู่ที่ ประเทศสิงคโปร์และเริ่มซื้อขายคาร์บอนเดครดิตจากมาตรฐานทั่วโลก แบบส่งมอบทันที (Spot) เมื่อเดือนพ.ค. 2564
ตลาด FTIX ตั้งอยู่ที่ประเทศไทย และเริ่มซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER แบบส่งมอบทันที เมื่อ ก.พ. 2566
อย่างไรก็ตาม ก่อนกระโดดเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต ต้องพึงระวังว่า กิจกรรมที่จะทำ T-VER ได้นั้น กำหนดไว้ 7 ข้อใหญ่ๆได้แก่ 1.ต้องตั้งอยู่ในเมืองไทย 2.ไม่เป็นกิจกรรมผิดกฎหมาย 3.มีการดำเนินการเพิ่มเติมจากการดำเนินงานตามปกติ(BAU) 4.สามารถตรวจสอบได้จริง (Real) 4.ไม่มีการนับซ้ำ (No Double Counting) 5.สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน 6.มีการป้องกันผลกระทบด้านลบ
ตลาดคาร์บอนเครดิต ยังถือเป็นเรื่องใหม่ของไทย แต่คาดการณ์ว่าจะเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีโอกาสเติบโตสูงเพราะเป็นสิ่งที่จะอยู่คู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะคาร์บอนเครดิตคืออีกช่องทางที่จะไม่ทิ้งผู้ที่ทำความดีดูแลรักษาโลกให้ต้องหลุดออกไปจากระบบเศรษฐกิจแต่เป็นการรวมกันเข้ามาอย่างมีเงื่อนไขและตรวจสอบซึ่งกันและกันได้