"Food waste" ร้อยล้านตัน ความไม่ยั่งยืนด้านอาหารและการสร้างก๊าซเรือนกระจก
คนเรากินข้าวทุกวัน วันละ 3 มื้อ ยังไม่รวมอาหารว่าง ขนมขบเคี้ยว หรือ มื้ออาหารเพื่อเหตุผลอื่นเช่น งานเลี้ยง การกินเพื่อการพบปะสังสรรค์ทางธุรกิจและสังคมต่างๆ ดังนั้น อาหารจึงไม่ใช่เหตุผลเพื่อการอิ่มท้องเสมอไป
จึงไม่ต้องแปลกใจที่ จะมีส่วนเหลือของอาหารที่ถูกเสริฟนอกเหนือจากเพื่อ"ท้องอิ่ม"
รายงาน Food Waste Index Report ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme: UNEP) ระบุว่า ของเสียและขยะจากอาหารในแต่ละประเทศเป็นปัญหาใหญ่เพราะเป็นต้นเหตุลำดับที่ 3 ที่สร้างก๊าซเรือนกระจกของโลก
ทั้งนี้ รายงานได้ประมาณการขยะอาหารจากครัวเรือน ค้าปลีก และอุตสาหกรรมบริการด้านอาหาร ซึ่งพบว่าในแต่ละปีมีมากถึง 931 ล้านตัน และเกือบ 570 ล้านตัน เป็นขยะอาหารจากภาคครัวเรือน โดยรายงานนี้ชี้ว่า เฉลี่ย 74 กิโลกรัม(กก.)ของขยะอาหารแต่ละคนในแต่ละปีมาจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางล่างและบน หากจำแนกแหล่งที่มาขยะจากอาหารจะพบว่า เศษอาหารประมาณ 931 ล้านตัน มาจากครัวเรือน สัดส่วน 61% จากบริหารอาหาร สัดส่วน 26 % การขายปลีก สัดส่วน13 %
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยแพร่ข้อมูลการแก้ไขปัญหาขยะอาหาร (Food Waste) หลังจากมีผลสำรวจพบทั่วโลกมีปริมาณขยะอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีรัฐบาลหลายประเทศได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เช่น ฝรั่งเศส ออกกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านขยะอาหาร กำหนดให้ร้านค้าปลีกตั้งแต่ 400 ตารางเมตร ห้ามทิ้งและทำลายอาหารที่ยังไม่หมดอายุ แต่ให้ใช้วิธีทำสัญญากับองค์กรการกุศลหรือธนาคารอาหาร เพื่อบริจาคและนำไปแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการ และมีมาตรการด้านภาษีเป็นแรงจูงใจ
ส่วนสหรัฐ ออกกฎหมายกำหนดให้ผู้บริจาคอาหารโดยสุจริตไม่ต้องรับโทษทางแพ่งและอาญา หากอาหารที่บริจาคไปเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และปัจจุบันมีการจัดทำฐานข้อมูลแหล่งผลิตอาหารกว่า 1.2 ล้านแห่งทั่วประเทศ มีหน่วยรับบริจาคกว่า 5,000 แห่ง เกาหลีใต้ ได้เปลี่ยนการเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขยะในอัตราคงที่ เป็นเก็บตามสัดส่วนปริมาณขยะที่ทิ้งและให้แยกขยะ หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ เพื่อจูงใจให้ครัวเรือนลดปริมาณขยะ เรียนรู้การแยกขยะ
สำหรับประเทศไทยพบว่า ครัวเรือนไทยสร้างขยะจากอาหารเฉลี่ยคนละ 79 กก.ต่อปี และเมื่อคำนวนกับจำนวนประชากรจะพบว่าไทยสร้างขยะจากอาหารสูงถึง ปีละ 5.4 ล้านตัน
ขณะที่อินโดนีเซียแม้จะมีสัดส่วนการสร้างขยะจากอาหารน้อยว่าไทยคือ คนละ 77 กก.ต่อปี แต่จำนวนประชากรที่มากกว่าทำให้อินโดนีเซียสร้างขยะจากอาหารถึงปีละ 20.9 ล้านตันต่อปี โดยปัจจุบันการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์น้อยมาก เนื่องจากเทศบาลส่วนมากไม่มีการแยกขยะ และในส่วนของกทม. สามารถรีไซเคิลขยะอาหารได้เพียง 2 % เท่านั้น
หากถามว่า ขยะจากอาหารคืออะไร และมาจากไหน แม้ยังไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนแต่สามารถอนุมานได้ว่า เศษอาหารจากการกินเหลือ เศษอาหารจากการตัดส่วนพืชผักที่ไม่ต้องการ หรือแม้แต่การปล่อยให้อาหารนั้นๆเน่าเสียหรือหมดอายุรับประทานไป คือที่มาของ"Food Waste" ที่ย้อนแย้งกับเป้าหมายข้อหนึ่งของการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของสหประชาชาติ ที่ว่าด้วย "การขจัดความอดอยากสร้างความมั่นคงทางอาหาร" ซึ่งบางส่วนมีอาหารเหลือกินจนเป็นขยะแต่อีกส่วนที่เหลือก็ยังเผชิญกับความอดอยาก ความไม่สมดุลนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมกันเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ใช่แค่เพื่อแก้ปัญหาแต่คือการยุติปัญหาให้ได้