การศึกษาเพื่อพัฒนาที่ยั่งยืน เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ
หนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้ง 17 ประการมีการกำหนด เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าเด็กทั้งชายและหญิงสามารถเข้าถึงการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
เยาวชนและผู้ใหญ่สามารถเข้าถึงการฝึกอบรมทักษะอาชีพ
ในราคาที่เหมาะสมอย่างเท่าเทียมกัน ขจัดความไม่เสมอภาคทางเพศและความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนบรรลุการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีคุณภาพอย่างถ้วนหน้า
เข้าถึงการศึกษามากขึ้น ผลสัมฤทธิ์เรียนรู้น้อย
“Education for Sustainable Development” หรือ การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ESD) ถือเป็นการเรียนรู้เพื่อเสริมพลังผู้เรียนให้สามารถตัดสินใจอย่างมีข้อมูลและมีการกระทำที่มีความรับผิดชอบต่อความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ และความเป็นธรรมทางสังคม เพื่อมนุษย์ในปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการสนับสนุนพัฒนายกระดับการศึกษา ซึ่งเมื่อพิจารณาการเข้าถึงการศึกษาและสำเร็จการศึกษาของคนไทย พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น โดยสัดส่วนเด็กที่เข้าศึกษาในระดับปฐมวัยที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 84.7 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 86.3 ในปี 2562 และในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น มีสัดส่วนผู้สำเร็จการศึกษาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 91.8 และร้อยละ 90.1 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 98.2 และร้อยละ 96.9 ในปี 2562 ตามลำดับ
ขณะที่ ความเท่าเทียมทางเพศในการเข้าถึงศึกษาของไทยปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากดัชนีความเสมอภาคระหว่างเพศ (Gender Parity Index: GPI) ที่มีแนวโน้มดีขึ้นในทุกระดับการศึกษาตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา
สวนทางกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของคนไทยกลับมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยผลคะแนนการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนในแต่ละระดับชั้น ในปี 2562 คะแนนเฉลี่ยของระดับประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 คะแนนในเกือบทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยในระดับประถมศึกษาปีที่ 6 มีแนวโน้มคะแนนเฉลี่ยลดลงในทุกรายวิชา เมื่อเทียบกับปี 2559
ส่วน ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีแนวโน้มคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นในวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่ลดลงในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งการลดลงของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเป็นผลจากความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรทั้งบุคลากรทางการศึกษา อุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ
พัฒนาคนรุ่นใหม่ ดันประเทศสู่ Net zero
ผศ. ว่าที่ร้อยตรี ดร.กิตติคุณ รุ่งเรือง รองอธิการบดีฝ่ายองครักษ์และพัฒนากายภาพ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 เล่าว่าการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้น ในการต่อยอด SDGs ข้ออื่นๆ ได้ ซึ่งการเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero) ในปี 2065 เชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่สามารถทำได้ ดังนั้น ในฐานะมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานอุดมศึกษา หน่วยงานใหญ่ในการผลิตบัณฑิต กำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ จึงต้องร่วมกันทำให้นักศึกษา คนรุ่นใหม่ เข้าถึงองค์ความรู้ในเรื่อง SDGs และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Net Zero ได้
“มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะมีการจัดกิจกรรมที่ทำให้นักศึกษา และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย รวมถึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันให้ประเทศเดินทางเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนที่กำหนดไว้ ทั้งเรื่องหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน กิจกรรม อาทิ Green Transportation (ระบบขนส่งสาธารณะสีเขียว) Waste Management (การจัดการขยะ) Green Area (พื้นที่สีเขียว) /Energy / Water Management การประหยัดพลังงาน เป็นต้น”
ทั้งนี้ การศึกษามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สิ่งเหล่านี้ ชัดเจนว่า หากคนทั่วโลกไม่ได้ให้ความสำคัญ และปฏิบัติตามหลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นประจำทุกวันแล้ว จะไม่สามารถสร้างอนาคตที่ต้องการได้
“การศึกษา”ต้องช่วยสร้างพลังผู้เรียน ครู
ปัจจุบัน “การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นการส่งเสริมความรู้ ทักษะ ค่านิยมและทัศนคติ ซึ่งช่วยสร้างพลังผู้เรียนในการตัดสินใจ และดำเนินการเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความสมบูรณ์ ส่งเสริมเศรษฐกิจและสร้างสังคมที่ยุติธรรม การประกาศทศวรรษสหประชาชาติ และแผนปฏิบัติการโลกการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ส่งผลต่อความพยายามในการบรรจุเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ในนโยบายการศึกษา หลักสูตร และการฝึกอบรมครู การพัฒนาที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม การรับรองวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2030 ก่อให้เกิดแรงผลักดันใหม่ต่อระบบการศึกษาไทย ในการจัดสภาพแวดล้อม หลักสูตร วิธีการเรียนการสอน ที่เอื้อต่อการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึง ความพยายามอย่างแรงกล้าในการจัดโปรแกรมการศึกษาเชื่อมโยงความเป็นสากล ด้วยการรับรองเป้าหมายที่ 4 เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยมุ่ง “สร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม และทั่วถึง และส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต”ให้เป็นจริงมากขึ้น