'WHA' จับตาเทรนด์โลก เสริมภูมิบุคลากรใช้เทคโนโลยี ดันองค์กรโตยั่งยืน
“WHA” แนะธุรกิจไทยต้องจับเทรนด์โลก พร้อมเสริมภูมิบุคลากรในองค์กรให้ก้าวทันเทคโนโลยี ตื่นรับกับสิ่งใหม่เสมอ ย้ำ ใช้โอกาสเศรษฐกิจโลกมีปัญหา รักษาฐานการผลิตในไทยให้มากที่สุด
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าว กล่าวในงานสัมมนา PostTODAY Thailand ECONOMIC DRIVES 2024 ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ 2567 หัวข้อ NEW BUSINESS กับการประกอบธุรกิจยุคใหม่ จัดโดย Post Today และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ว่า มุมมองดับบลิวเอชเอ จะมองวิกฤติเป็นโอกาส ตามเทรนด์ด้านอินดัสตรี ซึ่งธุรกิจของบริษัทฯ เป็นธุรกิจที่เกี่ยวอยู่กับทั่วโลกมีกลุ่มลูกค้ากว่า 80-90% เป็นนักธุรกิจทั่วโลก ทำให้ได้เจอข้อมูลทุกภาคจากทั่วทุกทวีป รวมถึงได้เจอซีอีโอระดับโลก จะทำให้รู้ว่าควรเดินธุรกิจไปในทิศทางไหน
ดังนั้น เมื่อมีข้อมูลก็สามารถนำมาวิเคราะห์ในภาพต่าง ๆ รวมถึงเทรนด์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเมกะเทรนด์โลกก่อนทุกครั้ง ซึ่งปัจจุบันมักพูดถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งปีนี้ทั่วโลกจะมีการเลือกตั้งถึง 64 ประเทศ กระแสการเคลื่อนย้ายฐานทุนที่มาตลอดเลยตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 ตามมาซ้ำเติมด้วยการเกิดโควิด และสงครามทางการเมือง เป็นต้น ถือเป็นจุดแรงกระแทก
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนม.ค. ที่ผ่านมา พบว่ายอดนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยเฉพาะจีนทะลักเข้าเมืองไทยแค่เดือนเดียวมากกว่าหลายเดือนที่ผ่านมาเพราะมองปัญหาสงครามทางการเมืองต่างประเทศไม่จบง่าย ๆ แล้วรวมถึงการเลือกตั้งผู้นำประเทศไต้หวัน ซึ่งแนวโน้มปัญหาระหว่างจีนและไต้หวันคงไม่จบกันง่าย ๆ
“หลายคนมองว่าเศรษฐกิจจีนไม่ดี ซึ่งผู้นำต้องจัดการขั้นเด็ดขาดหรือเปล่าเพื่อดึงชื่อเสียงกลับมา กลายเป็นการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตที่จะดูด้านเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้องด้วย บริษัทฯ มีความพร้อมสนับสนุนนักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ต่างชาติเข้ามารอบนี้ มองเทคโนโลยีสำคัญและทิศทางการเมือง ดังนั้น จึงเห็นไทยเป็นฮับที่สำคัญ”
สำหรับจุดเปลี่ยนของประเทศไทย คือ จะมองวิกฤติหรือโอกาสจะต้องจับเทรนด์ให้ได้ บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจใน 4 กลุ่มธุรกิจ ซึ่งเทรนด์โลจิสติกส์ปัจจุบันจะเน้นกรีนโลจิสติกส์ บริษัทฯ ได้ปรับนิคมอุตสาหกรรมให้เป็นอีโคสมาร์ท รองรับบริษัทใหญ่ ๆ ที่เป็นต่างชาติกว่า 80% ส่วนด้านพลังงาน จะเน้นพลังงานสะอาดรวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในเรื่องของเวลา และต้นทุน เป็นต้น
“เราเข้าใจตัวเองให้ดีว่าธุรกิจเราทำอะไรอยู่ ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างที่วางแผนที่จะทำ เมื่อเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เข้ามา เราจะมองภาพของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งโซลาร์ฟาร์ม หรือแม้กระทั้งการบริหารจัดการน้ำมาสร้างมูลค่าเพิ่มมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero”
นอกจากนี้ สิ่งที่ลบริษัทฯ ให้ความสำคัญคือ เฮลท์เทคโนโลยี ช่วยบริหารจัดการให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมมากกว่า 2 แสนรายหรือกว่า 1 พันบริษัท เพื่อจะสามารถบอกได้ว่าลูกค้ามีความเสี่ยงด้านไหนบ้าง สิ่งนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่าย ช่วยให้ลูกค้าจะได้รับการรักษาพยาบาลได้ดีขึ้น ถือเป็นการแซนด์บ็อกซ์ ดังนั้น หากสำเร็จจะเป็นต้นแบบเพื่อพัฒนาได้อีกหลายเรื่อง
“การทำธุรกิจใหม่ ๆ จะต้องคิดและทดลอง เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา จึงต้องนำเทคโนโลยี ต่าง ๆ เข้ามาช่วย โดยมองกระแสเทรนด์โลกที่จะโดนดิสรัปชัน สิ่งสำคัญคือจะต้องอัปสกิลคนด้วยการทรานฟอร์มอินโนเวชั่น สิ่งที่เจอคือการยึดติดกับสิ่งเก่า ๆ และไม่ยอมรับสิ่งใหม่ ดังนั้น การสร้างธุรกิจใหม่ผู้ประกอบการต้องวิเคราะห์ว่าธุรกิจเราคืออะไร และจุดแข็งเราคืออะไร หากที่มีอยู่ดีอยู่แล้วก็ให้นำเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่า”