Greenomics...โมเดลเศรษฐกิจ พลิกโฉมประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
โมเดล “Greenomics” การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เป็น สีเขียวต้องดำเนินการในทุกองค์ประกอบของภาคส่วนเศรษฐกิจอย่างสมดุล ซึ่งยังมีอีกหลายแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ EXIM BANK เพิ่งครบรอบ 30 ปีแห่งการก่อตั้งธนาคาร โดยกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา EXIM BANK ปรับบทบาทและขยายภารกิจสนับสนุนธุรกิจไทย ตลอดจนเป็นกลไกพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ส่งเสริมการส่งออกไปถึงการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันกำลังเดินหน้าสู่บทบาท “Green Development Bank” สอดรับกับนโยบายประเทศที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำที่มีหมุดหมายไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2608 โดยผมขอแชร์มุมมองเชิงกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยโมเดลใหม่ ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม หรือ “Greenomics” ดังนี้
Green Export : ปรับภาคส่งออกให้ Green การส่งออกเป็นหัวใจสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด จากสัดส่วนกว่า 60% ของ GDP ดังนั้น หากปรับเครื่องยนต์ส่งออกให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ ก็จะช่วยเปลี่ยนผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ Green Economy ได้ง่ายขึ้น โดยการประเมินของ IMF พบว่าในปี 2564 สัดส่วนการส่งออกสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของไทยอยู่ที่ 7.6% ของมูลค่าส่งออกรวม เพิ่มขึ้นจาก 10 ปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 5.1% แต่ยังไม่สูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศในเอเชีย เช่น จีน 10.4% เกาหลีใต้ 10.2% รวมถึงประเทศพัฒนาแล้ว เช่น เยอรมนี 15.4% เดนมาร์ก 11.4% ประกอบกับมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่มากถึง 18,000 มาตรการ และนับวันจะทวีความเข้มข้นขึ้น จึงจำเป็นต้องช่วยกันปรับภาคส่งออกตลอดวงจรไปสู่ Low Carbon Supply Chain ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม กระบวนการผลิตที่ปล่อยของเสียและมลภาวะต่ำ บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ และการขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด
Green Energy : เพิ่มการใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น พลังงานเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน โดยมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึงกว่า 70% ซึ่งแฝงอยู่ในหลายภาคส่วนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งขนส่ง อุตสาหกรรม และอุปโภคบริโภค ปัจจุบันการใช้พลังงานทดแทนของไทยอยู่ที่ 14% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายรวมของประเทศ ขณะที่ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพบว่ามีสัดส่วนสูง เช่น นอร์เวย์ 61.3% สวีเดน 58.4% อย่างไรก็ตาม น่ายินดีว่าภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ไทยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนเป็น 24% ในปี 2570 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 50% ในปี 2580 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกฉบับใหม่ นอกจากนี้ ไทยเตรียมประกาศใช้อัตราค่าไฟฟ้า สีเขียวพร้อมใบรับรองแหล่งที่มาจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก รวมถึงดึงดูดเม็ดเงิน FDI ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
Green Ecosystem : สร้างระบบสนับสนุนครบวงจร ซึ่งจำเป็นอย่างมากในการผลักดันประเทศไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวและบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตที่ปัจจุบันเป็นภาคสมัครใจและมีขนาดค่อนข้างเล็ก เมื่อเทียบกับหลายประเทศ เช่น EU เกาหลีใต้ รวมถึงการเงินสีเขียวที่เป็นเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงภาคธุรกิจ โดยคาดว่าทั่วโลกจะต้องการ Climate/Green Finance ถึงปีละ 8.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนไทยคาดว่าในปี 2567 ภาครัฐจะออก ESG Bond ราว 1.2-1.3 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมการส่งเสริมความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ SMEs ที่ยังขาดความรู้อีกมาก ผลสำรวจของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า 86% ไม่ทราบข้อมูลและขาดความเข้าใจภาษีคาร์บอน ขณะที่มีเพียง 13% ที่พร้อมปรับธุรกิจเพื่อลดคาร์บอน
ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโมเดล “Greenomics” โดยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เป็น สีเขียวต้องดำเนินการในทุกองค์ประกอบของภาคส่วนเศรษฐกิจอย่างสมดุล ซึ่งยังมีอีกหลายแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ หนึ่งในตัวชี้วัดผลสำเร็จของประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกสีเขียว คือ แนวคิดของ OECD ซึ่งประเมินว่าอัตราการเติบโตในเชิงเศรษฐกิจต้องโตสวนทางกับอัตราการปล่อยมลภาวะที่ลดลง ดังเช่นกลุ่มประเทศชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ที่รายได้เฉลี่ยต่อคน (GDP per Capita) ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง ขณะที่อัตราขยายตัวการปล่อยคาร์บอนเฉลี่ยต่อคน (CO2 per Capita) อยู่ในระดับติดลบ เมื่อหันมามองไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การปล่อยคาร์บอนขยายตัวเป็นบวก แต่ก็เป็นอัตราที่ต่ำกว่าการเติบโตของรายได้อย่างมาก แม้ยังไม่เป็นไปตามแนวคิดดังกล่าว แต่ก็น่าชื่นใจว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว ซึ่งเราทุกคนสามารถช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่เติบโตโดยปล่อยคาร์บอนลดลง คำนึงถึงทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม มาช่วยกันสร้างโลกที่น่าอยู่และสังคมที่ดีขึ้นสำหรับลูกหลานของเราในอนาคตกันครับ
Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK