Thai ESGยังฝืดสัดส่วน 1.4 % ของสินทรัพย์กองทุน ESG ทั้งหมด
ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย
โดยให้สิทธิประโยชน์ ทางภาษีสำหรับการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวม Thai ESG ที่มีนโยบายให้ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมและการลงทุนระยะยาว
โดยบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ ได้เสนอขายหน่วยลงทุนกองทุน Thai ESG เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 9 ม.ค. 2567 มีกองทุน Thai ESG ทั้งหมด 30 กองทุน มูลค่าการระดมทุน 5.27 พันล้านบาท
ขณะที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ซึ่งสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายมากกว่า และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นกัน มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ณ สิ้นเดือนธ.ค. 2566 ที่ 421.04 พันล้านบาท และ 54.73 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 404.30 พันล้านบาท และ 45.66 พันล้านบาท ในปี 2565 ตามลำดับ
นอกจากนี้ มูลค่า NAV (NET Asset Value หรือย่อสั้น ๆ ว่า NAV คือทรัพย์สินสุทธิ หรือมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมดและผลประโยชน์ที่กองทุนรวมได้รับ หักลบกับค่าใช้จ่าย และหนี้สินต่าง ๆ) ของกองทุนรวม Thai ESG พบว่ามีสัดส่วนเพียง 1.4 %ของสินทรัพย์สุทธิกองทุนที่เกี่ยวข้อง กับ ESG ของไทยทั้งหมด
ดังนั้น ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งติดตาม ส่งเสริม และสนับสนุนการลงทุนยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ ประชาชนมีการออมและการลงทุนระยะยาว และยังเป็นการสนับสนุนให้ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชนดำเนินกิจกรรมที่คำนึงถึงประเด็น ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment: E) สังคม (Social: S) และด้านธรรมาภิบาล (Governance: G) มากขึ้น เพื่อเป็นกลไกที่สำคัญในการส่งเสริม ให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน