Transition Finance การเงินสีเขียว อย่ามองข้ามปลาเล็ก!

Transition Finance การเงินสีเขียว อย่ามองข้ามปลาเล็ก!

ทุกวันนี้เราได้ยินคำว่า “Transition Finance” (ผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน หรือการเงินสีเขียว) กันแทบจะทุกวัน

สถาบันการเงินต่างแข่งกันออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ออกมาช่วยบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนสูง ให้เปลี่ยนผ่านสู่การเป็นบริษัทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ซึ่งบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนส่วนใหญ่มักจะเป็นองค์กรชั้นนำของประเทศที่มีแผนการลงทุนปรับตัวสู่การเป็นองค์กรสีเขียว แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นสิ่งที่ยังเป็นข้อสงสัยของสังคมและเป็นคำถามของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลกอยู่ตอนนี้ก็คือ

สถาบันการเงินจะทราบได้อย่างไรว่า สิทธิประโยชน์ทางการเงินและเงินสนับสนุนดอกเบี้ยต่ำน่าดึงดูดใจที่นำเสนอให้กับองค์กรขนาดใหญ่เหล่านั้นถูกนำไปใช้ในกิจกรรมหรือกระบวนการเปลี่ยนแปลงเพื่อการเปลี่ยนผ่านอย่างแท้จริง?

ปัจจุบันปัญหาเรื่องการตรวจสอบและการหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องใช้เทคโนโลยีในการ ติดตาม-รายงาน-ตรวจสอบ (Monitor-Report-Verify) ยังคงมีช่องว่างอยู่มาก

ทั้งความยากในการเก็บข้อมูลองค์ความรู้ที่ไม่เพียงพอของทั้งฝั่งสถาบันการเงิน ความซับซ้อนของฝั่งองค์กร หรือแม้แต่ความพร้อมขององค์กรที่บริหารจัดการเรื่องการควบคุมการปล่อยคาร์บอน  

เมื่อ “Transition Finance” ซึ่งเป็นกลไกการเงินที่ช่วยองค์กรใหญ่ในการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนกำลังถูกจับจ้องจากนักอนุรักษ์และกลุ่มแอคติวิสต์ว่า นี่คือเส้นทางสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง หรือจะเป็นแค่การฟอกเขียว ที่ตอบโจทย์ธุรกิจแบบ win-win ของทั้งฝั่งสถาบันการเงินและฝั่งผู้รับ 

แต่เมื่อหันมามองการสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน กลไกสำคัญที่มักถูกมองข้ามก็คือการสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก SME-Startup ให้มีความพร้อมเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ

ปัจจุบันธุรกิจ SMEs มีสัดส่วนถึง 99.5% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมดในประเทศ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้ถึง 6.1 ล้านล้านบาท เป็นสัดส่วน 35.2% ต่อ GDP ของประเทศ 

การสนับสนุนธุรกิจ SME-Start up ให้เปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำจะเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับ SME ไทยในตลาดโลกและเป็นฟันเฟืองสำคัญของภาคอุตสาหกรรมที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง

บทบาทสำคัญในการทรานส์ฟอร์มอุตสาหกรรมไทยให้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยผลิตภัณฑ์ บริการ และกระบวนการผลิตที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนคือ วาระสำคัญระดับประเทศและต้องการการบูรณาการในทุกภาคส่วน

ประเด็นหลักก็คือ

1) การเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางการเงินที่ดึงดูดใจและกระตุ้นการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่าน

2) การพัฒนาองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และการสนับสนุนทรัพยากรด้านที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน

3) การเข้าถึงเทคโนโลยีที่ต้นทุนต่ำ เข้าถึงได้ และใช้งานได้จริง

4) การร่วมสร้างเครือข่ายซัพพลายเชนเพื่อร่วมมือการลดการปล่อยคาร์บอน

5) การสนับสนุนเชิงนโยบายที่เน้นความเท่าเทียมกัน ลดข้อจำกัดได้โดยลดความซับซ้อนในกระบวนการทำงานและทำให้ระบบงานเข้าถึงได้ง่าย

  99% ของธุรกิจในประเทศไทยคือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ถ้าเราให้ความสำคัญในการสนับสนุนมาตรการการลดคาร์บอนให้กับองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น อนาคตการนำพาประเทศไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ผลที่ตามมาก็จะกลายเป็นการกลับไปอยู่ในวังวนเดิม ที่ปลาใหญ่เท่านั้นที่อยู่รอดได้ แต่โจทย์ในครั้งนี้จะต่างไป เพราะถ้าปลาเล็กของเราว่ายตามกระแสโลกไม่ทัน เราอาจกลายเป็นผู้แพ้ในทุกมุม ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม.

Transition Finance การเงินสีเขียว อย่ามองข้ามปลาเล็ก!