‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ สาเหตุหลัก ‘ควายไบซัน’ เกือบสูญพันธุ์

‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ สาเหตุหลัก ‘ควายไบซัน’ เกือบสูญพันธุ์

“สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ปี ไม่ได้ส่งผลกระทบกับคนเท่านั้น แต่ยังทำให้จำนวน “ควายไบซัน” สายพันธุ์ยุโรปลดลงอย่างต่อเนื่องจน “ใกล้สูญพันธุ์” ร้อนถึง WWF ทำแคมเปญหาเงินค่าเดินทางให้ไบซันตัวผู้ เพราะนี่อาจเป็นวิธีเดียวที่จะปกป้องสายพันธุ์ดังกล่าว

ควายไบซันยุโรป” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ไวเซนต์” (Wisen) ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์บกที่ตัวใหญ่ที่สุดในยุโรป และเป็นสายพันธุ์ที่มีบทบาทสำคัญทางนิเวศวิทยาในฐานะผู้รักษาพื้นที่ป่าและภูมิทัศน์ที่มีความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพในป่า เพราะไบซันช่วยสร้างและรักษาทางเดินป่า เปิดเส้นทางให้สัตว์ต่าง ๆ ทั้งหมีสีน้ำตาล หมาป่า แมวป่าชนิดหนึ่ง และแมวป่าตระกูลลิงซ์ อพยพได้

ขณะเดียวกัน ควายไบซันก็เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน 

พวกมันถูกล่าอย่างหนักในช่วงศตวรรษที่ 17-19 ทั่วยุโรปจนเกือบสูญพันธุ์ แต่ด้วยความพยายามในการอนุรักษ์อย่างเข้มข้นช่วยฟื้นฟูประชากรที่สูญเสียไปในพื้นที่ป่าธรรมชาติได้บ้าง 

ตามรายงานขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF พบว่ามีควายไบซันโตเต็มวัย 21 ตัว อยู่ในอุทยานธรรมชาติแห่งชาติซาลิสเซีย ประเทศยูเครน ในช่วงที่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบในกุมภาพันธ์ 2022 แต่ในปัจจุบันไม่มีควายไบซันยุโรปเพศผู้เหลือรอดแม้แต่ตัวเดียว เนื่องจากอุทยานแห่งนี้อยู่ในพื้นที่สู้รบในช่วงต้นของสงคราม

“เดิมอุทยานแห่งชาติมีรั้วกั้นอย่างสมบูรณ์ แต่ในช่วงการยึดครองของรัสเซียเมื่อเดือนมีนาคม 2022 ทำให้รั้วได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ควายไบซันตัวผู้หายไปทั้งหมด เจ้าหน้าที่อุทยานเพิ่งได้กลับมาซ่อมแซมรั้วหลังจากเหตุการณ์สงบลง” WWF เปิดเผยข้อมูลที่ได้รับมาจากเจ้าหน้าที่อุทยาน

ควายไบสันยุโรป ควายไบซันนยุโรป

จากข้อมูลของ European Wilderness Society ระบุว่า ควายไบซันมีความเสี่ยงสูงที่จะโดนระเบิดตาย และมนุษย์ไม่อาจช่วยเหลือพวกมันให้รอดพ้นได้ เนื่องจากขนาดที่ใหญ่โตและพฤติกรรมที่ตอบสนองของพวกมัน

ในตอนนี้อุทยานแห่งชาติซาลิสเซีย เหลือเพียงแค่ควายไบซันเพศเมีย 8 ตัวเท่านั้น และจำเป็นต้องหาควายไบซันตัวผู้เพื่อเพิ่มประชากรแก่สัตว์ฝูงนี้ ซึ่งเป็นความหวังเดียวที่จะช่วยให้สายพันธุ์ยังคงดำรงอยู่ต่อไป

ไอรีน ลูเซียส ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ของ WWF ประจำภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก กล่าวว่า ตอนนี้องค์กรได้จัดหาควายไบซันตัวผู้ 2 ตัวจากเมืองวินนึตเซีย ที่อยู่ทางตะวันตกของเคียฟ ซึ่งคัดเลือกโดยผู้เชี่ยวชาญ ด้วยการพิจารณาจากนิสัย การเจริญเติบโต อายุอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ และมีสุขภาพที่ดี

“ควายไบซันเพศผู้จะต้องมีอายุเกิน 8 ปี ต้องได้รับการตรวจสอบหลายขั้นตอนจากสัตว์แพทย์ ทั้งการทดสอบปรสิตวิทยา การตรวจสอบสภาพของสัตว์ การกักกันในกรงก่อนปล่อยเข้าป่า และอื่น ๆ”  ลูเซียสเปิดเผยกับ Down To Earth

แต่ด้วยระยะทางที่ห่างไกลกันถึง 300 กิโลเมตร ทำให้ต้องมีการขนย้ายควายไบซันเพศผู้ทั้งสองตัว ซึ่งต้องใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นประมาณ 10,000 ยูโร (ประมาณ 388,600 บาท ค่าเงินวันที่ 1 มี.ค. 2567) ดังนั้น WWF จึงจัดทำแคมเปญให้ประชาชนร่วมกันบริจาคเงินในชื่อว่า “300 กม. แห่งรัก เพื่อควายไบซัน” (“300 km to love and saving bison”)

‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ สาเหตุหลัก ‘ควายไบซัน’ เกือบสูญพันธุ์ หน้าเว็บไซต์แคมเปญ "300 km to love and saving bison"

“การเคลื่อนย้ายสัตว์ทุกชนิด แม้จะเป็นการย้ายถิ่นภายในประเทศก็ต้องใช้เวลาเตรียมการ และทำอย่างระมัดระวัง ยิ่งเป็นการขนย้ายสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดก็ต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการดำเนินการ”  ดร.โบห์ดาน วิกฮอร์ ซีอีโอของ WWF ยูเครนอธิบาย 

“ควายไบซันต้องการความช่วยเหลือจากเรา”

ควายไบซันใช้เวลาตั้งท้องเกือบเก้าเดือน และมักจะผสมพันธุ์ในเดือนกันยายน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าอนาคตความอยู่รอดของไบซันฝูงนี้ขึ้นอยู่กับควายไบซันเพศผู้สองตัวนี้

“หากประสบความสำเร็จ เราอาจหวังว่าจะมีลูกควายไบซันเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีนี้ และจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8-10 ปี ถึงจะมีควายไบซันเท่าก่อนยุคสงคราม” ลูเซียสกล่าว


ที่มา: Down to EarthEmergine EuropeEuro News