PM2.5 จากพื้นที่สูง | ธราธร รัตนนฤมิตศร
สัปดาห์ที่ผ่านมา ในวันที่ค่าฝุ่นพิษ PM 2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่พุ่งขึ้นสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ผมมีโอกาสได้เดินทางไปศึกษาการพัฒนาพื้นที่สูงที่จังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน
ผมได้เห็นฝุ่นควันที่หนาทึบตั้งแต่มองลงจากเครื่องบิน ระหว่างขับรถจากอำเภอฮอดไปอำเภอแม่แจ่ม ก็ได้เห็นควันไฟและซากเผาจากไฟป่าที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ตลอดเส้นทาง รวมถึงภูเขาหัวโล้นจำนวนมากที่เต็มไปด้วยเศษซากทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามเนินดอยรอบตัว
ฝุ่นพิษ PM 2.5 ของไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกเป็นประจำทุกปี สาเหตุของ PM 2.5 เกิดขึ้นมาจากหลายแหล่ง ทั้งจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์จากยานยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม การเผาเศษวัสดุการเกษตรที่พื้นราบและมลพิษข้ามพรมแดน แต่อีกส่วนสำคัญที่สุดคือเกิดบนพื้นที่สูง ทั้งจากไฟป่าที่อาจเกิดโดยธรรมชาติและโดยมนุษย์ และจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร
พื้นที่สูงของประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคเหนือ ถือเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะด้วยระบบนิเวศ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่มีประชากรหลายชนเผ่าอาศัยอยู่มานาน เป็นที่ตั้งของชุมชนชาติพันธุ์ที่หลากหลาย
อย่างไรก็ตาม พื้นที่เหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งขับเคลื่อนจากการขยายตัวของการเกษตร โดยเฉพาะพืชอย่างยิ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กระหล่ำปลี ขิง รวมถึงชา กาแฟ ผลไม้และอื่นๆ
และการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่สูง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างการใช้ที่ดินและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ การขยายตัวของการเกษตร การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ซึ่งอาจกระทบกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ความเสื่อมโทรมของดิน และทรัพยากรน้ำ
รวมถึงการเผาเศษทางการเกษตรเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกในรอบถัดไป ส่งผลต่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมในชุมชนเองและส่งผลกระทบต่อเนื่องมาสู่พื้นที่ราบด้วยเช่นกัน
PM 2.5 เป็นปัญหาสำคัญของไทยมาหลายปีและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ปัญหา PM 2.5 เกิดขึ้นรุนแรงในช่วงฤดูแล้งซึ่งมีการเผาเกษตรกรรมและไฟป่า ชาวบ้านที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูงหลายคนยอมรับว่าตนเองไม่มีทางเลือกในการจัดการพื้นที่เกษตรนอกจากการเผา
แนวทางสำคัญคือการเปลี่ยนไปปลูกพืชทดแทนที่ให้รายได้ที่ดีกว่า ซึ่งทำสำเร็จได้เพียงบางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ที่อำเภอแม่แจ่ม สามารถลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประมาณ 2 แสนกว่าไร่ เหลือปัจจุบันประมาณ 1 แสนกว่าไร่ ซึ่งแสดงว่ายังจะมีการเผาเศษทางการเกษตรอยู่จำนวนมาก
การส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนบนพื้นที่สูงจำเป็นต้องใช้น้ำ ซึ่งเป็นข้อจำกัดในพื้นที่สูงและจำเป็นต้องมีการวางระบบน้ำ เพราะหากไม่มีน้ำ ชาวบ้านก็ยังคงต้องปลูกพืชที่ทนแล้งได้อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
นอกจากนี้ ชาวบ้านยังต้องคิดถึงสิทธิในที่ดินทำกินและความเสี่ยงในระยะเปลี่ยนผ่านในการปลูกพืชและตลาดที่รับซื้ออย่างเพียงพอ รวมถึงทุนในการปรับเปลี่ยนพืชและวิถีชีวิตในการดูแลพืชใหม่ที่ต้องเปลี่ยนไป ซึ่งทำให้หลายคนยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเป็นอีกภัยคุกคามที่สำคัญต่อการทำเกษตรบนพื้นที่สูง ซึ่งจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ในการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบ เช่น เมื่อโลกร้อนขึ้น แมลงบางชนิดสามารถขึ้นไปในพื้นที่ระดับที่สูงขึ้น เพราะอากาศอุ่นขึ้น จึงทำให้เกิดการระบาดของแมลงในพืช เช่น กาแฟ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทยตอนนี้
ดังนั้น การเปลี่ยนไปปลูกพืชใหม่ก็อาจจะเจอกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เช่นกัน
การจัดการกับ PM 2.5 ในส่วนของพื้นที่สูงนั้นมีความท้าทายและความซับซ้อน เพราะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับระบบป่าและการเกษตรบนพื้นที่สูง จำเป็นต้องมีแนวทางการจัดการแบบองค์รวมและปรับเปลี่ยนได้
โดยมีผู้คนที่อยู่อาศัยบนพื้นที่สูงประมาณ 1-2 ล้านคน จำเป็นต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงระหว่างการใช้ที่ดิน เกษตรกรรม ทรัพยากรน้ำ ป่าไม้ พฤติกรรมเกษตรกรและความเสี่ยง ชนเผ่าที่หลากหลายและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ในระหว่างที่ร่างกฎหมายอากาศสะอาดของไทยยังไม่ถูกผลักดันออกมา การจัดการเรื่องการเผาในพื้นที่สูงในปัจจุบัน ยังคงใช้แนวทางการจัดตารางเวลาการเผาไม่ให้เกิดการกระจุกตัวในพื้นที่และเวลาเดียวกัน และมีช่วงเวลาที่ห้ามเผาเด็ดขาด ซึ่งถือว่ายังเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
เราจึงต้องการรัฐบาลที่มาจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจังและเป็นระบบ เพราะต้นทุนสุขภาพของคนไทยที่เสียไปจากฝุ่นนี้สูงจนเกินไปแล้ว.