กรมทะเลชายฝั่งชี้แจงแล้ว ทำไมนักท่องเที่ยวไม่ควรเข้าใกล้ 'กัลปังหาแดง'
กรมทะเลชายฝั่ง เตือนนักท่องเที่ยว ไม่ควรเข้าใกล้ "กัลปังหาแดง" เกาะสุกร จ.ตรัง ชี้เป็นการรบกวน ทำลาย พร้อมระบุ เป็นสัตว์คุ้มครอง ห้ามครอบครอง ค้า หรือนำเข้า-ส่งออกโดยเด็ดขาด
เพจเฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้โพสต์ข้อความระบุว่า กรณีเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 มีลงข่าวว่า ที่เกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง พบกลุ่ม "กัลปังหาแดง" หรือ "Sea Fan" โผล่พ้นน้ำหลังน้ำทะเลลดลงต่ำสุด เผย 1 ปีมีให้เห็นแค่ไม่กี่ครั้งและเป็นกัลปังหาแดงกลุ่มเดียวในจังหวัดตรังที่พบในเขตน้ำตื้น กลายเป็นอันซีนแห่งใหม่ของเกาะสุกร ที่นักท่องเที่ยวแห่ชมความสวยงาม ตื่นตาตื่นใจกันตั้งแต่เช้า
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขอเรียนว่า กัลปังหา (Sea Fan) คือสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง แต่ละตัวมีขนาดเล็กมาก จัดอยู่ในพวกเดียวกับปะการัง กัลปังหาประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ตัวกัลปังหา (polyp) ที่มีลักษณะคล้ายดอกไม้ทะเลขนาดเล็ก มีเนื้อเยื่ออ่อนนุ่ม และมีหนวดรอบปากจำนวนแปดเส้น ฝังและกระจายตัวอยู่ตามโครงสร้างของกัลปังหา และอีกส่วนเป็นส่วนโครงสร้างที่เป็นกิ่งแตกกิ่งก้านคล้ายพัดและซี่หวีแล้วแต่ชนิด กิ่งโครงสร้างนี้ตัวกัลปังหาสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับตัวเองและเป็นสารจำพวกเขาสัตว์ (keratin) ชอบอาศัยอยู่ตามที่มีกระแสน้ำไหล เนื่องจากกระแสน้ำจะช่วยพัดพาอาหารมาให้และ จะช่วยพัดพาของเสียที่ถูกปล่อยออกจากกัลปังหาออกไป โดยกัลปังหาจะใช้หนวดในการดักจับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเพื่อนำมาเป็นอาหาร ส่วนเข็มพิษที่หนวดจะช่วยในการจับพวกแพลงก์ตอน
ดังนั้น การรบกวนกัลปังหาและแหล่งที่อยู่อาศัย เช่น การสัมผัส การเหยียบย่ำ การทำให้เกิดการฟุ้งของตะกอน จะเป็นการรบกวนการหาอาหารและการดำรงชีวิตของกัลปังหาได้
กัลปังหามีประโยชน์โดยเป็นแหล่งที่อาศัยของสัตว์ทะเลขนาดเล็กหลายชนิดโดยสัตว์เหล่านี้จะเกาะตามกิ่งก้าน แต่ด้วยการที่กัลปังหามีรูปร่างและสีสันที่สวยงาม จึงเกิดค่านิยมผิดๆ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์นำมาประดับตู้ปลา นำมาใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้าน หรือแม้กระทั่งนำส่วนที่เป็นแกนในสีดำมาทำเป็นเครื่องรางของขลัง เครื่องประดับ
ชาวจีนโบราณมีความเชื่อว่ากัลปังหาเป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีงานวิจัยหรือข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ในปัจจุบัน สามารถรับรองได้เลยว่ากัลปังหามีสรรพคุณที่ใช้ในการรักษาโรคได้จริงตามความเชื่อของชาวจีนโบราณ
อีกทั้งในระบบนิเวศตามธรรมชาติ นั้นสิ่งมีชีวิตทั้งหลายมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การทำลายหรือย้ายกัลปังหาจากแหล่งที่อยู่เดิม ถือเป็นการกระทำที่ไม่สมควร เพราะเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลขนาดเล็ก
ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทำให้สัตว์น้ำขนาดเล็กไม่มีที่หลบสัตว์นักล่า จึงไม่สามารถเจริญเติบโตและอาจสูญพันธุ์ได้ อีกทั้งกัลปังหาเป็นสัตว์ทะเลที่เจริญเติบโตค่อนข้างช้า บางชนิดอาจจะใช้เวลาเป็นร้อยปีในการเติบโตเพียงแค่ 1 ฟุต และในหนึ่งต้นนั้นมีตัวกะละปังหาอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น การทำลายกัลปังหาหนึ่งต้นเท่ากับทำลายตัวกัลปังหาหลายหมื่นหลายแสนตัว และเป็นการทำลายระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย
ทั้งนี้ กัลปังหา เป็นสัตว์คุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดจะมีไว้ในครอบครอง ทำการค้าขาย หรือนำเขา-ส่งออกโดยเด็ดขาด (ทั้งที่ยังมีชีวิต หรือเป็นซาก) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงห้ามครอบครอบ เว้นแต่ผู้ใด้รับอนุญาตให้ครอบครอง ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท