'ท่องเที่ยวยั่งยืน' พลิกโฉมการเดินทางทั่วโลก
หลังวิกฤติโควิด-19 อุตสาหกรรมท่องเที่ยว กลับมาคึกคักอีกครั้ง ขณะเดียวกัน นักเดินทางมุ่งสู่ การท่องเที่ยวยั่งยืน มากขึ้น 3 ใน 5 ของนักท่องเที่ยว เลือกวิธีเดินทางหรือที่พักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าแบบทั่วไป และ กว่า 7 ใน 10 หลีกเลี่ยงทางเลือกที่ไม่ยั่งยืน
KEY
POINTS
- ภาคการท่องเที่ยว ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศคิดเป็น 8-11% จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ธุรกิจท่องเที่ยวต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดการหรือดูแลประเด็นดังกล่าว
- จากการสำรวจนักเดินทางหลังโควิด-19 พบว่า กว่า 69% ของนักท่องเที่ยว มองหาทริปที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และกว่า 66% ของนักท่องเที่ยวต้องการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน
- 3 ใน 5 ของนักท่องเที่ยว เลือกวิธีเดินทางหรือที่พักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าแบบทั่วไป และ กว่า 7 ใน 10 ของนักท่องเที่ยวจะหลีกเลี่ยงทางเลือกที่ไม่ยั่งยืน
ประเทศไทยมี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งดึงดูดชาวต่างชาติ การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวแม้จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ก็เป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะช่วงหลังโควิด-19 ที่เห็นได้ว่าการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง
ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยว่า แหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั่วโลกที่มีปริมาณนักท่องเที่ยวสูง อาทิ เกาะฮาวาย มัลดีฟส์ บาหลี หรือแม้กระทั่งเกาะภูเก็ตของไทย ล้วนเผชิญปัญหานักท่องเที่ยวเกินระดับที่เหมาะสม (Over-tourism) ส่งผลเสียต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดขายเดิม ทำให้ความน่าสนใจในสายตาของนักท่องเที่ยวลดลง กระทบต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาวได้ ดังนั้น การท่องเที่ยวยั่งยืน จึงเป็นหนึ่งทางเลือกในโมเดลการปรับตัวของภาคธุรกิจ
การท่องเที่ยว ปล่อยคาร์บอน 8-11%
ภาคการท่องเที่ยวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศคิดเป็น 8-11% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ทั้งโลกในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ธุรกิจท่องเที่ยวต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดการหรือดูแลประเด็นดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ตลาดการท่องเที่ยวยั่งยืนของโลกมีแนวโน้มเติบโตสูง เฉลี่ยถึงปีละ 10% ในช่วงปี 2562-2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น จึงถือเป็นโอกาสสำคัญของภาคการท่องเที่ยวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อพท. ขานรับ Soft Power ดันแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนใน ‘พื้นที่พิเศษ’ สู่เวทีโลก
- “ท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ”เทรนด์ใหม่ ดีมานด์และซัพพลายที่เติบโตร่วมกัน
- โจทย์ใหญ่ ‘ท่องเที่ยว’ ยกระดับเศรษฐกิจไทย!
สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ไทยและอีก 192 ประเทศทั่วโลก ให้คำมั่น เพื่อให้บรรลุการพัฒนาทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกมิติ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว
นักท่องเที่ยว 69% ทองหาทริป ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
การสำรวจของ Expedia Group ร่วมกับ Wakefield Research ได้เปิดเผยรายงาน Sustainable Travel Study ซึ่งทำการสำรวจนักท่องเที่ยวทั่วโลกจำนวน 11,000 คน จาก 11 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก บราซิล สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2565 ในปี ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา พบว่า นักเดินทางได้ให้น้ำหนักกับแต่ละองค์ประกอบ ดังนี้
69% ของนักท่องเที่ยวมองหาทริปที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
66% ของนักท่องเที่ยวต้องการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน
65% ของนักท่องเที่ยวสนใจวัฒนธรรมท้องถิ่นและความเป็นชุมชน
52% ของนักท่องเที่ยวอยากไปเยี่ยมชมสถานที่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก
ตัวเลือกที่ “ยั่งยืน” จะถูกเลือกมากกว่า
56% ของนักท่องเที่ยวมองหาตัวเลือกที่ส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อสิ่งแวดล้อม
51% ของนักท่องเที่ยวเลือกบริการที่ชุมชนเป็นเจ้าของหรือมีการส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น
48% ของนักท่องเที่ยวอยากสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนมากเป็นพิเศษ
37% ของนักท่องเที่ยวให้น้ำหนักกับบริการที่สามารถชดเชยการปล่อยคาร์บอน
ขณะเดียวกัน ในช่วงปี ค.ศ. 2020 – 2022 พบว่า 3 ใน 5 ของนักท่องเที่ยวเลือกวิธีเดินทางหรือที่พักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าแบบทั่วไป และ กว่า 7 ใน 10 ของนักท่องเที่ยวจะหลีกเลี่ยงจุดหมายปลายทางหรือเลิกใช้บริการขนส่งทันที หากเป็นทางเลือกที่ไม่ยั่งยืน นอกจากนี้ หลังโควิด-19 หลายคนมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กว่า 65% จะสนับสนุนที่พักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทริปถัดไป
ไทยมุ่งสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน
สำหรับประเทศไทยเอง ในปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มุ่งสู่ความยั่งยืนแบบทันที “Sustainably NOW” เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของ ททท. ในการผลักดันยุทธศาสตร์ใหญ่ “ยกระดับประเทศด้วยการท่องเที่ยว” ผ่านการส่งเสริมตลาด ยกระดับสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สู่การทรานส์ฟอร์มเป็น “จุดหมายปลายทางที่มีคุณค่าสูงและความยั่งยืน” (High Value and Sustainable Tourism Destination) บนพื้นฐานการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ตามเป้าหมายในปี 2567
สำหรับในปี 2567 ถือเป็นปีแห่งการเร่ง “ฟื้นฟู” (Resilience) โดย ททท. พลิกโฉมสู่ High Value and Sustainable Tourism ที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน ยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ ททท. แบบ Moving forward to Better เดินหน้าต่อเนื่องสู่ก้าวต่อไปของการท่องเที่ยวไทยที่ดียิ่งขึ้น
มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้าง ระบบนิเวศทางการท่องเที่ยวใหม่ New Ecosystem ด้วยการลดการพึ่งพานักท่องเที่ยวจำนวนมาก สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง พัฒนาห่วงโซ่อุปทานร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมฯ ให้พร้อมรับกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ รวมทั้งกระจายรายได้สู่ฐานรากอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งมิติความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ มิติสังคมอยู่ดีมีสุข มิติสิ่งแวดล้อมที่ดี และมิติภูมิปัญญา
เสริมทัพด้วย 4 ปัจจัยสำคัญ
1.เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานบนพื้นฐานของคุณภาพและความยั่งยืน สอดรับกับความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
2. พัฒนาปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยวและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว เอื้อต่อการเดินทางอย่างสะดวก และปลอดภัย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี มีคุณค่าอย่างเท่าเทียม ทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ
3. ใช้ประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนสู่โลกดิจิทัล เพิ่ม Digital Literacy ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล เน้นการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าและความยั่งยืน
4. ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงภายนอก อย่างมีประสิทธิภาพ
การท่องเที่ยว ต้องยั่งยืนทุกมิติ
ข้อมูลจาก สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) อธิบายคำว่า “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” (Sustainable Tourism) ว่า เป็นการดำเนินการด้านการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ ชุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพื่อปกป้อง สงวนรักษาและพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้อนุชนคนรุ่นหลัง ซึ่งต้องปลูกจิตสำนึกให้แก่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทั้ง นักท่องเที่ยว คนท้องถิ่น ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
ในปัจจุบันมีรูปแบบการท่องเที่ยวหลายแบบที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เช่น การท่องเที่ยวเชิงชุมชน (Community based tourism) การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์(Ecotourism) หรือแม้แต่นโยบายรัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมหรือกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น
อพท. ประกาศ 9 พื้นที่พิเศษท่องเที่ยวยั่งยืน
ด้าน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ในปีนี้ ได้มีการประกาศ 9 พื้นที่พิเศษ ต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยืนยืนในประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่มีทรัพยากรและมีศักยภาพทางการท่องเที่ยวสูงและหลากหลาย
การดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวในรูปแบบ “พื้นที่พิเศษ” ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน เพราะเป็นการพัฒนาที่ใช้หลักการเชิงวิชาการและเชิงเทคนิคมาวิเคราะห์สถานการณ์ ปัญหาและอุปสรรคด้านการท่องเที่ยว (Pain Point) ของพื้นที่ และแก้ปัญหาความซับซ้อนหรือไม่มีเจ้าภาพชัดเจนในการพัฒนา เพื่อนำมากำหนดเป้าหมายในการพัฒนาการท่องเที่ยวของแต่ละพื้นที่ร่วมกันและเกิดการบูรณาการการพัฒนาอย่างแท้จริง ได้แก่
1. พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง
2. พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง
3. พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมรดกโลกสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร
4. พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเลย
5. พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองเก่าน่าน
6. พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองโบราณอู่ทองและพื้นที่เชื่อมโยง
7. พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
8. พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเชียงราย
9. พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนคุ้งบางกะเจ้า
5 นวัตกรรม การท่องเที่ยวยั่งยืน
จากบทความ นวัตกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศไทย ความท้าทายใหม่ในเวทีโลก โดย พิชญาภา ศิริรัตน์ นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ระบุว่า ถึงแม้ว่าปัจจุบันการท่องเที่ยวไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ดี แต่ยังเหลือโอกาสอีกมากหากจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มีการใช้จ่ายเทียบเท่ากับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เล็งเห็นโอกาสการผลักดันให้การท่องเที่ยวเติบโต โดยเฉพาะการเพิ่มนวัตกรรมเข้าไปให้การท่องเที่ยว ด้วยการดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาช่วยยกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมถึงเป็นการท่องเที่ยวสีเขียว หรือการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism)
ตามแผนดำเนินงานภายใต้ “โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน ประจำปี 2567” (City & Community Innovation Challenge 2024) ในหัวข้อ “นวัตกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” (Sustainable Tourism Innovation) ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 5 หัวข้อย่อย ได้ดังนี้
1. นวัตกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (Wellness Tourism Innovation)
Wellness Tourism หรือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ คือ การท่องเที่ยวที่มีจุดมุ่งหมายส่งเสริมสุขภาพที่ดีอย่างมีคุณภาพ ผ่านกิจกรรมหรือบริการที่สอดคล้องกับสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจ ภายใต้พื้นฐานของความยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและวัฒนธรรม
ตัวอย่างการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น การนวดสมุนไพร การฝึกโยคะ บำบัดจิตใจ นั่งสมาธิปฏิบัติธรรม การบริการ สุวคนธบำบัด (Aroma Therapy) หรือการบริการวารีบำบัด (Water Therapy) การท่องเที่ยวเชิงบำบัดรักษาสุขภาพ (Health Healing Tourism) การตรวจร่างกาย การรักษาโรค ทันตกรรม การผ่าตัดเสริมความงาม หรือการผ่าตัดแปลงเพศ เป็นต้น
2. นวัตกรรมการเที่ยวเชิงประสบการณ์อย่างสร้างสรรค์ (Local Experiential Tourism Innovation)
UNESCO ให้คำนิยามการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ไว้ว่า “เป็นการท่องเที่ยวที่มีเป้าหมายสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาชุมชนและการพัฒนาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง โดยชุมชนจะจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างกลมกลืน และสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน ในมิติของการเรียนรู้ การทดลองปฏิบัติ และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชน
นอกจากนั้น ชุมชนจะต้องสามารถใช้การจัดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือในการรักษาความสมดุลระหว่างการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวภายในชุมชน และผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับทั้งในรูปแบบที่เป็นผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน”
3. นวัตกรรมความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว (Safe and Secure Tourism Innovation)
องค์กรด้านการท่องเที่ยวโลก ได้ระบุถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ที่ต้องพิจารณาจากความเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้นได้จาก 4 แหล่งด้วยกัน ได้แก่
- จากการกระทำของมนุษย์และสภาพแวดล้อมภายนอกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การกระทำผิดที่นักท่องเที่ยวตกเป็นผู้เสียหาย เช่น การลักขโมย การล้วงกระเป๋า การจู่โจมทำร้ายร่างกาย การฉ้อโกง เป็นต้น
- จากภาคการท่องเที่ยวและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ความบกพร่องทางด้านมาตรฐานความปลอดภัย เช่น ก่อให้เกิดเพลิงไหม้จากความผิดพลาดของการก่อสร้าง การหยุดประท้วง เป็นต้น
- จากนักท่องเที่ยวที่สร้างปัญหาความไม่ปลอดภัยให้กับตนเอง เช่น การทำกิจกรรมที่โลดโผนและเสี่ยงอันตรายเกินไป เป็นต้น
- ความไม่ปลอดภัยที่เกิดจากความเสี่ยงทางกายภาพและสภาวะแวดล้อม เช่น พืชและสัตว์ที่เป็นอันตราย ไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อในเขตภูมิภาคนั้น เป็นต้น
4. นวัตกรรมการท่องเที่ยวด้านอาหารและวัตถุดิบท้องถิ่น (Gastronomic and local ingredients Tourism Innovation)
หนังสือนิตยสารออนไลน์ “National Geographic” ได้ระบุว่า การท่องเที่ยวเชิงอาหารมีคุณค่ามากกว่าแค่การดื่มกินเมนูดังตามแหล่งท่องเที่ยว แต่ครอบคลุมถึงการผลิต เช่น การเยี่ยมชมแหล่งผลิต ณ ท้องถิ่น ไปจนถึงหลังการบริโภค เช่น การผลิตสินค้าที่ระลึกเพิ่มมูลค่า หรือแม้แต่การจัดการเศษอาหารเหลือทิ้ง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์หลากหลายที่เกี่ยวเนื่องจากอาหาร โดย 4 เสาหลักของการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ได้แก่
- Farming System – การเดินทางเริ่มต้นจากแหล่งกำเนิดอาหาร
- Story of Food – คุณค่าของเรื่องราวเบื้องหลังที่ทำให้เห็นคุณค่าของอาหาร
- Creative Industries - อุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับอาหารได้ทั้งสิ้น เพราะการนำเสนออาหารเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์
- Sustainable Tourism - ผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนฐานของการท่องเที่ยว อนุรักษ์ ส่งเสริมเรื่องราวของอาหารท้องถิ่น
5. นวัตกรรมการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมและความบันเทิง (Cultural and Entertainment Tourism Innovation)
โดยรวมแล้วจะหมายถึง การท่องเที่ยวเพื่อชมสิ่งที่แสดงถึงความเป็นวัฒนธรรมประเพณี วิถีการดําเนินชีวิต รวมถึงเพื่อเข้ารับชมศิลปะทุกแขนง และสิ่งต่าง ๆ ที่แสดงถึงความเจริญ รุ่งเรือง การดําเนินชีวิตของบุคคลในแต่ละยุคสมัย หรือการเข้าร่วมกิจกรรมที่เน้นศิลปวัฒนธรรมประเพณีอย่างมีความตั้งใจ
รวมถึงการท่องเที่ยวไปยังสถานที่ ย่านบันเทิง หรือแหล่งบันเทิงอื่น เช่น ยิมมวยไทย สวนสัตว์ สวนสนุก สวนสาธารณะ/สวนสาธารณะลักษณะพิเศษ พิพิธภัณฑ์เฉพาะทาง แหล่งท่องเที่ยวเพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์/อุตสาหกรรม/เทคโนโลยี บาร์และร้านอาหารสร้างความบันเทิงในท้องถิ่น เป็นต้น