'อนุชา' ชู ข้าวอินทรีย์บานบัว จ.พะเยา ยกระดับชีวิตเกษตรกร
‘อนุชา’ ดึงอัตลักษณ์ ‘ข้าวอินทรีย์บ้านบัว’ จ.พะเยา เพิ่มมูลค่าตรงความต้องการผู้บริโภค เล็งส่งเสริมทำปศุสัตว์ ตามชัยนาทโมเดล สร้างรายได้ แค่3 ปี ด้วยการผลิตวัวต้นน้ำ ที่กินหญ้าเป็นอาหาร ประหยัดต้นทุนการผลิต ควบคู่กับการทำนา
นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ในโอกาสตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนบ้านดอกบัว ต.บ้านตุ่น อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา และโรงสีข้าวบ้านบัว พร้อมมอบเครื่องแพ็คข้าวสูญญากาศให้กับสมาชิก ว่า
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายในการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนด้วยการผลิตข้าวอินทรีย์ และมีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวและรายได้ของเกษตรกร โดยส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ เพื่อบริหารจัดการข้าวตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งการผลิตข้าวอินทรีย์ถือได้ว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าข้าว และเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับพี่น้องเกษตรกร รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการผลิต การบริโภคภายในประเทศ เสริมให้เป็นรากฐานเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็งตามหลักการของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้การแปรรูปข้าวอินทรีย์ของชุมชนบ้านบัว ที่ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิตให้สมาชิกและชุมชน เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนยังเป็นการสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ มีตลาดรองรับ สร้างรายได้ให้กับสมาชิกได้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
อีกทั้งยังได้เน้นย้ำให้สมาชิกได้มีอาชีพเสริม มีรายได้เพิ่ม โดยยกแนวคิดชัยนาทโมเดล ซึ่งมีเป้าหมายให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่เพาะปลูกพืช ให้หันมาทำปศุสัตว์ เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างรายได้ ใช้เวลาเพียง 3 ปี ด้วยการผลิตวัวต้นน้ำ ที่กินหญ้าเป็นอาหาร จึงประหยัดต้นทุนการผลิต สามารถเลี้ยงเป็นอาชีพหลัก หรือ ควบคู่กับการทำนาสร้างรายได้
“ขอชื่นชมชุมชนบ้านดอกบัว ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งผลิตข้าวอินทรีย์คุณภาพดี มีคุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง และมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งสมาชิกในชุมชนยังสืบสานต่อยอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการจักรสาน เพื่อเพิ่มรายได้ในช่วงที่เว้นจากการทำนา โดยผลผลิตสำคัญ ได้แก่ ข้าวอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์จักรสานเข่ง และสุ่มไก่ ผักปลอดสารพิษ การเลี้ยงไก่อินทรีย์ และการใช้พลังงานทดแทนโดยการใช้เตาชีวมวล นอกจากนี้ ชุมชนยังได้มีการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่ดีให้กับพื้นที่อื่น ๆ ได้นำแนวคิดไปต่อยอด เพื่อขยายพื้นที่การผลิตเพิ่มขึ้น ให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดและผู้บริโภค”
อย่างไรก็ตาม การผลิตข้าวอินทรีย์ในจังหวัดพะเยาประสบปัญหาหลายด้าน อาทิ ผลผลิตต่อไร่ต่ำ เนื่องจากขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดี สภาพดินเสื่อมโทรม และการพัฒนาชาวนาเพื่อให้มีความรู้และความสามารถในด้านการผลิตและการจัดการอย่างจริงจัง
ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพะเยา กรมการข้าว จึงได้เข้ามาส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์ ซึ่งได้มีการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ จำนวน 5 กลุ่ม เกษตรกร 83 ราย พื้นที่การปลูกข้าวอินทรีย์ทั้งหมด 515.75 ไร่ แบ่งเป็น ข้าวพันธุ์ กข6 จำนวน 107.25 ไร่ ข้าวพันธุ์ กข15 จำนวน 261.50 ไร่ ข้าวพันธุ์ขาวดอก มะลิ105 จำนวน 141 ไร่ และข้าวพันธุ์อื่น ๆ จำนวน 6 ไร่