เปิดเอไอสุดล้ำของ ‘ปตท.’ เครื่องมือขับเคลื่อนองค์กรเติบโต - ยั่งยืน
ส่อง 5 เทคโนโลยีเอไอของ “ปตท.” ตัวช่วยช่วงเปลี่ยนผ่านธุรกิจน้ำมันสู่ธุรกิจใหม่ พร้อมขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายความยั่งยืน
นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ “AI-driven Sustainability for Thailand: AI ปรับ เปลี่ยน และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน” ภายในงาน “AI Revolution 2024: Transforming Thailand Economy” จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2567 ว่า แม้ว่า ปตท.จะเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจพลังงานเป็นหลักแต่ปัจจุบันธุรกิจ oil and gas เองกำลังอยู่ในช่วงขาลงของการเปลี่ยนผ่าน ภายในช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้า ที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น จากปัจจุบันที่ไทยพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน และก๊าซเป็นหลักอาจเปลี่ยนเป็นการใช้พลังงานอื่นๆ เช่น ไฮโดรเจน
บริษัทจึงมีแนวโน้มขยายพอร์ตการลงทุนไปสู่กลุ่มธุรกิจใหม่มากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันกลุ่มธุรกิจใหม่มีสัดส่วนราว 30% ของพอร์ต ประกอบไปด้วย ธุรกิจด้านพลังงานแห่งอนาคต อาทิ พลังงานหมุนเวียน แบตเตอรี่อีโคซิสเต็ม รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และธุรกิจนอกเหนือไปจากนั้น อาทิ ธุรกิจไลฟ์สไตล์ ธุรกิจด้านสุขภาพ
ขณะเดียวกัน เทรนด์โลกในปัจจุบันกำลังขับเคลื่อนประเด็นเรื่องของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกธุรกิจต้องให้ความสำคัญ ไม่อย่างนั้นจะเป็นตัวกระตุ้นให้ธุรกิจมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น ซึ่งประเทศไทยเอง ตั้งเป้าว่าจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวภายในปี 2065 ขณะที่บริษัทต่างชาติตั้งเป้าว่าจะบรรลุเป้าหมายเน็ตซีโร่ ภายในปี 2050
ทั้งนี้ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยต่อยอดให้กับธุรกิจรวมทั้งตอบโจทย์การบรรลุเป้าหมายเน็ตซีโร่ โดย ปตท.มีการใช้เทคโนโลยีเอไอ 5 ด้าน ประกอบด้วย
1.Power Tech ใช้เอไอในการพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตร่วมกับพันธมิตร
2.Health Tech การพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลประมวลผลด้านการรักษาอย่างตรงจุด และพัฒนาเฮลท์แคร์ทั้งระบบ
3.Mobility Tech เกี่ยวกับอีโคซิสเต็มของรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และซัพพลายเชนของแบตเตอรี่
4.Industrial Tech พัฒนาเครื่องจักร Machine Learning รวมทั้งการพยากรณ์การซ่อมบำรุง
5.Creative Tech ใช้ระบบ AR และ VR ประมวลผล และมอเตอร์ อาทิ ท่อส่งน้ำมัน และก๊าซในทะเล
นอกจากนี้ ปตท.ยังมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็น Generative-AI เพื่อใช้งานภายในกลุ่มบริษัทแล้ว อาทิ ABDUL (อับดุล) ถามอะไรตอบได้ รวบรวมดาต้าภายในองค์กรเพื่อใช้สืบค้นข้อมูลวิจัยในอดีต และประมวลผลคำแนะนำ และ OLof (โอลอฟ) ใช้ประมวลผลการประชุม สรุปสาระสำคัญ และแปลงผลเป็นรายงาน
"วันนี้เราทำธุรกิจโดยใช้เอไอเข้ามาช่วย สิ่งสำคัญคือ เอไอไม่ใช่สิ่งที่ต้องรับมือแต่ต้องใช้ตัวช่วยที่สร้างคุณค่าให้ธุรกิจ และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบสู่โลกยุคใหม่ รวมทั้งผลักดันให้องค์กรเดินไปสู่เป้าหมายความยั่งยืน นอกจากนี้การเอไออาจไม่ได้เป็นเพียงการมุ่งสร้างประโยชน์สูงสุด แต่ต้องใช้อย่างมีจรรยาบรรณ และจริยธรรมด้วย"
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์