'เมทเธียร์' ดึง AI ทำงานร่วมกับ 'คน' ยกระดับ Smart Facility Management
'เมทเธียร์' ดึงเทคโนโลยี AI ทำงานร่วมกับ 'คน' เปลี่ยนจาก Facility Management สู่ Smart Facility Management พัฒนา MIOC รักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง พร้อม หุ่นยนต์ทำความสะอาดพื้นที่ได้ด้วยตัวเอง ระบบ Smart Meter ตอบโจทย์ ESG ในองค์กร
KEY
POINTS
- 'เมทเธียร์' ดึง เทคโนโลยี AI ที่ดีที่สุดในการให้บริการ ทำงานร่วมกับ 'คน' เปลี่ยนจาก Facility Management สู่ Smart Facility Management
- พัฒนา AI INTRUSION DETECTION ใช้ AI ดูแลเรื่องความปลอดภัย 24 ชั่วโมง มอนิเตอร์ร่วมกับ พนักงานรักษาความปลอดภัย แบบเรียลไทม์
- นำ AOTONOMOUS METTBOT หุ่นยนต์ทำความสะอาดพื้นที่ได้ด้วยตัวเอง ทำงานร่วมกับแม่บ้าน เก็บดาต้า พัฒนาการให้บริการ พร้อมนำเทคโนโลยีตอบโจทย์ ESG ภาคธุรกิจ
บริษัท เมทเธียร์ จำกัด ภายใต้ SKY Group มีพนักงาน 8,000 คน ผู้ให้บริการ Smart Facility Management ด้วยวิชั่นที่อยากจะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น ขณะเดียวกัน ไทยยังขาดแคลน AI ที่จะเข้าไปพัฒนาทุกภาคส่วน หลายคนใช้ AI ในธุรกิจ และหลายคนยังไม่ได้นำเข้ามาใช้
“ขยล ตันติชาติวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมทเธียร์ จำกัด กล่าวในช่วงบรรยายพิเศษ Showcase การนำนวัตกรรม AI มาใช้ประโยชน์ในโลกธุรกิจ ภายในงาน AI REVOLUTION 2024: TRANSFORMING THAILAND ECONOMY จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ โดยระบุว่า “เมทเธียร์” เชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยดีขึ้นได้ จำเป็นจะต้องนำ AI เข้าไปสู่ภาคธุรกิจทุกเซกเตอร์ สิ่งที่เราทำคือ การค้นหา AI ที่ดีที่สุดในการให้บริการ เปลี่ยนจาก Facility Management สู่ Smart Facility Management
รักษาความปลอดภัย แบบเรียลไทม์
ทั้งนี้ เมทเธียร์ ได้นำระบบ METTHIER INTELLIGENT OPERATION CENTER (MIOC) บริการ 24 ชั่วโมง เป็นการรวม AI - IoT Integration มาไว้ด้วยกัน นำมาซึ่งดาต้า โดยเริ่มต้นให้บริการนำ MIOC ดูแลเรื่องความปลอดภัย เรียกว่า AI INTRUSION DETECTION เช่น ที่ Plan B สำนักงานใหญ่ ทำให้การบริการง่ายขึ้น โดยใช้ 3D Digital Scan สแกนด้วยเวลาอันรวดเร็วทั้งตึก ภายในระยะเวลาอันสั้นสามารถมอนิเตอร์ความปลอดภัยได้แบบเรียลไทม์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 'เมทเธียร์' บริหารคนต่างเจน ชูหลักคิด 'Empathy & Honesty'
- เปิดตัว 'Metthier' เอไอดูแลอสังหาฯ ครอบคลุมหาที่จอดรถ-รปภ.-แม่บ้าน
- สกาย กรุ๊ป ส่ง เมทเธียร์ ลุยภารกิจใหญ่ Smart Facility Management
การให้บริการที่ไทยทุกบริการ ทุกภาคธุรกิจ ถูกดำเนินการด้วย รปภ. เพียงไม่กี่คนที่อยู่ในห้องคอนโทรล ซึ่งอาจจะมีหน้าจอไม่กี่หน้าจอ และมีมอนิเตอร์เล็กๆ ที่ไม่สามารถดู CCTV ได้หลายร้อยตัว สิ่งที่เราทำคือ ใช้ซอฟต์แวร์ AI ตรวจจับได้ว่ามีคนเดินผ่าน มีใบหน้าที่ตรงหรือไม่ตรง อาจจะเป็นผู้ร้าย หรือถูกแบล็กลิสต์ห้ามไม่ให้เข้ามา สิ่งเหล่านี้ถูกบันทึกลงใน 3D Digital map ประสานงานร่วมกันกับพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งเรามีให้บริการกว่า 3-4 พันคนทั่วประเทศ
สิ่งที่เราอยากจะเปลี่ยนแปลงจริงๆ คือ ใช้ระบบขับเคลื่อนไปพร้อมกับคน เมื่อศูนย์ MIOC ตรวจจับได้ และแจ้งเตือนไปยังศูนย์สั่งการ พนักงานหนึ่งคนจะดูวิดีโอว่าแมชกับคนในองค์กรหรือไม่ และตอนนี้ ประเทศไทยเริ่มมีการจัดเก็บดาต้าแบล็กลิสต์ที่ถูกเก็บไว้กับภาครัฐ และสิ่งที่ภาครัฐคือ ให้เอกชนเชื่อมต่อข้อมูลกับกองปราบเพื่อให้มีการจับผู้ร้ายได้ เพื่อความปลอดภัยของภาคธุรกิจ
หุ่นยนต์ทำความสะอาด
นอกจากนี้ เมทเธียร์ ยังได้นำ AOTONOMOUS METTBOT หุ่นยนต์ทำความสะอาดพื้นที่ได้ด้วยตัวเอง โดยมี Radar Scan พื้นที่โดยรอบ 2 รอบ สร้างเป็น 3D Map และปฏิบัติหน้าที่ตามพื้นที่ ที่วางไว้ ที่ผ่านมา หุ่นยนต์ดังกล่าวถูกนำไปใช้งาน อาทิ ศูนย์ราชการ คิง เพาเวอร์ และสุวรรณภูมิ
"สิ่งที่เราทำคือ ใช้แม่บ้านพัฒนาร่วมกัน แม่บ้านอายุ 55 ปี สามารถสั่งการหุ่นยนต์ได้ ประเทศไทยเรากำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่แม่บ้านสามารถทำงานร่วมกับ AI ได้แล้ว โดยการกดปุ่มให้หุ่นยนต์ทำความสะอาดด้วยตัวเอง สิ้นวันผู้ว่าจ้างที่ใช้บริการเมทเธียร์จะได้รับดาต้า รวบรวม และพัฒนาเป็น AI ในองค์กร พอดาต้าเพิ่มขึ้นเราจะรู้ว่า จำเป็นหรือไม่ที่ต้องทำความสะอาดทั้งวัน หรือทำวันละครั้งก็พอ"
"การใช้หุ่นยนต์ทั่วไปอาจจะเป็นเรื่องปกติที่อยู่บนโลกใบนี้ แต่การรวบรวมดาต้า และพัฒนาการทำงานของมันต่างหากที่จะต้องเกิดขึ้น"
เทคโนโลยี ตอบโจทย์ ESG
ปัจจุบัน สังคมพูดถึงเรื่องของ ESG พลังงานที่ถูกใช้ไป มีใครที่บอกได้ว่ามันลดลงอย่างไร ตอบโจทย์ตลาดหลักทรัพย์ได้หรือไม่ ว่าบริษัทของคุณทำ ESG ได้อย่างถูกต้อง หลายบริษัทตกในส่วนนี้ สิ่งที่เราค้นพบ คือ หากเราสามารถเป็นองค์กรเล็กๆ ในการขับเคลื่อนองค์กรใหญ่ๆ ในมุม ESG ได้ มันจะขับเคลื่อนประเทศไทยขนาดไหน
“เราทำงานร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรม โดยการติดตั้ง Smart Meter ประเมินค่าไฟแต่ละเดือน แต่ละวัน และตั้ง KPI ได้ว่าควรจะใช้เท่าไร นั่นจะเป็นที่ของ ESG ในองค์กรชั้นนำขณะนี้ ร่วมถึงการทำ Net Zero หลายองค์กรเริ่มติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป (Solar rooftop) และ EV Charger แต่ความจริงแล้วมันแทบจะไม่ได้นำมาใช้ซึ่งกันและกัน
หลายองค์กรติดโซลาร์รูฟท็อป ดูเหมือนจะประหยัดไฟแต่นำพลังงานที่ได้เข้าสู่ส่วนกลาง กระจายกันออกทั้งตึก สิ่งที่เกิดขึ้นเราไม่รู้ว่าประหยัดพลังงานได้มากน้อยแค่ไหน เพราะยังเปิดแอร์ เปิดไฟ สิ่งที่เราทำคือ เราลองนำโซลาร์รูฟท็อป ไปรวมกับ EV Charger ภายในอาคาร ตอบโจทย์ Net Zero ได้ทันทีในเรื่องของ ESG
“เมทเธียร์ จะเป็นส่วนหนึ่ง องค์กรฟันเฟืองเล็กๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจในประเทศไทย และประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าอย่างแน่นอน” ขยล กล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์