'สภาพัฒน์' เร่งแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 พลิกโฉมประเทศไทยเข้ายุค 'ความยั่งยืน'
อนาคตของประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนนั้นต้องมีความร่วมมือในหลายภาคส่วนจากภาครัฐ และเอกชนการวางแผน และลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญสู่การเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืน
ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในงาน Climate Action Leaders Forum #3 หัวข้อ ทิศทางพัฒนาประเทศไทย และการพัฒนาที่ยั่งยืน ว่าการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย และโลกในรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นส่วนหนึ่งของการลดก๊าซเรือนกระจก และสอดรับกับรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คน การปรับรูปแบบธุรกิจสู่ธุรกิจสีเขียว และพัฒนา “กระบวนความคิดของคนไทย” ให้เห็นว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน และครอบคลุมเป็นเรื่องจำเป็น เตรียมพร้อมกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ อย่างการกำหนดเป้าหมายของธุรกิจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร มาตรการปรับคาร์บอนก่อน เข้าพรมแดนของ EU (CBAM) มุ่งสู่ การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และทั่วถึง นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ทั้งนี้ยังมีแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่สามารถพลิกโฉมประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และครอบคลุมควบคู่กับภาคเศรษฐกิจ สังคมการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน และใช้กลไกของ BCG เพื่อความยั่งยืนมากขึ้น และให้ความสำคัญดังนี้ 1. ภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย 2.โอกาส และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม 3.ความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 4. ปัจจัยการผลิตพลิกโฉมประเทศ
ซึ่งในปัจจุบันยังมีโอกาสในการลดคาร์บอนอย่างการปลูกป่าชุมชน และโอกาสในการสร้างคาร์บอนเครดิต พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 เป็นกฎหมายรับรองการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชน พ.ศ.2566 มีป่าชุมชนที่จัดตั้งแล้วมากกว่า 12,000 แห่ง ทั่วประเทศสามารถรักษาพื้นที่ป่าได้กว่า 6.6 ล้านไร่ สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 6.27 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี
รวมถึงแนวโน้ม Renewable Energy นโยบายด้านพลังงาน (National Energy Plan : NEP) วางเป้าหมาย สนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยคาร์บอน สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 ดังนี้ 1.เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วน RE ไม่น้อยกว่า 50% 2. ปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขุนส่ง พลังงานไฟฟ้าสีเขียว
ผ่าน EV ตามนโยบาย 30@30 3. รับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน มากกว่า 30 4. ปรับโครงสร้างกิจการพลังงาน รองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ตามแนวทาง 4D1E
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Green Tourism เป็น Trend ด้านการสร้างการท่องเที่ยว ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรในวงกว้าง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
และมีการใช้เทคโนโลยีดักจับ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) เป็นกระบวนการในจัดเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งในภาคอุตสาหกรรม และนำมากักเก็บไว้ในชั้นหินใต้ดินโดยคาร์บอนไม่ปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบนเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอน 700,000-1,000,000 ตัน อีกด้วย
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา/รองประธานคณะกรรมาธิการ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน กล่าวใน หัวข้อ Thailand's Way Forward ว่า การละลายของน้ำแข็งทำให้น้ำทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น และอุณหภูมิน้ำสูงขึ้น อุณหภูมิโดยรวมของโลกจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี รวมถึงการเผาป่า และการเกิดไฟป่าภายในประเทศ และบริเวณประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ภูมิอากาศร้อนขึ้น และเกิดมลภาวะ PM 2.5 ซึ่งสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน
ทั้งนี้ไฟป่าที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากมนุษย์ทั้งสิ้น แต่ลำดับการดูแลไฟป่าในไทยดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับจากการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้น้ำแข็งที่ละลายในมหาสมุทรขั้วโลกใต้ และเกาะกรีนแลนด์จะทิ้งน้ำหนัก ทำให้เกิดน้ำมหาศาลในมหาสมุทรทำให้เกิดน้ำทะเลหนุนสูงถาวร ซึ่งก๊าซมีเทน มีเทนมีศักยภาพมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ 23 เท่าในการสร้างความเสียหายให้กับชั้นบรรยากาศ และโลกรวมถึงการละลายของน้ำแข็ง
การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นต้องให้ความสำคัญกับทะเลหรือมหาสมุทรซึ่งพื้นที่ 7 ใน10 ของโลกคือ มหาสมุทร ถ้าทะเลไม่มี แพลงก์ตอนจะไม่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนได้ โดย 70% ของออกซิเจนที่ใช้หายใจคือผลิตโดยมหาสมุทรทั้งสิ้น
ถ้าไม่มีการตระหนัก และการใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมถึงความร่วมมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และประชาชนจะไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนได้