‘บราซิล - ฝรั่งเศส’ ระดมเงิน 11,000 ล้านดอลลาร์พิทักษ์ ‘ป่าแอมะซอน’

‘บราซิล - ฝรั่งเศส’ ระดมเงิน 11,000 ล้านดอลลาร์พิทักษ์ ‘ป่าแอมะซอน’

บราซิล และฝรั่งเศสเปิดตัวโครงการลงทุนเพื่อปกป้อง “ป่าฝนแอมะซอน” ในพื้นที่บราซิล และกายอานา โดยจะเปิดเป็นกองทุนรัฐบาล และเอกชน มูลค่า 11,000 ล้านดอลลาร์ ภายใน 4 ปีข้างหน้า

KEY

POINTS

  • บราซิลและฝรั่งเศสเปิดตัวโครงการลงทุนเพื่อปกป้อง “ป่าฝนแอมะซอน” มูลค่า 11,000 ล้านดอลลาร์ ภายใน 4 ปีข้างหน้า พร้อมตั้งเป้าลดการตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2573
  • การเยือนบราซิลในครั้งนี้ ถือเป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศส และบราซิล หลังจากที่ความขัดแย้งกันในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมในปี 2562 ในสมัยที่ ฌาอีร์ โบลโซนาโร เป็ประธานาธิบดีของบราซิล จากปัญหาไฟป่ารุนแรงในป่าแอมะซอน
  • หลังจากที่ ลูลาเข้ามาเป็นประธานาธิบดี สามารถลดการตัดไม้ในป่าแอมะซอนลงได้ถึง 50% ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงยังส่งผลให้ป่าแอมะซอนคงอยู่ในสถานะวิกฤติ

บราซิล และฝรั่งเศสเปิดตัวโครงการลงทุนเพื่อปกป้อง “ป่าฝนแอมะซอน” ในพื้นที่บราซิล และกายอานา โดยจะเปิดเป็นกองทุนรัฐบาล และเอกชน มูลค่า 11,000 ล้านดอลลาร์ ภายใน 4 ปีข้างหน้า

การประกาศดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา ระหว่างที่ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เยือนประเทศอเมริกาใต้เป็นเวลา 3 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่ มาครงเดินทางถึงเมืองเบเลมพื้นที่ใกล้ปากแม่น้ำแอมะซอน และเข้าพบกับประธานาธิบดี ลุยซ์ อินาชิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิล

“พวกเรา บราซิล ฝรั่งเศส และกลุ่มประเทศในลุ่มน้ำแอมะซอน ร่วมกันตัดสินใจผนึกกำลัง เพื่อส่งเสริมแผนงานเพื่อการคุ้มครองป่าเขตร้อนระหว่างประเทศ” ส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ร่วม

กลุ่มประเทศดังกล่าวให้คำมั่นสัญญาว่าพวกเขาจะทำงานร่วมกันเพื่อหยุดการตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอนภายในปี 2573 เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยในปี 2568 บราซิลจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 30 หรือ COP30 ในเมืองเบเลน

“ประธานาธิบดีทั้งสองแสดงความมุ่งมั่นต่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการจัดการป่าเขตร้อนของโลกอย่างยั่งยืน พร้อมที่จะทำงานด้วยความทะเยอทะยาน รวมถึงพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน กลไกตลาด และการจ่ายเงินสำหรับบริการด้านสิ่งแวดล้อม” 

ลุยซ์ อินาชิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิล และเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส

ลุยซ์ อินาชิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิล และเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส
เครดิต: ทวิตเตอร์ @LulaOficial

ตั้งเป้า ไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า “แอมะซอน” ภายใน 2573

มาครง และ ลูลา นั่งเรือล่องแม่น้ำไปเยี่ยมชมโครงการพัฒนาโรงงานผลิตช็อกโกแลตอย่างยั่งยืนบนเกาะใกล้เบเลม พร้อมเข้าร่วมการประท้วงของกรีนพีซบราซิลเพื่อยกเลิกการพัฒนาแหล่งน้ำมันนอกชายฝั่งขนาดใหญ่ใกล้กับปากแม่น้ำแอมะซอน และพบปะกับผู้นำชนเผ่าพื้นเมือง

ในงานนี้ มาครงได้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ (Legion of Honor) ซึ่งเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์เกียรติยศสูงสุดของฝรั่งเศสให้แก่ เรานี เมทุกทีเร หัวหน้าชนเผ่าคายาโป (Kayapo) ชนพื้นเมืองของบราซิลและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับการต่อสู้เพื่อปกป้องป่าฝนแอมะซอน และเรียกร้องสิทธิของชนพื้นเมืองมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 โดยเขาร่วมทำการรณรงค์ร่วมกับ Sting วงดนตรีชื่อดัง 

โอกาสนี้ หัวหน้าเรานีได้ยื่นเอกสารคัดค้านโครงการ Ferrograo ซึ่งเป็นการสร้างทางรถไฟความยาว 1,000 กิโลเมตร แก่ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส เนื่องจากไม่มีการถามความเห็น และขอคำปรึกษาจากชนพื้นเมือง พร้อมขอให้ ลูลา ไม่อนุมัติเส้นทาง Ferrograo ที่จะลดต้นทุนธุรกิจการเกษตรสำหรับการขนส่งธัญพืชจากรัฐมาตูโกรซู ไปยังท่าเรือแม่น้ำแอมะซอน และออกสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว

การพบกันของประธานาธิบดีบราซิล (ซ้าย) หัวหน้าเผ่า (กลาง) และประธานาธิบดีฝรั่งเศส การพบกันของประธานาธิบดีบราซิล (ซ้าย) หัวหน้าเผ่า (กลาง) และประธานาธิบดีฝรั่งเศส
เครดิต: ทวิตเตอร์ @EmmanuelMacron

 

มาครง กล่าวว่า ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันต่อสู้กับการทำเหมืองที่ผิดกฎหมาย และจะนำเงินลงทุนทั้งหมดที่หาได้มาใช้เพื่อต่อสู้กับการบุกรุกพื้นที่ป่า

“สิ่งที่เราต้องการทำคือ การอนุรักษ์ สร้างความตระหนักรู้ เพิ่มร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ สร้างกลยุทธ์ที่สนับสนุนชนเผ่าพื้นเมือง และร่วมกันดำเนินการลงทุนในเศรษฐกิจชีวภาพเพื่อช่วยป่าแอมะซอนเพิ่มมากขึ้น” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าว

ขณะที่ประธานาธิบดีของบราซิล กล่าวว่า “เรามีความมุ่งมั่นที่จะลดการตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2573 เราไม่ได้ทำเพราะมีใครร้องขอ ไม่ใช่เพราะมีการประชุมใดๆ แต่เราตัดสินใจเองว่าจะต้องต่อสู้กับการตัดไม้ทำลายป่าด้วยความศรัทธาของพวกเรา” พร้อมให้คำมั่นต่อคำมั่นที่จะสานต่อการกำหนดเขตดินแดนของชนพื้นเมือง  และการสร้างเขตอนุรักษ์ป่าสงวน
 

ฟื้นความสัมพันธ์ “ฝรั่งเศส-บราซิล”

มาครงเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนแรกที่เยือนบราซิลในรอบ 11 ปี ก่อนหน้านี้ฝรั่งเศส และบราซิลเคยมีความขัดแย้งกันในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมในปี 2562 เมื่อครั้งที่ มาครง ได้สร้างแรงกดดันต่อ ฌาอีร์ โบลโซนาโร ประธานาธิบดีของบราซิลในขณะนั้น ให้แสดงความรับผิดชอบต่อนานาชาติ จากปัญหาไฟป่ารุนแรงในป่าแอมะซอน โดยโบลโซนาโร กล่าวหามาครง และประเทศกลุ่ม G7 ปฏิบัติต่อบราซิลเหมือนเป็นกับว่าเป็น “อาณานิคม

“หลังจากความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างฝรั่งเศส และบราซิลได้หยุดชะงักลงในช่วงที่โบลโซนาโรดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ตอนนี้เรากำลังอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคี และความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับบราซิล” ที่ปรึกษาประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าว

เอ็มมานูเอล มาครง เยือนบราซิล เอ็มมานูเอล มาครง เยือนบราซิล
เครดิต: ทวิตเตอร์ @EmmanuelMacron

 

“ป่าแอมะซอน” ป่าใหญ่ที่สุดในโลก

ป่าแอมะซอน” ป่าฝนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมพื้นที่ 6.9 ล้านตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 40% ของทวีปอเมริกาใต้ นับเป็นหนึ่งในระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด มีพืช และสัตว์ประมาณ 3 ล้านสายพันธุ์อาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้ รวมถึงชนพื้นเมืองกว่า 1 ล้านคน แต่การตัดไม้ทำลายป่าอย่างแพร่หลายกำลังสร้างผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยข้อมูลในปี 2565 ระบุว่าประมาณ 20% ป่าฝนแอมะซอนถูกทำลายจากการลักลอบตัดไม้ไปแล้ว และอีก 6% มีความเสื่อมโทรมอย่างมาก

ตามข้อมูลจากทั้งรัฐบาลบราซิล และ Imazon องค์กรที่ติดตามการทำลายป่า พบว่า ในสมัยที่ โบลโซนาโร เป็นประธานาธิบดีมีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากเขาไม่เชื่อในเรื่องภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

หลังจากที่ ลูลาเข้ามาเป็นประธานาธิบดี เขาให้คำมั่นที่จะยุติการตัดไม้ทำลายป่าให้เหลือศูนย์ภายในปี 2573 ซึ่งจนถึงปัจจุบันสถานการณ์การตัดไม้ทำลายป่าก็เป็นไปในทางที่ดีขึ้น โดยข้อมูลของสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติของบราซิล (ISPE) พบว่า พื้นที่การตัดไม้ในป่าแอมะซอนลดลง 50% ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565

แต่อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์การตัดไม้ทำลายป่ายังจะดีขึ้น แต่สภาพพื้นที่ป่าแอมะซอนยังคงอยู่ในสถานะวิกฤติ โดยการที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบว่าป่าแอมะซอนเกิดความเครียดอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง ยิ่งส่งผลให้เข้าใกล้จุดสูญเสียการควบคุมในช่วงกลางศตวรรษนี้


ที่มา: EarthEuro NewsReuters